LOTUS Evija พิกัด 2,000 แรงม้า ว่าที่ ‘EV hypercar’ แรงที่สุดในโลก!!!


LOTUS เป็นผู้ผลิตรถสปอร์ตแบรนด์เก่าแก่จากเกาะอังกฤษ มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 71 ปี ทั้งบนถนนและในสนามแข่ง แม้ระยะหลังจะดูเงียบเหงาไปบ้าง เพราะขาดรถโมเดลใหม่ๆ มาคอบเติมเต็มช่วยสร้างสีสัน ทว่าช่วงปลายปี 2019 ค่ายนี้ได้ปล่อยหมัดเด็ด ด้วยรถระดับไฮเปอร์คาร์ ในชื่อ ‘Evija’ (อ่านว่า E-vi-ya) อันหมายถึง “สิ่งสำคัญสูงสุดแห่งการดำรงอยู่” โดยมันถูกระบุว่า the world’s first pure electric British hypercar. เลยทีเดียว

จุดขายของ Evija อยู่ที่ความเป็น ‘EV hypercar’ ซึ่งต้นสังกัดจัดเต็มความแรงมาให้ในระดับ 2,000 PS เคลมอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เร็วกว่า 3 วิ. ความเร็วปลายทะลุ 320 กม./ชม. แบตเต็มมีพิสัยเดินทางไกลราว 400 กิโลเมตร มาพร้อมน้ำหนักตัว 1,680 กิโลกรัม จัดว่าเบาเอาเรื่องหากเทียบกับบรรดารถไฟฟ้าด้วยกัน เพราะใช้โครงสร้างแบบโมโนค็อก ที่ขึ้นรูปโครงสร้างมาจาก Ultra-lightweight Carbon Fibre โดยโครงสร้างทั้งชิ้นของ Evija มีน้ำหนักอยู่ที่เพียง 129 กิโลกรัม ซึ่งแน่นอนว่าเป็น know-how ที่ส่งตรงมาจากสนามแข่ง

ตำแหน่งวางกลางลำ ซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่ของเครื่องยนต์ (Mid-engine) ถูกแทนที่ด้วยชุดแบตเตอรี่ (Mid-mounted Battery Pack) เมื่ออุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมากที่สุดในรถ ชุดแบตเตอรี่ถูกวางไว้ตรงกลางตัวถังในระดับต่ำ ส่งผลให้จุดศูนย์ถ่วง หรือ C.G. ของรถอยู่ในระดับต่ำสุดๆ ส่งผลโดยตรงกับประสิทธิภาพการทรงตัว โดยเฉพาะการวิ่งหาท็อปสปีดในทางตรง รวมทั้งให้การบังคับควบคุมที่คมกริบ ขณะ Evija เข้าโค้งด้วยความเร็วสูง

ทั้งเรื่องดีไซน์และแอร์โร่ไดนามิคบนตัวถัง งานวิศวกรรมขั้นเทพ และงานประกอบระดับ Hand-built at LOTUS ทำในโรงงาน ณ ฮีเทล (Hethel) ในนอร์โฟล์ค ซึ่งเดิมถูกใช้เป็นฐานทัพทหารอากาศแห่งสหราชอาณาจักร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลายเป็นบ้านของ LOTUS นับตั้งแต่ปี 1966 ที่นี่จึงประกอบไปด้วยสำนักงานใหญ่, โรงประกอบ และสนามทดสอบ รวมทั้ง Lotus Driving Academy ที่ใช้สร้างนักแข่งระดับคุณภาพ ป้อนสู่วงการมอเตอร์สปอร์ต

ในขั้นตอน R&D ต้นสังกัดใช้รหัส ‘Type 130’ ก่อนการมาของชื่อ Evija ดีไซน์ได้อิทธิพลทางการออกแบบจากตัวแข่งเลอมังค์ ในส่วนของแอร์โร่ไดนามิค ทีมวิศวกรลงรายละเอียดการไหลของอากาศผ่านตัวถังขณะ Evija ใช้ความเร็วสูง ทั้งบนตัวถัง ใต้ท้องรถ และด้านข้าง ผลงานที่ปรากฎคือตัวถัง Evija ที่เต็มไปด้วยช่องทางการไหลของอากาศขนาดมหึมา เพื่อแปรเปลี่ยนลมขณะไหลผ่านตัวถังไปเป็น Downforce ไล่เรียงตั้งแต่ท่อนหน้ารถ แนวข้าง และช่องรับลมในส่วนท้ายรถ โดยช่องรับลมก่อนแนวซุ้มล้อหลัง ถูกออกแบบให้เป็น Venturi Tunnel หรือ ‘คอคอด’ ซึ่งจะบังคับ พร้อมทั้งเพิ่มความเร็วของมวลลม เพื่อไประบายออกที่บริเวณท้ายรถทั้ง 2 ฝั่ง

ในส่วนของชุดขับเคลื่อน ถูกเรียกว่า ‘4 E-motors’ ผลงานของพันธมิตรนาม Williams Advanced Engineering (WAE) ที่ออกแบบมอเตอร์ไฟฟ้าให้ทั้ง Formula 1 และ Formula E ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมเกียร์แบบ Single-speed (Planetary Gearbox) สำหรับขับเคลื่อนแต่ละล้อโดยตรง โดยมอเตอร์แต่ละตัวมีกำลัง 500 PS รวม 4 ล้อ ให้กำลังขับเคลื่อนมหาศาลถึง 2,000 PS พร้อมแรงบิดสูงสุดรวม 1,700 Nm โดยแรงบิดจาก ‘4 E-motors’ จะทำงานร่วมกับ Torque Vectoring ซึ่งรับหน้าที่คอนโทรลความสมดุลการส่งถ่ายแรงขับเคลื่อน ขณะรถใช้ความเร็วในโค้ง

ชุดแบตเตอรี่ของ Evija มีความจุ 70 kWh กำลังขับ 2,000 kW เมื่อชาร์จด้วยกำลังไฟ 800 kW แบตเต็มได้ภายในเวลา 9 นาที (World’s fastest charging battery.) หากชาร์จด้วยกำลังไฟ 350 kW ได้แบตเต็ม 80% ในเวลา 12 นาที และใช้ 18 นาที สำหรับการชาร์จเต็ม 100%

EV hypercar นาม Evija จึงนับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของค่าย ที่จะกลายเป็นรถสะสมต่อไปในอนาคต เพราะ LOTUS จำกัดการผลิตไว้ที่เพียง 130 คัน พร้อมเริ่มต้นเปิดไลน์การผลิตในปี 2020 นี้แล้ว

 

ติดตามข่าวสารขับซ่าได้  ที่นี่
ชมรายการขับซ่า34 ย้อนหลังได้  ที่นี่


Related posts

นิสสันเปิดตัวรถยนต์ต้นแบบ “NEV” สี่รุ่น มีรถยนต์ไฟฟ้า EVs 2 รุ่น และ ปลั๊กอินไฮบริด 2 รุ่น ในงาน BEIJING MOTOR SHOW

Mini Aceman ครอสโอเวอร์ EV น้องใหม่ อยากสนุกก็ได้ อยากใช้งานก็พอดีมือ

Honda เปิดตัว e:NP2 และ e:NS2 ครอสโอเวอร์ EV ในงาน Beijing Auto Show 2024

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา เรียนรู้เพิ่มเติม