ค่าประกันรถ EV vs. รถทั่วไป ทำไม…ขับรถไฟฟ้า ต้องจ่ายค่าเบี้ยสูงกว่า ?


ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รถ EV หรือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เรียกได้ว่ามีบทบาทสำคัญ และเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ สำหรับคนที่กำลังมองหารถสักคันเพื่อมาใช้งาน ด้วยความที่รถเหล่านั้น โดยเด่นด้วยเรื่องสมรรถนะการขับขี่ ให้อัตราเร่งที่ดีกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปในระดับราคาเดียวกัน โดยเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่ในขณะใช้งาน รวมถึงยังเป็นรถที่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่ำ เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปทั่วไป

รถราคาสูง เทคโนโลยีสูง ค่าใช้จ่ายในการทำประกันย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย

สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้มักจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ เวลาที่จะเลือกซื้อรถสักคัน นอกจากเรื่องสเป็คและรายละเอียดของตัวรถแล้ว ยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายส่วนควบ เช่น ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหรือเซอร์วิสเมื่อถึงระยะ รวมถึงค่าเบี้ยประกันภัยในแต่ละปี ในส่วนแรกนั้น เชื่อว่ามาถึงเวลานี้แล้ว หลายๆ ท่านคงจะพอเข้าใจแล้วว่า…ด้วยความที่เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ รถ EV นั้น มีชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ส่วนควบ น้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป หรือรถไฺฮบริดทั่วๆ ไป นั่นจึงทำให้ความวับซ้อนในการดูแลรักษา รวมถึงค่าใช้จ่ายใจการเซอร์วิส ต่ำกว่ารถยนต์ทั่วไปในระดับ 50% เมื่อเทียบกับการใช้งานในระยะเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กม. 

ส่วน ประกันภัยสำหรับรถ EV ที่หลายๆ คน บ่นว่า ค่าเบี้ยประกันภัย มีราคาสูงกว่ารถยนต์ทั่วๆ ไป ณ ปัจจุบัน ยังเป็นข้อเท็จจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ค่าประกันภัยสำหรับรถ EV จะสูงกว่ารถยนต์ทั่วๆ ไปอยู่ราว 20-40% ขึ้นอยู่กับประเภท, ราคาของตัวรถ รวมถึงบริษัทผู้รับทำประกันภัย เป็นที่มาของข้อสงสัยที่ว่า ทำไมรถ EV ที่มีชิ้นส่วนน้อยกว่า กลับมีค่าใช้จ่ายในการทำประกันภัยที่สูงกว่ารถยนต์ทั่วๆ ไป ? ซึ่งสามารถอธิบายให้พอเข้าใจได้ใน 2 เหตุผลหลักๆ ดังนี้

1.ปริมาณส่งผลราคา

ณ ปัจจุบัน แม้ว่ารถ EV จะมียอดการจดทะเบียนสูงขึ้นกว่าเดิมมาก แต่เมื่อเทียบอัตราส่วนกับรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปทั่วๆ ไปแล้ว % การจดทะเบียนของรถ EV นั้น ยังอยู่ในระดับต่ำ (ประมาณ 1x,xxx คัน) เป็นเหตุผลง่ายๆ ด้านปริมาณในลักษณะเดียวกับการซื้อขายของในจำนวนมาก – น้อย ซึ่งหากมีการซื้อในปริมาณมาก ผลิตได้ครั้งละมากๆ ต้นทุนในการผลิตแต่ละครั้งก็ย่อมต่ำกว่าการผลิตสินค้าในจำนวนน้อยๆ ที่มีต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่า ซึ่งหลักการคำนวน ค่าเบี้ยประกันภัยของรถ EV ก็เช่นเดียวกัน โดยหากเทียบไปแล้ว อัตราส่วนระหว่างการจดทะเบียนของรถยนต์ทัวๆ ไป เมื่อเทียบกับรถ EV แล้ว จะอยู่ที่ราว 1:800 คัน หากลองคำนวนเล่นๆ จากอัตราส่วนดังกล่าวว่า 50% ของรถยนต์ทั่วไป เลือกที่จะทำประกันชั้น 1 ในราคา 10,000 บาท บริษัทประกับภัยจะไปเงินทุนไปเพื่อบริหารความเสี่ยงถึง 4,000,000 บาท ในขณะเดียวกัน หากรถไฟฟ้า 1 คันนั้น เลือกที่จะทำประกันภัยชั้น 1 เช่นเดียวกัน ที่ราคาเบี้ย 15,000 บาท บริษัทประกันภัย จะมีได้เงินสำหรับการบริหารความเสี่ยงเพียง 15,000 บาท เท่านั้น ซึ่งหากในอนาคต มีปริมาณการใช้รถ EV ที่มากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่เบี้ยประกันของรถ EV จะต่ำลงตามไปด้วย

แบตเตอรี่ ต้นทุนส่วนหลักๆ สำหรับรถ EV

2. ความเสี่ยงในลักษณะความเสียหาย

เราคงไม่เถียง หากจะบอกว่า อัตราส่วนในการเกิดอุบัติเหตุของทั้งรถยนต์ทั่วๆ ไป และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV นั้น แทบไม่ต่างกันเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งรถ EV ยังมีชิ้นส่วนที่ต้องเปลี่ยนหากมีการชำรุดเสียหายน้อยกว่า แต่อย่าลืมมองในทางกลับกันว่า ต้นทุนทางความเสียหาย หรือ Loss Ratio ในความเสียหาย 1 หน่วยนั้น ต้นทุนของชิ้นส่วนรถ EV กับรถทั่วไป มีมูลค่าที่แตกต่างกันค่อนข้างมากในระดับ 30-40% เช่น รถ EV ยุคดั้งเดิม ที่ไม่ได้ออกแบบแพลตฟอร์มมาเพื่อรองรับและป้องกันความเสียหายของชุดแพคแบตเตอรี่ หากเกิดการกระทบกระแทกจากด้านล่าง ทำให้ส่วนหนึ่งของแบตเตอรี่เกิดการชำรุด เสียหาย จนทำให้ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งลูกในราคา “ครึ่งหนึ่ง” ของตัวรถ ต่างกับรถยนต์ทั่วไปที่โอกาสความเสียหายต่อชิ้นส่วนคำคัญนั้นน้อยกว่ามาก แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยการออกแบบของรถ EV ยุคใหม่ อาจทำให้ต้องมีการประเมินราคาเบี้ยประกันภัยของรถ EV กันอีกครั้ง แต้วยความที่รถ EV ยุคนี้ มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม รวมถึงระบบรองรับ ชุดป้องกันแบตเตอรี่มาอย่างแน่นหนา นั่นจึงทำให้โอกาสการกระทบกระแทกจนเกิดความเสียหายนั้นน้อยลงมา

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เบี้ยประกันรถไฟฟ้า มีราคาสูง คือ การครอบคลุมอุปกรณ์ส่วนควบอื่นๆ เช่น จุดชาร์จในบ้าน

นอกจาก 2 เหตุผลในด้านบนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้ราคาเบี้ยประกันภัยสำหรับรถ EV มีราคาสูงกว่ารถยนต์ทั่วไป อยู่ที่เงื่อนไขการชดเชยค่าเสียหายที่ครอบคุลมมากกว่าลักษณะการใช้งานของรถทั่วไป เช่น การให้ความคุ้มครองอุปกรณ์สำหรับการชาร์จ ในกรณีที่เกิดการสูญหาย, เสียหาย หรือเพลิงไหม้ รวมถึงบริการในส่วนอื่นๆ เช่น รถยก และบริการช่วยเหลือต่างๆ

ในอนาคต…เราคงได้เห็น ประกันภัยสำหรับรถ EV โดยฉพาะ

เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการจ่าย ค่าเบี้ยประกันรถ EV ในระดับที่ต่ำลง ณ ปัจจุบัน ทาง สํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ) หารือกับบริษัทผู้ให้ประกันภัย พร้อมลงความเห็นในแนวทางเดียวกันว่า ให้ทางบริษัทประกันภัย จัดทำเอกสารแนบท้าย กำหนดทางเลือกเฉพาะกรณีแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ได้รับความเสียหาย และต้องมีการเปลี่ยนแบบยกชุดเท่านั้น (กรณีใช้วิธีการซ่อม บริษัทรับผิดชอบทั้งหมด) โดยให้มีทางเลือก 3 กรณี ให้ผู้เอาประกันภัยเลือกข้อใดข้อหนึ่ง และบริษัทจะให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัย 10-25% ดังนี้

  1.  จำกัดจำนวนเงินความคุ้มครองของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัทจะให้ความคุ้มครองไม่ต่ำไปกว่า 50% ของมูลค่าแบตเตอรี่
  2.  กำหนดความรับผิดชอบส่วนแรก โดยจะระบุไม่เกิน 15% ของมูลค่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
  3.  Copayment กำหนดให้ผู้เอาประกันภัย ต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายร่วมไม่เกิน 15%
ทั้งนี้ทั้งนั้น…นี่เป็นเพียงนโยบายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ทำประกันภัยรถ EV ในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งในอนาคตหากมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น อาจมีจำเป็นจะต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ EV โดยเฉพาะ ซึ่งต้องจัดทำพิกัดอัตรา เบี้ยประกันภัยรถ EV เพื่อให้ความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยสอดคล้องกับความเสี่ยงและต้นทุนในการรับประกันภัย เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

Related posts

Bentley ยัน…เลิกใช้เครื่องยนต์ W12 เตรียมหันมาเอาดีกับขุมพลัง Ultra Performance Hybrid

Mugen Honda Civic Type R ปล่อยชุดแต่ง Group A จัดเต็มทั้งความหล่อและสมรรถนะที่เหนือชั้นยิ่งขึ้น

Porsche Taycan 2024 ยกระดับประสิทธิภาพสมบูรณ์แบบครบครันในทุกมิติ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา เรียนรู้เพิ่มเติม