Home » เทียบสเปค Honda CR-V เจนฯ 6 กับรถ C-Segment SUV ในงบ 1.7 ล้านบาท คันไหน…ควรได้ไปต่อ ?

เทียบสเปค Honda CR-V เจนฯ 6 กับรถ C-Segment SUV ในงบ 1.7 ล้านบาท คันไหน…ควรได้ไปต่อ ?

by Admin clubza.tv
Honda CR-V เจนฯ 6 กับรถ C-Segment SUV

หลังจากที่ในครั้งก่อน #ทีมขับซ่า ได้เปรียบเทียบสเป็คของ Honda CR-V เจนเนอเรชั่นที่ 6 ทั้ง 5 รุ่นย่อย สิ่งที่เหมือนกัน รวมถึงความแตกต่างในแต่ละงบประมาณ เพื่อให้เห็นภาพ และสามารถตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้นแล้ว ในครั้งนี้ เราจะมาแตกรายละเอียดสู่รถในกลุ่ม C-Segment SUV โดยอิงราคาจาก Honda CR-V e:HEV RS ซึ่งเป็นรุ่นท็อปที่มีระดับราคาอยู่ที่ 1.7x ล้านบาท เทียบกับคู่แข่งในคลาสว่า ในเซ็กเม้นท์นี้ มีรถรุ่นไหนที่มีจุดเด่นในเรื่องใดบ้าง เพื่อเลือกให้ตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคล

Honda CR-V e:HEV RS

Haval H6 PHEV

Mazda CX-5

เริ่มต้นกันด้วย “รุ่นรถ” ในกลุ่ม C-Segment SUV อาจมีตัวเลือกให้เล่นไม่มากนัก เมื่อเทียบกับรุในกลุ่ม B-Segment SUV ซึ่งถือว่าเป็นตลาดหลักในบ้านเรา โดยบางค่ายไม่ได้ทำรถลงมาเล่นในตลาดกลุ่มงบ 1.7 ล้านบาท (เช่น Subaru Forester, MG HS PHEV) หรือบางค่ายอยู่ในช่วงปลายโมเดลและยากต่อการตัดสินใจซื้อ จนไม่ควรที่จะนำมาเปรียบเทียบ เมื่อตัดคู่แข่งที่ขาดความเป็นไปได้ออกไป จะเหลือเพียง 3 ผู้เล่นในกลุ่ม ซึ่งประกอบไปด้วย Honda CR-V e:HEV RS, Haval H6 PHEV และ Mazda CX-5 2.2 XDL (ซึ่งเป็นรุ่น “รองท็อป” ที่ราคาไม่ได้โดดจากกลุ่มจนเกินความน่าสนใจ) ในหัวข้อแรกนี้ หากเทียบมิติตัวถัง Haval แม้ว่าจะเปิดตัวในบ้านเรามาพักใหญ่ๆ (ตั้งแต่เวอร์ชั่นที่เป็น HEV) แต่ด้วยการออกแบบตัวถัง ที่เน้นเรื่องความสะดวกสบาย โอ่โถง ภายในห้องโดยสาร ทำให้ตัวรถ ยังคงเป็นรถที่มีระยะฐานล้อยาวที่สุดในคลาส เช่นเดียวกับมิติในภาพรวม (จะมีความยาวที่น้อยกว่า Honda CR-V e:HEV RS อยู่ 38 มม.) ส่วน Mazda CX-5 2.2 XDL ที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นรถในกลุ่ม C-Segment SUV ที่ดูกะทัดรัดมากที่สุด แต่ด้วยระยะฐานล้อที่ไม่ได้แตกต่างจาก Honda CR-V นั่นอาจหมายถึงพื้นที่ภายในห้องโดยสาร ไม่ได้จะจะได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก โดยสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะดับความสูงต่ำสุดจากพื้น งานนี้ทั้ง 2 ผู้เล่นจากฝั่งญี่ปุ่นดูจะได้เปรียบ เนื่องจาก Haval H6 PHEV ที่ต้องแปะชุดแพคแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ถึง 34 kWh ไว้ใต้ท้อง นั่นจึงส่งให้ตัวรถมีจุดที่ต่ำที่สุดน้อยกว่ารุ่นปกติในรูปแบบ HEV อยู่ราว 5 มม. เหลือเพียง 170 มม. เท่านั้น

ในตอนที่เปิดตัว Haval H6 PHEV ถือเป็นรถที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการรถในรูปแบบปลั๊กอินไฮบริดเมืองไทย (รวมถึงในระดับโลก) ด้วยความที่เคลมระยะทางการวิ่งด้วย EV Mode ไว้ไกลถึง 201 กม. (#ทีมขับซ่า ทดสอบจริงอยู่ที่ราว 160 กม. ต่อชาร์จ) ซึ่งระยะทางนี้ ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน 1-2 วัน โดยที่แทบจะไม่ต้องใช้น้ำมัน เนื่องจากระบบการขับเคลื่อน จะเน้นมอเตอร์เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน (ที่ความเร็วไม่เกิน 140 กม./ชม.) โดยรวมถือว่าสร้างความประทับใจให้กับทีมงานได้พอสมควร (ทดสอบก่อนที่จะเปิดราคาออกมา) พละกำลัง แรงม้า แรงบิด อาจไม่ได้สูงเวอร์เหมือนที่ตัวเลขเคลมไว้ แต่ในเรื่องความสนุก และสมรรถนะในการขับขี่ถือว่า “สอบผ่าน” ซึ่งในเรื่องกำลังและอัตราการตอบสนองของรถกลุ่มนี้ ดูจะไม่มีคันไหนที่ทำให้เกิดข้อสงสัย เรียกได้ว่า แต่ละคันนั้น มีจุดเด่นที่ชัดเจนแตกต่างกันไป เช่น Mazda CX-5 2.2 XDL ก็จะได้เปรียบในเรื่องแรงบิดสูงที่สุดในรอบต่ำ, Haval H6 PHEV ได้เปรียบเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อ กม. (หากมีการวางแผน หรือวิ่งแค่ในระยะทำการ ต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 0.55 บาท ต่อ กม.) ส่วน e:HEV ระบบที่ใช้การจับคู่มอเตอร์ไฟฟ้ากับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร นั้น ขึ้นชื่อในเรื่องความประหยัดและสมรรถนะในระดับที่น่าประทับใจมาหลายโมเดลแล้ว ซึ่งใน Honda CR-V e:HEV RS ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเช่นเดียวกัน  ความต่างที่ชัดเจนของทั้ง 3 รุ่น

มาอยู่ตรงเรื่องระบบขับเคลื่อน โดย Haval H6 PHEV เป็นเพียงคันเดียวที่ขับเคลื่อนด้วย 2 ล้อหน้า ส่วนรุ่นอื่นๆ ทั้ง Honda CR-V e:HEV RS และ Mazda CX-5 2.2 XDL มาในรูปแบบ All Wheel Drive ที่แน่นอนว่า หากเทียบในเรื่องสมรรถนะการขับขี่ ความมั่นคงและเสถียรภาพในการขับขี่ รวมถึงความหลากหลายในการใช้งาน…รถกลุ่มนี้ถือว่าได้เปรียบมาก เช่นเดียวกับเรื่องอัตราสิ้นเปลือง จากการทดลองแล้ว ทั้ง 2 รุ่น ในฝั่งญี่ปุ่น ดูมีความใกล้เคียงกับตัวเลขที่เคลมโดย Eco Sticker (ต่างกัน 2-3 กม./ลิตร ตามลักษณะการขับขี่) ส่วน Haval H6 PHEV เป็นรถที่มีความแปรผันในการคำนวนที่สูง เนื่องจากตัวรถใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าในการขับเคลื่อน โดยจากการทดสอบของ #ทีมขับซ่า ใน EV Mode อัตราการกินไฟจะอยู่ที่ 17.7 kW ต่อ 100 กม. แต่เมื่อใดก็ตาม ที่กำลังไฟลดลงมาต่ำกว่า 15% ตัวรถจะเข้าสู่การวิ่งในรูปแบบ Hybrid Mode ซึ่งมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอยุ่ที่ 14.5 กม./ลิตร (วิ่งด้วย EV Mode ใช้ไฟสูงสุดเพียง 85% หรือ 29 kWh ซึ่งเมื่อคำนวนจากอัตราสิ้นเปลือง 17.7 kW ต่อ 100 กม. จะได้ระยะทาง 163 กม. ซึ่งตรงกับระยะทางที่วิ่งได้จริงใน EV Mode)

เทียบกันด้วยออพชั่น สำหรับทั้ง 3 รุ่นนี้

เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างรถแบรนด์จีน ที่เน้น “ให้เยอะ” กับรถญี่ปุ่น ที่อาจจะให้น้อยกว่า แต่ได้ “ความละเอียด” เข้ามาแทนที่ ซึ่งข้อดีในการมาของ Honda CR-V e:HEV RS (รวมถึงรุ่นย่อยอื่นๆ) คือ การปรับรายละเอียดและความใส่ใจ ได้ทั้ง “ให้เยอะ และ งานละเอียด” ได้พร้อมๆ กัน ที่ผ่านมา เราแทบไม่เคยเห็น CR-V เจนฯ ไหนๆ ที่ให้หลังคาพาโนรามิคซันรูฟมาเกือบจะทุกรุ่นย่อย (แต่ในรุ่นนี้มีให้) รวมถึงออพชั่นหลักๆ อื่นๆ เช่น เบาะปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมดันหลัง, ฝาท้ายไฟฟ้า พร้อมระบบปิดอัตโนมัติ, ระบบป้องกันเสียงรบกวน ในทุกรุ่นย่อย เป็นต้น (ในขณะที่ Haval H6 PHEV ถึงแม้จะดูเป็นรถที่ให้ออพชั่นจัดเต็ม แต่ออพชั่นบางอย่าง เช่น เบาะนั่ง ยังคงปรับได้เพียง 6 ทิศทาง…อันนี้ คือ สิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดในการออกแบบ) ฝั่ง Mazda CX-5 2.2 XDL แม้จะให้เยอะไม่เท่าเพื่อนๆ แต่สิ่งที่ให้มาล้วนมีคุณภาพและให้สัมผัสที่ละเอียด เช่น ชุดเครื่องเสียง Bose, เบาะคนนั่งปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง รวมถึงเบาะหลังที่สามารถพับแยกได้ละเอียดแบบ 40 : 20 : 40

เทียบระบบความปลอดภัย ทั้ง 3 รู่น

มาพร้อมระบบ ADAS ช่วยเหลือการขับขี่ขั้นสูงเต็มรูปแบบเหมือนๆ กัน (แต่ Honda CR-V e:HEV RS ยังขาดระบบเตือนมุมอับสายตาแบบที่รถทั่วๆ ไปใช้กัน แต่กลับให้ถุงลมนิรภัยถึง 8 จุด ซึ่งมากกว่ารุ่นอื่นที่ให้เพียง 6 จุด) โดยฝั่ง Haval H6 PHEV มีการแยกระบบ เตือนป้ายจรจร (ซึ่งทำงานได้ดีและมีความแม่นยำมาก), ระบบเลี่ยงการเข้าใกล้รถใหญ่, ระบบช่วยจอดอัตโนมัติ 3 รูปแบบ, ระบบช่วยถอยหลังอัตโนมัติ ในหัวข้อนี้…ฟันธงกันยาก อยู่ที่ว่าความต้องการของผู้ใช้ จะอยากได้ระบบใดเป็นพิเศษ ซึ่งในภาพรวมถือว่าทั้ง 3 รุ่น โดยเฉพาะ Honda CR-V e:HEV RS และ Haval H6 PHEV ทำได้น่าสนใจในหัวข้อนี้

มองระดับราคาแล้ว…ไม่รู้จะสรุปอย่างไร

ที่คนอ่านจะไม่รู้สึกว่า “ออกนอกหน้า” เลย จริงๆ แล้ว จากที่ได้ทดลองขับมา Haval H6 PHEV ถือเป็นรถที่ทำได้ดีมาก โดยเฉพาะเรื่องสัมผัสในการขับขี่ การทำงานของระบบ ADAS ที่มีความละเอียด ระบบอ่านป้ายจราจรที่มีความแม่นยำ แบตเตอรี่ขนาดใหญ่และเหลือเฟือต่อการใช้งานสำหรับชีวิตประจำวัน โดยรวมหากพูดเรื่องตัวรถ คือ แทบไม่รู้จะหาข้อติตรงไหนมากมา แต่พอเจอราคาแล้ว…อาจต้องถอย ยิ่งถ้ามองในแง่ว่า เพิ่มอีก 3 หมื่นบาท แล้วได้ Honda CR-V e:HEV RS ตัวท็อป สมรรถนะเยี่ยม ประหยัดไว้เนื้อเชื่อใจได้ อุปกรณ์ครบ ระบบความปลอดภัยเพียบ จัดเต็มขนาดนี้ ต่อให้ไม่ใช่สาวก CR-V มาแต่ไหนแต่ไร ยังรู้สึก…ใจแกว่ง ส่วนฝั่ง Mazda CX-5 2.2 XDL ที่ความชั่วไม่ถึงกับมี ความดีไม่ได้รู้สึกเด่น กับราคาที่ต้องบวกเพิ่มจาก CR-V RS ไป 7 หมื่นบาท ดูน่าจะถึงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้าสู่วงโคจรของการแข่งขันอีกครั้งเสียแล้ว


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy