ได้ฤกษ์เปิดตัว PORSCHE 911 Turbo S แรงสุด!!! ในสายการผลิต 911 [992]


ในที่สุด 911 Turbo S รหัสโมเดลล่าสุด ‘992’ ก็ถูกส่งลงถนนอย่างเป็นทางการ ทั้งตัวถัง Coupe และ Cabriolet เดิมที PORSCHE มีกำหนดเปิดตัวในงาน 90th Geneva International Motor Show (GIMS) ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่…เมื่องานต้องยกเลิกกะทันหัน ทางต้นสังกัดปรับแผนเร่งด่วนพร้อมเปิดตัว Flagship ของตระกูล 911 ในรูปแบบ LIVE Steaming เช่นเดียวกับรถใหม่จากผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ยุโรปอีกหลายค่าย ที่รอเปิดตัวในงานนี้เช่นเดียวกัน

911 Turbo S [992] ยังคงมาพร้อมระบบ Active Aerodynamics System ประกอบด้วย Lip Spoiler และ Rear Spoiler ทำงานสัมพันธ์กับความเร็วที่ใช้โดยอัตโนมัติ

ไฮไลท์ใน 911 Turbo S โมเดลปี 2020 เริ่มต้นที่พละกำลังจาก 580 PS [991.2] ถูกอัพเกรดไปเป็น 650 PS ที่ 6,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดจาก 750 Nm ขยับเพิ่มไปเป็น 800 Nm ที่ 2,500-4,000 รอบ/นาที ทั้งหมดกำเนิดจากเครื่องยนต์ Boxer 6 สูบ ความจุ 3.8 ลิตร (3,745 ซีซี) ใช้ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง DFI (Direct Fuel Injection) มาพร้อม Bi-turbo ที่จะลำเรียงอากาศเข้าห้องเผาไหม้ แบบฝั่งใครฝั่งมัน (ซ้าย-ขวา) หัวใจในส่วนของระบบอัดอากาศ อยู่ที่การใช้เทอร์โบแปรผัน (VTG Turbo; Variable Turbine Geometry Turbo) ในโมเดลปี 2020 ส่วนที่วิศวกรโมเพิ่มเติม ได้แก่ การออกแบบท่อลม เพื่อไปเป่าระบายความร้อนให้ระบบหล่อเย็นใหม่หมด, การขยายขนาด VTG Turbo ฝั่งเทอร์ไบน์เส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ขึ้น 5 มิลลิเมตร ขณะที่ฝั่งคอมเพรสเซอร์ใหญ่ขึ้น 3 มิลลิเมตร ปิดท้ายด้วย Wastegate Flaps เพิ่มความแม่นยำในการควบคุมแรงดันของเทอร์โบด้วย Stepper Motors ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การตอบสนองที่รวดเร็ว, แรงม้าและแรงบิดที่เพิ่มขึ้น, ลดมลพิษลง ปิดท้ายด้วยรอบเครื่องที่จัดจ้านมากยิ่งขึ้น

จากโคมไฟหน้า Full-LED Headlight ถูกอัพเกรดมาเป็น LED Matrix Headlight (84-pixel System) พร้อมระบบปรับทิศทางลำแสงไฟ PDLS Plus

911 Turbo S [992] ใช้เกียร์คลัตช์คู่ PDK 8 สปีด ลูกใหม่ (ใช้ครั้งแรกกับ 992 Carrera) ที่ออกแบบอัตราทดให้สอดรับกับแรงบิดที่เพิ่มขึ้นได้สมดุล อัตราทดเกียร์นอกจากเน้นความลื่นไหลในการเพิ่มความเร็ว วิศวกรยังคาดหวังในเรื่องลดรอบการทำงานของเครื่องยนต์ในช่วงใช้ความเร็วเดินทางไกล ซึ่งส่วนนี้จะช่วยในเรื่องความประหยัดโดยตรง เกียร์คลัตช์คู่โดดเด่นเรื่องความนุ่มนวล และความฉับไวในการเปลี่ยนอัตราทด จากการสลับกันทำงานของคลัตช์ทั้ง 2 ชุด พร้อมทั้งขั้นตอนที่เรียกว่า Pre-selection หรือการเลือกตำแหน่งเกียร์เอาไว้ล่วงหน้า จากนั้นจึงส่งแรงม้าและแรงบิดต่อไปให้ระบบขับเคลื่อน AWD ที่ค่ายนี้ใช้ชื่อ ‘PTM’ (Porsche Traction Management) ซึ่งควบคุมการทำงานจากสมองกลที่ชาญฉลาด และช่วยเรื่องประหยัดได้มากขึ้น จากขบวนการจัดสรรแรงขับเคลื่อนอย่างเหมาะสมตามสภาพการขับขี่

ระบบ Rear Axle Steering เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ถูกส่งต่อมาใน 911 Turbo S [992] ทำหน้าที่ “บังคับเลี้ยวล้อคู่หลัง เพิ่มเติมจากล้อคู่หน้า” ทำงานแตกต่างกันตามความเร็ว ที่ความเร็วต่ำกว่า 50 กม./ชม. ล้อหลังจะหักเลี้ยวสวนทางกับล้อหน้า เพื่อให้ได้รัศมีวงเลี้ยวที่สั้น เพิ่มความคล่องตัวโดยเฉพาะกับการใช้งานในเมือง ขณะที่ความเร็วสูงกว่า 80 กม./ชม. ล้อหลังจะถูกบังคับให้หักเลี้ยวทิศทางเดียวกับการหักเลี้ยวของล้อหน้า เพื่อรักษาสภาพหน้ายางให้ตั้งฉากกับผิวถนนมากที่สุด โดยการหักเลี้ยวของล้อหลังจะทำได้เพียง 2.8 องศา จากการบังคับของ Electro-Mechanical Actuators จำนวน 2 ชุด

911 Turbo S ติดตั้ง ‘PCCB’ หรือจานเบรกคาร์บอนเซรามิค มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ตัวคาลิเปอร์สีเหลือง ใช้จานเบรกคู่หน้า 420 มิลลิเมตร และคู่หลัง 390 มิลลิเมตร

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ 911 Turbo S [992] ได้รับการส่งต่อมาจาก 911 Turbo S [991] คือระบบ Active Aerodynamics System รับหน้าที่จัดการเรื่องแอร์โร่ไดนามิคโดยเฉพาะ ปะกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก Lip Spoiler บริเวณใต้กันชนหน้า ทำหน้าที่กั้นลมไม่ให้เข้าไปสะสมใต้ท้องรถ การทำงานของ Lip Spoiler ที่ใต้กันชนหน้าจะมี 3 ระดับ เช่นเดียวกับส่วนที่ 2 คือ Rear Spoiler ที่เหนือฝาประโปรงหลัง สปอยเลอร์ทั้ง 2 จุด จะทำงานสัมพันธ์กับความเร็วอัตโนมัติตามทฤษฎีอากาศพลศาสตร์ ระบบ Active Aerodynamics System จึงเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาบริหารจัดการทั้ง ‘แรงยก’ (Lift Force) และ ‘แรงกด’ (Down Force) ใช้ลมที่ไหลผ่านตัวถังให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ล้อต่างขนาด หน้า 20 นิ้ว พร้อมยาง 255/35 ZR20 หลัง 21 นิ้ว พร้อมยาง 315/30 ZR21

 

ช่างล่างปรับลดความสูงลง 10 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับโมเดลก่อนหน้า เน้นเสถียรภาพในการทำงาน และต้องเบา วิศวกร PORSCHE มุ่งมั่นลดน้ำหนักใต้สปริง เพื่อลดแรงเฉื่อยจากการเต้นของบรรดาแขนยึด ระบบเบรก ล้อและยาง ด้านหน้าใช้พื้นฐานของแม็กเฟอร์สันสตรัท ขณะที่ด้านหลังใช้มัลติลิงค์ มาพร้อมช็อคอัพไฟฟ้า (Electronically Controlled Dampers) ทำงานโดยการปรับระดับการเปิดของวาล์วที่กั้นอยู่ระหว่างห้องบรรจุของเหลวทั้ง 2 ห้องภายในช็อคอัพ ของเหลวดังกล่าวจะไหลไปมาระหว่างห้องทั้งสองผ่านวาล์วตัวนี้ (Bypass Valve) ซึ่งการปรับระดับจะเป็นหน้าที่ของระบบ PASM (Porsche Active Suspension Management)

สมรรถนะจากโรงงาน 911 Turbo S Coupe [992] ที่ให้ Sport Chrono Package มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เคลมอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 2.7 วินาที, อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. ใช้เวลา 8.9 วินาที และท็อปสปีดระดับ 330 กม./ชม. ขณะที่ค่า CO2 ต่ำเพียง 257 กรัม/กิโลเมตร พร้อมผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ Euro 6d-ISC-FCM สูงสุดเท่าที่บังคับใช้ในปัจจุบัน

********************************************************

ติดตามข่าวสารขับซ่าได้  ที่นี่
ชมรายการขับซ่า34 ย้อนหลังได้  ที่นี่ 


Related posts

เกีย เซลส์ (ประเทศไทย)” จัดงาน “Kia EV Playground” สนามเด็กเล่นแห่งแรกที่เกียชวนเด็กๆ มาเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาด พร้อมสัมผัส The Kia EV5 และ The Kia EV9

ผ้าเบรกเบ็นดิกซ์พาดีลเลอร์ เยือนสามอ่าวสเตเดียม ชมฟุตบอล ไทยลีก ลุ้นพีที ประจวบ เฉือนชนะสุโขทัย ได้สำเร็จ

วินฟาสต์ เดินหน้ารุกตลาดไทย พร้อมผลักดันความเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา เรียนรู้เพิ่มเติม