ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่อึดใจ ทาง Rever Automotive ได้จัดกิจกรรมให้สื่อมวลชนได้ร่วมสัมผัสสมรรถนะของพรีเมี่ยมซีดาน BYD Seal รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นที่ 3 ของค่ายที่ถูกส่งเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยเส้นทางกรุงเทพฯ – เขาใหญ่ ที่ใช้ในการทดสอบ เป็นเส้นทางที่เชื่อว่าหลายๆ ท่านมีความคุ้นเคย แต่เพิ่อเพิ่มรายละเอียดและความน่าตื่นเต้น (ปนเสียว) ในการเดินทางเล็กน้อย ทางค่าย BYD ได้วางกิมมิคด้วยระยะการเดินทางตลอดทริปเฉียด 400 กม. (ระยะทางจริง 395 กม.) เพื่อสื่อถึงความเป็นรถ EV ที่พร้อมรองรับการเดินทางได้ไกลแบบไม่ต้องแวะชาร์จ
บทความเเนะนำ
เจาะรายละเอียด BYD SEAL กับ 3 รุ่นย่อย พร้อมเปิดราคา คันไหนคุ้ม รุ่นไหนเหมาะกับใคร ?
3 รุ่นย่อยในไทย ครบไลน์อัพทั้ง ขับหลัง และ ขับสี่
การเดินทางในครั้งนี้ เรียกได้ว่ามี BYD Seal มาให้สื่อมวลชนได้ควบกันอย่างจุใจถึง 30 คัน ในทั้ง 3 รุ่นย่อย ซึ่งแต่ละสื่อจะได้ทดลองขับแบบครบๆ ทั้ง 3 รุ่น ไม่ว่าจะเป็น Dynamic, Premium รวมถึงรุ่นที่เรียกเสียฮือฮาได้มากที่สุด พร้อมได้รับการคาดหมายว่านี่คือ Model 3 Killer อย่าง BYD Seal ในรุ่นย่อย AWD Performance ที่มาพร้อมจุดเด่นด้วยระบบขับเคลื่อนแบบ All Wheel Drive และสามารถทำอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายใน 3.8 วินาที ซึ่งนี่…ถือเป็นตัวเลขที่ยืสื่อถึงมุมมองความเป็นซีดานสมรรถนะสูง แต่หากในความเป็นจริงแล้ว BYD Seal AWD Performance จะใกล้เคียงนิยามความเป็นรถสมรรถนะสูงมากน้อยขนาดไหน ติดตามได้ในย่อหน้าถัดไป !
แรงก่อนได้เปรียบ…เพราะสตาร์ทด้วยแบต 100%
ในวันที่ #ทีมขับซ่า เหมือนจะเป็นวันที่มือ (และดวง) ดูดีเลยทีเดียว เพราะทันทีที่เริ่มจับฉลากเพื่อเลือกรถ Mr. Pajingo จับได้รุ่น BYD Seal AWD Performance เป็นคันแรก นั่นหมายความว่า เป็นโอกาสของเราที่จะได้สัมผัสความแรงในระดับ 3.8 วินาที แบบไฟเต็ม 100% และไม่มีข้อจำกัดใดๆ มาเกี่ยวข้อง ซึ่งกว่าจะหาสถานที่ปิด ที่พร้อมรองรับความเร็วในระดับนี้ได้ เล่นเอาเราเหงื่อตก ต้องออกไปถึงชานเมืองเลยทีเดียว ความเร็วที่ใช้ขณะเดินทาง เราไปกันแบบเนิบๆ ซึ่งตัวรถให้การตอบสนองที่ดีตามระดับของพละกำลังกว่า 500 แรงม้า จากชุดขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์คู่ เรียกว่าเหลือๆ จนไม่รู้จะหาคำไหนมาสรรเสริญ สำหรับความเป็นรถที่เน้นใช้งานในรูปแบบ Street Used การขับขี่ที่ความเร็วปกติ โครงสร้าง e – Platform 3.0 แบบ Cell to Body ที่รวมเอาแพค Blade Battery เป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับพื้นรถ (แทนที่แบตเตอรี่แพคที่ถูกซุกเข้าไปในพื้นรถเหมือนเจนเนอเรชั่นก่อน) รวมถึงชุดช่วงล่าง Semi Active ในชื่อ Frequency Selective Damping ที่ปรับการตอบสนองตามสภาพพื้นผิวจราจร ถือว่าเก็บอาการของตัวรถและให้การตอบสนองที่ค่อนข้างน่าประทับใจ ควบคุมได้อย่างแม่นยำ โดยยังคงความนุ่มนวล และสัมผัสในการโดยสารที่สะดวกสบายตามสไตล์ของตัวรถ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงต้องยกเครดิตให้กับประสิทธิภาพการกระจายกำลังในการขับเคลื่อน ที่เฉลี่ยแรงแต่ละล้ออย่างเหมาะสม แต่หากต้องเข้าใจว่า ในท้ายที่สุดแล้ว BYD Seal AWD Performance ยังคงเป็นแค่ EV Sedan พลังแรง หาใช้รถที่เรียกตัวเองว่า Hi Performance ไม่ !
ตัวเลข 3.8 วิ. มีให้เห็นจริงๆ แต่กดต่อเนื่อง…มีเหี่ยวเช่นกัน
สิ่งหนึ่งที่เรายังคงชื่นชมในความเป็น BYD ซึ่งเคลมตัวเลขได้อย่างมีมาตรฐาน คือ เรื่องของอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ที่ใกล้เคียงกับสเป็ค โดยทาง #ทีมขับซ่า ทดสอบด้วยเครื่องมือ VBox Sport ออกมาที่ 3.85 วินาที (ล้อมีอาการสลิปเบาๆ ในขณะกระแทกคันเร่งออกตัว แต่หากลองกดต่อเนื่องหลาย Run ติดๆ ความเร็วมีดรอปตามความร้อนที่เกิดขึ้นกับชุดมอเตอร์ขับเคลื่อน) ด้วยพื้นที่ที่เป็นใจ Mr. Pajingo พยายามขยี้คันเร่งของ เพื่อหาขีดจำกัดที่ทำได้ ก่อนจะพบว่า ในช่วงความเร็วสูงๆ ขึ้นไปจนใกล้จุดสุดยอดของรถ หน้ารถเริ่มมีอาการฉกซ้าย -ขวา ซึ่งต้องใช้ทักษะการควบคุมในระดับสูง สาเหตุหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะ…ด้วยความที่ BYD Seal เป็นรถที่ออกแบบมาให้มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานที่ต่ำ Cd = 0.219 (เพื่อเน้นความลู่ลม ประหยัดพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อน) นั่นอาจจะต้องแลกมาด้วยประสิทธิภาพในการสร้างแรงกดที่ความเร็วสูงที่ต่ำลงไปด้วย ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุ แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น การเซ็ตช่วงล่างในสไตล์พรีเมี่ยมซีดาน เน้นความสะดวกสบายเป็นหลัก เหนือคำว่าสมรรถนะในระดับสูงสุด นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากการขับขี่ที่ความเร็วสูงมากๆ อาจทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกขาดความมั่นใจไปบ้าง ซึ่งอาการเหล่านี้ เป็นหมือนคาแร็กเตอร์เฉพาะตัวของรถในตระกูล BYD Seal ที่เจอในทุกรุ่นย่อย
ชอบอะไร – ขัดใจตรงไหน ?
แต่ในท้ายที่สุด (แต่ยังไม่สุดท้าย)…BYD Seal ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่ทำให้ #ทีมขับซ่า เกิดความประทับใจอีกไม่น้อย ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพการเก็บเสียง, ความหนักแน่นในน้ำเสียงของชุดเครื่องเสียงจาก Dynaudio (แล้วแต่รสนิยมทางหูของแต่ละบุคคล), เบาะนั่งที่ให้ความรู้สึกโอบประชับ และออกแบบตำแหน่งพนักพิงศีรษะได้อย่างลงตัง, ความสามารถในการสะท้อนความร้อนของแผ่นหลังคา แม้ว่าจะให้มุมมองในแบบหลังคาพาโนรามิกเคลือบซิลเวอร์เพลทแบบเต็มบานไร้ม่านปิด แต่เรากลับไม่รู้สึกถึงความร้อนจากแสงแดดที่ผ่านเข้ามา แม้ต้องขับขี่ในเวลากลางวันแสกๆ และที่ขาดไม่ได้ คือ เรื่องความปลอดภัยภายใต้เทคโนโลยีการออกแบบ e – Platform 3.0 แบบ Cell to Body ซึ่งช่วยให้ตัวรถมีความแข็งแรงสูง เมื่อเกิดการกระแทกจากในด้านหน้า และด้านข้าง ส่งผลต่อเรื่องความปลอดภัยของห้องโดยสาร รวมถึงชุดแพคแบตเตอรี่โดยตรง และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ เมื่อแพคแบตเตอรี่เป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับพื้นรถแล้ว ส่งผลให้ความหนาของพื้นลดลงอีก 5 มม. จึงทำให้มีพื้นที่ในการวางเท้าได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ในทางกลับกัน ก็มีบางลูกเล่นที่เราก็เข้าใจแหละ ว่าทางค่ายต้องการโชว์แนวคิดการออกแบบสุดล้ำ เช่น ช่องแอร์ที่ออกแบบให้สามารถปรับทิศทางลมด้วยกลไกภายใน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การปรับทิศทางลมแบบอัตโนมือ อาจเป็นลูกเล่นง่ายๆ ที่ถูกจริตของคนไทยที่อาศัยในเมืองร้อนมาช้านานเสียมากกว่า
วางเส้นทางแบบนี้…พี่เอาน้องแมวน้ำมาเชือดออกสื่อชัดๆ !!!
#ทีมขับซ่า เดินทางด้วย BYD Seal AWD Performance มาประมาณ 100 กม. เศษๆ ก็ถึงเวลาสลับผู้ขับ มาคราวนี้เป็นโอกาสให้เราได้ลองรุ่นย่อย Premium กันบ้าง จุดแตกต่างที่ชัดเจนจากรุ่น AWD Performance ก็คือ ระบบขับเคลื่อนที่มีมอเตอร์เพียงแค่ล้อคู่หลัง ให้กำลังสูงสุดราว 315 แรงม้า จับคู่แพค Blade Battery ขนาดเดียวกันที่ 82.5 kWh แต่นั่นเองก็ทำให้ระยะการขับเคลื่อนกระโดดขึ้นมาอยู่ในระดับ 650 กม. ต่อชาร์จ (สำหรับรุ่น AWD Performance เคลมไว้ที่ 580 กม.) เมื่อวัดด้วยมาตรฐาน NEDC ซึ่ง ณ ปัจจุบัน แทบไม่มีความน่าเชื่อถือหลงเหลืออยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม BYD Seal Premium ดูจะเป็นรุ่นที่มีอนาคตมากที่สุด หากจะคาดหวังการเดินทางไป – กลับ ในระยะทางแตะๆ 400 กม. แบบไม่ต้องแวะชาร์จ (ในสภาพการเดินทางจริง และกดคันเร่งโหดๆ ในบางครั้ง) โดยหลังจากที่ถึงจุดหมายที่สนาม 8 Speed เขาใหญ่ ระยะทางโชว์บนหน้าปัดประมาณ 230 กม. ไฟในแบตเตอรี่เหลืออยู่ +- 50% ซึ่งแน่นอนว่า ผ่านฉลุยแบบไม่ต้องลุ้น หากขับอย่างมีเป้าหมายว่าต้องการถึงจุดนัดพบอย่างปลอดภัย แต่สำหรับรุ่นอื่นนั้น…???
แค่ไปยังเกือบไม่ถึง แล้วกลับ…จะเหลืออะไร ?
ปัญหาที่เกิดขึ้น อันนำมาสู่ประโยคเปิดหัว “ไปเกือบไม่ได้ แถมกลับไม่ถึง !!!” ก็คือ สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องขับ BYD Seal รุ่น AWD Performance และรุ่น Dynamic (แบตเตอรี่ของ Dynamic มีขนาดเล็กกว่าที่ 61.4 kWh เคลมระยะทาง 510 กม. สเป็คมอเตอร์เดียวกับ BYD Atto 3 และ Dolphin Extended Range) คือ แทบไม่มีความเป็นไปได้ !!! โดยเฉพาะสำหรับรุ่น AWD Performance ที่บางคันจุ่มคันเร่งกันมาเต็มตีนจนแบตเตอรี่เหลืออยู่เพียงหลัก 10% นิดๆ (กล่าวโทษกันคงยาก เพราะยิ่งกด ก็ยิ่งสนุกนี่นะ) เรื่องราวหรรษาในการรอชาร์จรถเกือบๆ 20 คัน ด้วยเครื่องชาร์จ DC เพียง 1 หัว ในปรำพิธีจึงอุบัติขึ้น ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่ทาง Rever Automotive และทีมออแกไนซ์ที่ลงทุนจ้างมา ต้องนำไปเป็นกรณีศึกษา หากจะจัดกิจกรรมทดสอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในโอกาสต่อไป
ไปต่อสิ…รอแบบนี้ อนาคตแทบไม่มีให้เห็น !
ทางเลือกของ #ทีมขับซ่า ที่ต้องขับรุ่น Dynamic ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยง คือ การอดทนรอ หรือไปต่อแล้วช่วยตัวเองเอาดาบหน้า ด้วยปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลือเพียง 32% (แต่ก็ไม่ต้องการรอชาร์จอย่างไร้ความหวัง ณ จุดนั้น) กับระยะทางอีก 170 กม. ที่ต้องเผื่อปริมาณไฟสำหรับวัดอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. มาเทียบกันให้เห็นความแตกต่างทั้ง 3 รุ่นด้วย แต่เพื่อเป็นการไม่ประมาท งานนี้ #ทีมขับซ่า จึงต้องชิงออกตัวและฝากอนาคตไว้กับชุดชาร์จที่อยู่ในละแวกนั้นแทน ซี่งมันก็ได้ผล ใช้เวลาชาร์จอยู่ไม่ถึง 20 นาที พอจิบกาแฟได้ 1 แก้ว ปริมาณไฟขยับจากตอนเริ่มชาร์จ 29% มาเป็น 55% (ตัวรถ BYD Seal รุ่น Dynamic รองรับ Quick Charge สูงสุด 110 kW ส่วนอีก 2 รุ่นย่อย ที่ใช้แบตเตอรี่ 82.5 kWh รองรับที่ 150 kW สามารถชาร์จจาก 10-80% ในเวลาประมาณ 32 นาที และรองรับการชาร์จแบบปกติ 11 kW) เสร็จกิจเรียบร้อยก็ออกเดินทางด้วยความเร็วตามกฎหมายกำหนด พร้อมทดสอบอัตราเร่งตามมาตรฐานของ #ทีมขับซ่า ก่อนจะมาปิดจ๊อบที่จุดนัดพบ ด้วยปริมาณไฟที่เหลือกลับมาถึง 18% (ถ้าไม่ชาร์จเลย…ก็กลับมาถึง แต่ตัวเลขอัตราเร่ง จะขาดความแม่นยำ เพราะเมื่อปริมาณไฟต่ำ มอเตอร์จะถูกดรอปกำลังลงอย่างชัดเจน)
ขับหลังเหมือนกัน แต่ทำไม…ฟีลลิ่งต่างกันได้ขนาดนั้น ?
หลังจากที่ได้ลองขับ BYD Seal รุ่นขับคลื่อนล้อหลังทั้ง Premium และ Dynamic แม้จะเป็นรุ่นที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์เดี่ยวที่ล้อคู่หลังเช่นเดียวกัน แต่ทั้งคู่กลับให้ความรู้สึกที่การขับขี่ที่แตกต่างกันอย่างสัมผัสได้ โดยในรุ่น Premium แม้จะให้กำลังสูง และดูจะมีทีเด็ดทีขาดในการเร่งแซงมากกว่า แต่หากการขับขี่ที่ต้องเจอเส้นทางที่มีโค้งแคบ ต้องเข้าโค้งด้วยความเร็ว หรือโยกเปลี่ยนเลยกะทันหัน กลับรู้สึกได้ถึงอาการ “แถม” คือ มีเรื่องโมเมนตัมจากน้ำหนักตัวรถเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ต้องออกแรงในการควบคุมพวงมาลัยให้มั่นคงมากกว่า แตกต่างจากรุ่น Dynamic ที่แบตเตอรี่มีขนาดเล็กกว่า ส่งผลให้ตัวรถมีน้ำหนักเบากว่า 133 กก. การควบคุมในพื้นที่แคบ หรือต้องการความแม่นยำ จึงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าตามไปด้วย ในขณะเดียวกัน ระดับพละกำลัง 201 แรงม้า กับแรงบิด 310 นิวตัน-เมตร แม้ว่าจะเป็นรองรุ่นพี่อีก 2 รุ่น อย่างชัดเจน แต่ในแง่การใช้งานทั่วๆ ไป หรือแอบซ่าบ้างในบางโอกาส ถือว่าทำได้แบบพอหอมปากหอมคอและเหมาะสมในแง่การใช้งานแล้ว หากจะให้ฟันธงโดยไม่มองค่าตัวระหว่างทั้ง 2 รุ่น โดยส่วนตัว Mr. Pajingo ชอบฟีลลิ่งของรุ่น Dynamic ที่มีความกระชับมากกว่าความพละกำลังของรุ่น Premium แต่หากว่า คุณเป็นคนที่ต้องการความยืดหยุ่นในการใช้งาน การเดินทางได้ไกลกว่า 400 กม. แบบทำได้จริงของ BYD Seal Premium ยังคงชนะเลิศและเหนือกว่า Seal ทุกรุ่นที่ทำตลาดในยุคนี้
ถูกใจคันไหน ?
หากจะต้องฟันธงเพื่อเลือก BYD Seal สัก 1 ใน 3 คันนี้ โดยไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับการคำนวนราคาค่างวด ไอ้เราที่มีความเป็นสายซิ่งอยู่ในสายเลือด คงจิ้มไปที่ BYD Seal AWD Performance แบบไม่ต้องคิดเยอะ เผื่อวันดีคืนดีมีน้อง All New นึกสนุก อยากจะมาลองของ (แต่เราคงไม่สนองกลับล่ะมั้ง) แต่ปัญหามันจะมาอยู่ที่ หาก Rever Automotive เปิดราคามาแบบสมเหตุสมผลทั้ง 3 รุ่นย่อย ไอ้เราก็คงรู้สึกว้าวุ่นไม่น้อย แต่ว่าก็ว่าเถอะ ในฐานะที่ขับมาแล้วทั้ง 3 คันนะ…ติดใจ “ตัวเริ่ม” ของเขาสุดๆ ล่ะ ดูทรงคือ “โคตรคุ้ม” ตามคอนเซ็ปท์ที่เคยมีมา