อาการเหินน้ำ (Hydroplane) ภัยเงียบแห่งท้องถนน ขับรถหน้าฝน…อย่าประมาท !!!


เข้าสู่ช่วงหน้าฝนแบบเต็มตัว  วิถีการใช้ชีวิตของผู้คนก็ย่อมต้องเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย เฉกเช่นพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ควรต้องตระหนักถึงความปลอดภัย ทั้งต่อตัวเอง รวมถึงเพื่อนร่วมทาง หลายๆ ครั้งเราพบการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งมาจากสภาพพื้นที่เปียกลื่น จนก่อให้เกิดความเสียหายทั้งกับชีวิตและทรัพย์สิน แน่นอนว่า เรื่องอุบัติเหตุนั้น คือ สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด ในบางครั้งเราก็มิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งที่เราพึงกระทำก็คือ การลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนต่างหาก

 

เร็วเท่านี้แค่เหินน้ำ เร็วกว่านี้…คงเหินฟ้าแน่ๆ

อุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม แต่เป็นเพราะการกระทำของสิ่งที่เรียกว่า “ขาดประสิทธิภาพการยึดเกาะ”

หนึ่งในภัยเงียบที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ภายใต้สภาพถนนที่เปียกลื่น คงหนีไม่พ้น อาการเหินน้ำ หรือ Hydroplane โดยช่วงหน้าฝนในทุกๆ ปี เรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเสียหลักของรถที่ขับขี่ด้วยความเร็วสูงในขณะที่ฝนตก หรือมีน้ำท่วมขังบนถนน ซึ่งหลายๆ คนมักเข้าใจว่า สาเหตุเกิดมาจากยางขาดประสิทธิภาพในการยึดเกาะ จะว่าผิดก็คงไม่ใช่ แต่ก็ไม่เชิงว่าจะถูกต้อง ครบถ้วนทั้งหมด เนื่องจากคำว่า ขาดประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนน มันมีที่มาที่ไป และองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่น ต่อให้ยางมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะที่ต่ำ แต่คุณเลือกที่จะใช้ความเร็วที่เหมาะสม เทียบกับยางที่มีประสิทธิภาพในการยึดเกาะสูง แต่ใช้ความเร็วแบบเกินลิมิต โอกาสการเกิดข้อผิดพลาดของการใช้งานหรือขับขี่ด้วยความประมาทก็ย่อมมีมากกว่า ก่อนอื่นเราต้องรู้ที่มาที่ไปก่อนว่า สิ่งที่เรามักเข้าใจว่า “ไม่เกาะถนน” ที่มีสาเหตุมาจาก อาการเหินน้ำ หรือ Hydroplane นั้น สาเหตุมันเกิดจากอะไร และมีวิธีการในการหลีกเลี่ยงอย่างไร

ยิ่งเร็ว ยิ่งเหิน ยิ่งเสียอาการได้ง่าย

ทำไมรถจึงมี อาการเหินน้ำ หรือ Hydroplane 

สำหรับการขับรถ โดยปกติแล้ว สิ่งเดียวที่สัมผัสกับพื้นถนนก็คือ ยาง โดยยางแต่ละรุ่น แต่ละรูปแบบ ก็จะออกแบบ เนื้อยาง โครงสร้าง รวมถึงดอกยาง มาในลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งการขับรถในสภาพถนนแห้ง เนื้อยางจะเป็นตัวที่สัมผัสกับพื้นถนนโดยตรง นั่นทำให้ยางมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะที่สูงในระดับปกติ ตามที่ยางแต่ละชนิดออกแบบมา แต่…หากเป็นการขับขี่ในสภาพถนนเปียก จะมีชั้นของน้ำเสมือนชั้นฟิล์ม มาเป็นแปรตัวที่แทรกกลางระหว่าง หน้าสัมผัสของยาง กับ พื้นถนน ซึ่งยิ่งระดับน้ำมีความหนามากขึ้นเท่าไหร่ บวกกับการใช้ความเร็วที่สูงขึ้น ก็ยิ่งจะเพิ่มโอกาสที่จะเกิด อาการเหินน้ำ หรือ Hydroplane ที่ทำให้การควบคุมทิศทางของรถยาก และมีความเสี่ยงที่รถจะเสียอาการมากขึ้นเท่านั้น ลองนึกภาพเล่นๆ หากคุณเกิดเร็วพอที่จะทันเป็นเด็กในยุค 80-90 คุณคงเคยเล่นปาแผ่นกระเบื้องให้แฉลบบนผืนน้ำ ยิ่งปาด้วยความเร็วเท่าไหร่ กระเบื้องก็จะยิ่งแฉลบผืนน้ำ ได้มากครั้งเท่านั้น จนในท้ายที่สุดเมื่อความเร็วเหลือน้อย แผ่นกระเบื้องก็จะค่อยๆ จมลง ในหลักการเดียวกัน หากคุณขับรถด้วย ความเร็วที่พอเหมาะ*** โอกาสที่จะเกิด อาการเหินน้ำ หรือ Hydroplane ก็ต่ำลง เฉกเช่นกระเบื้องที่จมลงสู่ท้องน้ำ แต่หากใช้ความเร็วสูงขึ้น (จนเกินลิมิต) ต่อให้เป็นรถหนักๆ ก็สามารถลอยเคว้งไม่ต่างจากกระเบื้องบนผืนน้ำฉันท์ใดฉันท์นั้น

ลุยฝนแบบนี้…ยางมีดอกเท่านั้นที่คู่ควร

จุดประสงค์ของดอกยาง ไม่ได้อยู่ที่การยึดเกาะ แต่หากอยู่ที่…ความสามารถในการรีดน้ำ

หากเราพูดถึง ดอกยาง สิ่งที่หลายๆ ท่านยังมีความเข้าใจที่ผิดก็คือ สิ่งนี้มีไว้เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการยึดเกาะพื้นถนน แต่…เคยสังเกตไหมว่าเวลาเราดูรถแข่งรายการระดับโลก (F1, MotoGP, Super GT, DTM ใช้ยางสลิค ซึ่งไม่มีดอกยาง ด้วยกันทั้งสิ้น) รถเหล่านั้นเลือกใช้ยางสลิค ซึ่งเป็นยางมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะสูง ทั้งๆ ที่ยางเหล่านั้น ไม่มีดอกเสียด้วยซ้ำ นั่นจึงหมายความว่า ความเข้าใจแบบเดิมๆ นี้ อาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในทางกลับกัน เมื่อต้องแข่งขันในขณะที่ฝนตก รถแข่งเหล่านั้นกลับเลือกใส่ยางที่มีดอกลงมาหวดกันในสนาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ดอกยาง คือ หัวใจสำคัญในการรีดน้ำ เพื่อลดการเกิดชั้นฟิล์มระหว่างพื้นแทร็กและยางให้ได้มากที่สุด ส่วนจะรีดน้ำได้มากน้อยขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กันการออกแบบทิศทางของร่องดอกยาง ส่วนหน้าที่การสร้างประสิทธิภาพในการยึกดเกาะ เป็นของเนื้อยาง ที่มีสูตรและส่วนผสมตามแต่ละรูปแบบการใช้งานต่างกันออกไป

การออกแบบร่อง และดีไซน์ของยางที่ต่างกัน ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการรีดน้ำ

ยางหน้ากว้างเท่ากัน แต่ด้วยประสิทธิภาพในการรีดน้ำที่ดีกว่า ทำให้หน้ายางสัมผัสกับพื้นถนนได้มากขึ้น

แบบไหนถึงเรียกว่า…ความเร็วที่พอเหมาะ***

คำว่า “ความเร็วที่พอเหมาะ” มันดูที่จะกว้างเกินที่จะจำกัดความให้สามารถเข้าใจได้แบบเป๊ะๆ เป็นปัญหาโลกแตกที่เสียเวลาเถียงกันทั้งวันก็ไม่จบ แต่หากจะอธิบายให้พอเห็นภาพในที่นี้ก็คือ ยางแต่ละแบรนด์ แต่ละประเภท แต่ละรุ่น ล้วนออกแบบมาให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป อย่าลืมว่า…ในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่เพอร์เฟ็คท์ 100% ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนมีข้อดี – ข้อเสีย ยางก็เช่นกัน ในแต่ละรุ่น จะออกแบบมาให้มีประสิทธิภาพในการรีดน้ำที่แตกต่างกัน ซึ่งนั่นส่งผลต่อสิ่งที่เรียกว่า ความเร็วที่พอเหมาะ เช่น ยางรุ่นหนึ่ง มีคุณสมบัติในการรีดน้ำสูงสุด 30 ลิตร/วินาที ก็ย่อมจะใช้ความเร็วในการวิ่งผ่านน้ำได้อย่างปลอดภัยสูงกว่ายางที่มีคุณสมบัติในการรีดน้ำ 20 ลิตร/วินาที ในเงื่อนไขเดียวกัน ซึ่งก็แน่นอนว่า สิ่งที่ตามมาเมื่อยางเส้นนั้นๆ ถูกใช้งานไปจนประสิทธิภาพสูงสุดลดลง ความสามารถในการรีดน้ำ ก็จะด้อยลงกว่าที่เคยทำได้ตามไปด้วย ดังนั้น…คำจำกัดความที่ว่า ความเร็วที่พอเหมาะ อาจต้องพิจารณาจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ระดับของน้ำ, ประสิทธิภาพของยาง, การสึกหรอของยาง, ขีดความสามารถและระบบช่วยการทรงตัวของตัวรถ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ประสบการณ์ของตัวผู้ขับขี่ และสติยั้งคิด ซึ่งมีผลมากที่สุดสำหรับการขับขี่อย่างปลอดภัย

ตัวอย่าง คำแนะนำในการใช้งานจากผู้ผลิต แม้จะเป็นยางสมรรถนะสูง แต่…ไม่เหมาะกับการใช้งานบนนถนนเปียก

ยางสมรรถนะสูง ราคาแพง ไม่เสมอไปว่าจะรีดน้ำได้ดี !!!

บางคนอาจคิดว่า การเลือกใช้ยางเทพๆ สเป็คสูงๆ ราคาแพงๆ มีโอกาสที่จะช่วยลด อาการเหินน้ำ หรือ Hydroplane อันที่จริงแล้ว ความเข้าใจนี้…กลับเป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์ อย่างที่ได้กล่าวไปในย่อหน้าก่อน ยางแต่ละรูปแบบย่อมมีคุณสมบัติและจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ยางบางชนิดเกาะถนนได้ดีในสภาพถนนแห้ง แต่กลับทำได้ไม่ดีนักเมื่อต้องเจอถนนเปียก ยิ่งเมื่อรวมกับหน้ายางที่มีความกว้าง (กว่ายางทั่วๆ ไป) ก็ยิ่งส่งให้ % ที่จะเกิด อาการเหินน้ำ (Hydroplane) หรือเสียอาการได้ง่ายขึ้น (ด้วยหน้ายางที่กว้าง โอกาสการถูกหน่วงจากแรงต้านของน้ำก็มีมากขึ้น) ในขณะเดียวกัน ยางเกรดบ้านๆ ทั่วๆ ไป อาจจะเน้นออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานในสภาพเส้นทางที่มีความหลากหลายมากกว่า สามารถขับขี่ในสภาวะที่เปียกก็ได้…แห้งก็ดีได้อย่างสมดุล ซึ่งตรงนี้ผู้ผลิตยางแบรนด์ชั้นนำ มักจะเน้นย้ำในรายละเอียดให้ผู้ใช้ได้ศึกษาในคู่มือ นี่คือ เหตุผลสนับสนุนว่า เราจึงควรศึกษาคู่มือ หรือหาข้อมูลทุกครั้ง ในการจะเลือกของสักอย่างมาใช้ เพื่อที่จะได้เลือกให้ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งานของเรามากที่สุด

ตั้งสติให้มั่น ประคองพวงมาลัยให้นิ่ง ที่สำคัญ…เลือกใช้ความเร็วอย่างเหมาะสม

สิ่งที่ต้องทำเมื่อต้องขับรถผ่านน้ำ หรือรถมีอาการเหินน้ำ 

สำหรับการขับขี่ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ การหลีกเลี่ยงการขับรถผ่านน้ำ คงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่สิ่งที่เราทำได้คือ ก่อนเดินทางควรตรวจสอบภาพยางว่าอยู่ในคอนดิชั่นที่พร้อมใช้ ความลึกดอกยางอยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื้อยางยังนิ่ม ไม่แข็งจนเกินไป, ขับรถด้วยความไม่ประมาท ใช้ความเร็วไม่สูงจนกำหนด หากหลีกเลี่ยงได้ ไม่ควรขับรถลงในแอ่งน้ำ โดยเฉพาะการขับลงไปด้วยล้อข้างเดียว ซึ่งอาจควบคุมรถได้ยากกว่า หรืออาจเกิดการแฉลบได้ง่าย โดยหากตัวรถมีระบบช่วยในการทรงตัวต่างๆ ก็ควรจะเปิดไว้เพื่อแบ่งเบาภาระในการขับขี่ รวมถึงลดความเสี่ยงที่ตัวรถจะเสียอาการเมื่อต้องขับผ่านน้ำ ซึ่งเมื่อต้องขับผ่านน้ำ ควรถือพวงมาลัยให้มั่นคง ไม่หักเลี้ยวหรือเปลี่ยนทิศทางไปมา ควบคุมความเร็วอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากต้องการลดความเร็ว ไม่ควรลดอย่างเฉียบพลัน ให้ใช้วิธีการยกคันเร่ง หรือค่อยๆ แตะแป้นเบรกเพื่อชะลอก่อนที่จะลงแหล่งน้ำ เพื่อรักษาความเร็วให้เหมาะสมสำหรับการวิ่งผ่านน้ำได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิด อาการเหินน้ำ หรือ Hydroplane

ทุกอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากผู้ขับขี่เป็นสำคัญ…อย่าโทษรถ !!!

พึงระลึกเสมอว่า ทุกอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากรถเป็นต้นเหตุ แต่เกิดจากผู้ที่ควบคุมรถเป็นสำคัญ ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน มันคงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องที่เราจะมานั่งโทษรถ ก่อนที่จะมานั่งคิดทบทวนว่า ในสถานการณ์นั้นๆ เราประเมินสภาพแวดล้อม ใช้ความเร็วได้อย่างเหมาะสม หรือมีความสามารถในการควบคุมเพียงพอแล้วหรือยัง ซึ่งหากยังไม่เพียงพอ มันมีทางเลือกที่เราจะลดความเร็วให้ต่ำลง หรือไม่ไหวจริงๆ ก็ควรหาจุดแวะพักเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเพื่อนร่วมทาง เหมือนกับหลายๆ ข่าวการเกิดอุบัติเหตุที่เราได้เห็นกันในหน้าจอทีวีหรือแม้แต่โลกโซเชียล…มาขับรถด้วยความไม่ประมาทกันเถอะครับ

ขอขอบคุณคลิปจาก Consumer Report, Michelin


Related posts

#ทีมขับซ่า บุกโรงงาน MG ! ทั้งผลิตตัวถัง งานสี ประกอบ และทำแพคแบตเตอรี่ EV ที่เดียว…จัดให้ครบๆ

Bentley ยัน…เลิกใช้เครื่องยนต์ W12 เตรียมหันมาเอาดีกับขุมพลัง Ultra Performance Hybrid

Mugen Honda Civic Type R ปล่อยชุดแต่ง Group A จัดเต็มทั้งความหล่อและสมรรถนะที่เหนือชั้นยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา เรียนรู้เพิ่มเติม