Home » EV Evolution วงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า…มาไง ไปไง ? ทำความเข้าใจ…แล้ววิ่งตามให้ทัน !

EV Evolution วงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า…มาไง ไปไง ? ทำความเข้าใจ…แล้ววิ่งตามให้ทัน !

by Admin clubza.tv

ภาพรวมของวงการ EV ทั่วโลก ณ ปัจจุบัน

www.topgreencars.com .jpg

ยอดขาย EV ทั่วโลกปี 2020 ทำได้ถึง 3.2 ล้านคัน ทั้งที่มีปัญหา COVID 19 ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก แต่อัตราเติบโตสูงขึ้นมาก สูงกว่าปี 2019 ถึง 43% ขณะที่ยอดขายรถรวมทั้งตลาดลดลง 14% แบรนด์ดังอย่าง TESLA กลับขายไปกว่า 500,000 คัน VOLKSWAGEN ตามมาเป็นที่สอง โดยมีการตาดการณ์ว่าปี 2025 ยอดขาย EV ทั่วโลก จะสูงถึง 12.2 ล้านคัน !!

จากการระบาดของ COVID 19 การค้า เศรษฐกิจชะงักงัน ภาคธุรกิจขาดรายได้หมุนเวียน ลดการจ้างแรงงาน การล็อคดาวน์หลายๆ ประเทศ เช่น จีน EU ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกลดลง แต่ที่น่าประหลาดใจคือ ยอดขายรวมของ EV กลับพุ่งขึ้น ซึ่งจะจะกล่าวถึงเบื้องหลังของประเด็นนี้ไว้ในบทความนี้ ซึ่งวางโครงสร้างออกเป็น 5 ส่วนคือ

www.cnevpost.com.jpg

** ที่น่าสนใจคือยอดขาย EV ที่ยุโรปโตขึ้นประมาณ 2 เท่า ทำให้ EU กลายเป็นแชมป์สามารถแซงจีนไปได้ แต่คาดกว่าจีนจะสามารถแซงกลับในเวลาอันรวดเร็ว เพราะออกจากสถานะการณ์ COVID 19 ขณะที่ยุโรปโรคร้ายนี้ได้หวนกลับมาระลอก 3 ขณะที่เขียนบทความนี้ **

  1. สถานะการณ์รวมของวงการ EV (ที่กำลังจะพูดถึงในย่อหน้าต่อไป)
  2. มองกว้างๆ วงการรถ EV
  3. เงื่อนไขแบบไหน…ส่งให้วงการ EV ได้แจ้งเกิดแบบเต็มตัว ?
  4. รถ EV 15 ล้านคัน !!! กับการเปลี่ยนแปลง 14 ปี ในไทย…เป็นไปได้ จริงหรือมั่ว ?
  5. ข้อคิดเห็นจาก “ทีมขับซ่า”

  1. สถานะการณ์รวมของวงการ EV 

  • คิดจะใช้ EV ต้องกล้าๆ หน่อย…การที่จะให้ผู้ที่เคยใช้รถที่ใช้เครื่องยนต์ (ICE : Internal Combustion Engine) ปกติมาเปลี่ยนไปใช้อะไรที่มัน “เป็นไฟฟ้า” นี่หลายคนปวดกบาล กลัวเจ็บตัว กระเป๋าบานในระยะยาว (ซึ่งรวมถึงราคาขายต่อด้วย) รวมทั้งเมื่อมองไปรอบตัวแล้ว โครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ ค่าใช้จ่ายในการครอบครอง การซ่อมบำรุงโดยเฉพาะเรื่องแบตเตอรี่ ก็สำคัญพอๆ กัน ส่วนเรื่องอื่น…พวกใช้แล้วกูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์น้อยกว่าข้างบ้าน ปล่อยอนุภาคจิ๋ว PM น้อย กระบวนการรีไซเคิ้ลแบตฯ นั้น พวกเราชาวไทยเห็นจะไม่สนใจมากนัก (ถ้าไม่แสร้งว่าโลกนี้ช่างสวยงาม) ในฐานะผู้บริโภคไทยแลนด์
  • เขยิบขึ้นมามองภาพกว้างขึ้นอีกนิด หลายสำนักวิเคราะห์มองไปที่หลักกิโลปี 2030 ว่าเป็นจุดวัดแรกของทษวรรษหน้า หลังจากเราได้เริ่มเข้าสู่กการผลักดัน EV มาตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา มีการวางโร็ดแมปทิศทางเทคโนโลยีทั้ง Power Train, Drive Train, Battery, การแบ่งโซนการผลิต/การขาย ของผู้ผลิต กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีมาตรการสนับสนุน ข้อกำหนด นโยบายจากภาครัฐและองค์กรของผู้มีส่วนได้เสียในวงการ มาตรฐานการผลิต ควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัยในการใช้และดูแลรักษา การรีไซเคิ้ล ฯลฯ ทั้งหมดในย่อหน้านี้ ถือเป็นเฟรมเวิร์คที่วงการรถยนต์ไฟฟ้าจะก้าวเดินต่อไป โดยมีปี 2030 เป็นหลักชัยแรก !
  • ถ้าให้ “ทีมขับซ่า” ทำการวิเคราะห์ เสนอแนวคิด เราก็จำเป็นจะต้องพิจารณาทั้งลึกและกว้าง ไปยัง “อีกวง” ของวงการ EV ที่อยู่เคียงคู่ กำลังไปกัน มันคือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ระบบโคตรข้อมูล(Big Data), สรรพสิ่งบนอินเทอร์เน็ต(Internet of Things) และพวกเงินสกุลคริปโต พวก Blockchain , Bitcoin … ลากยาวไปถึงยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ ยานยนต์เชื่อมกับสรรพสิ่งบนอินเทอร์เน็ต การร่วมแชร์-ร่วมใช้ สังวาสระหว่างคนกับเครื่องจักรกล ซึ่งจะพัฒนาไปไกลมากเมื่อถึงปี 2030 ดังนั้นการทำความเข้าใจ EV ในอนาคตจำเป็นต้นรวมองค์ประกอบเหล่านี้เข้าไปด้วย เพราะมีผลกระทบโยงถึงกัน เมื่อเข้าไปดูผลการวิจัยที่เมืองนอกพบว่าอันดับหนึ่ง ได้แก่ Autonomous vehicle (21%) อันดับสอง คือ Connectivity การเชื่อมต่อ(18%) อันดับสาม Electrification ยานยนต์พลังไฟฟ้า(17%) จากนั้นก็จะเป็นแนวโน้มด้านการแชร์-การใช้รถ ที่เมืองสำคัญๆ จราจรวุ่นวายหลายประเทศนำเป็นมาตรการกึ่งบังคับไปแล้ว (Shared mobility 14%) (รูป5)

รถ EV ขายดีขึ้นแบบไม่เกรงใจ Covid ขนาดไหน ?

แรงผลักดันของ EU มาจากมาตรการการปล่อย C02 ไม่เกิน 95 กรัม/กิโลเมตร ผู้ผลิต รวมถึงผู้คนจึงหันมาใช้ EV เพิ่มอย่างเห็นผล โดยเฉพาะในเยอรมัน ส่วนที่จีนนั้น มีเหตุการณ์ที่ออกจะขัดกับการโปรโมตให้คนหันมาใช้ EV ที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้า คือ รัฐบาลต้องออกมา “แตะเบรค” การขายช่วงต้นปี 2019 อยู่พักหนึ่ง เพราะรู้สึกว่ามีผู้ผลิตรายใหม่ เข้ามามากเกิน จนอาจทำให้ฝั่งซัพพลายล้นตลาด จนถึงขนาดที่รัฐต้องออกมาควบคุมฝั่งดีมานด์ช่วงกุมภาพันธ์ 2019 เป็นต้นมา โดยตัดเงินช่วยที่รัฐบาลเคยออกให้ผู้ซื้อ EV ลงครึ่งหนึ่ง ส่งให้ยอดขาย EV เดือนกุมภาพันธ์ 2019 ลดลงประมาณ 60% คือ ขายได้แค่ 16,000 คัน แต่ตลาดก็กลับมาดีขึ้นในเดือนเมษายนา คือ ทำได้ 80% เทียบกับปี 2018  ทั้งนี้เมื่อนำตัวเลขขาย EV มาเทียบกับยอดขายรถรวมทุกชนิดเครื่องยนต์ ยอดขาย EV มีแชร์มากขึ้นจาก 2.5% ปี 2019 เป็น 4.2% ปี 2020 (มีการล็อคดาวน์ช่วงมีนาคม-มิถุนายนปี 2019) ยอดขายแยกตามตลาดใหญ่เรียงตามนี้

– EU ขายได้ 1.395 ล้านคัน ปี 2020 โตขึ้น 137% เทียบกับปี 2019 ที่ทำได้ 589,000 คัน ขณะที่ยอดขายรถรวมลดลง 20%

– จีน ขายได้ 1.337 ล้านคัน ปี 2020 โตขึ้น 12% เทียบปี 2019 ที่ทำได้ 1.196 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายรถรวมลดลง 4%

– สหรัฐฯ ขายได้ 328,000 คัน ปี 2020 โตขึ้น 4% เทียบกับปี 2019 ขณะที่ยอดขายรถรวมลดลง 15%

– ญี่ปุ่น ขายได้ 31,000 คัน ปี 2020 ลดลง 28% เทียบกับปี 2019 ขณะที่ยอดขายรถรวมลดลง 11%

– ตลาดอื่นขายได้ 149,000 คัน ปี 2020 เพิ่มขึ้น 24% เทียบปี 2019 ขณะที่ตลาดรวมลดลง 19% (รูป6)

** เยอรมัน เป็นอันดับ 2 รองจากจีน ยอดขาย EV รวมโตขึ้น 254% มาจาก PHEV 351% และ EV ที่ 191% เป็นเพราะเยอรมันเน้นไปในทิศทาง PHEV อย่างพร้อมเพรียง ใส่เทคโนโลยีล้ำหน้ามากกว่า EV ประเภทอื่น **

การแข่งขันในตลาด EV ปีนี้…น่าจะเข้มขึ้น เพราะจะมีรถใหม่ออกมาอีกประมาณ 150 รุ่นทั่วโลก ร่วมชิงตลาด EV ที่คาดว่าจะมีปริมาณถึง 4.6 ล้านคัน โดยมีการคาดการณ์ว่าปี 2030 โลกเราอาจจะต้องการพลังไฟฟ้าไปชาร์จให้ EV ถึง 550-1,000 TWh มากกว่าปัจจุบันถึง 6-11 เท่า (ขึ้นกับว่าเราจะมีการนำ EV มาใช้มากน้อยเพียงใด) ญี่ปุ่นอาจใช้เป็นจำนวนถึง 2% ขณะที่บางประเทศ EU อาจใช้ถึง 6% เทียบกับดีมานด์การใช้ไฟของประเทศ สัดส่วนจะต่างออกไปขึ้นกับพลังงานที่ต้องการจากรถ เป็น Full EV, Hybrid Engine หรือ PHEV การชาร์จช้า-ชาร์จเร่ง ความจุแบต EV ที่นำมาใช้เป็นประเภทงานเบา-งานหนัก พัฒนาการของแบตและมอเตอร์น่าจะทำให้รถในปี 2030 วิ่งได้ประมาณ 350-400 กิโลเมตร/ชาร์จ เมื่อใช้แบตขนาด 70-80 kWh จากปัจจุบันที่เมื่อนำพลังไฟจากแบต EV ที่มีทั้งโลกมารวมกันได้ 170 GWh เมื่อถึงปี 2030 ก็อาจมีเพิ่มเป็น 3 TWh

เศรษกิจไม่ดี แต่ทำไม…รถ EV กลับขายดี ?

ข้อมูลจาก IHS Markit สรุปว่าปีที่แล้วนั้น ยอดขาย EV ทั่วโลกทำไว้ที่ 3.2 ล้านคัน สำหรับปี 2021 แม้จะยังมีการสำแดงฤทธิ์ของ COVID 19 ลากหางอยู่ แต่ตัวเลขคาดการณ์บอกว่าตลาดน่าจะโตขึ้น 70% จีนและยุโรปจะโตสุด คือ รวมกันแล้วประมาณ 72% ของยอดขายทั้งโลก ตามมาด้วยอเมริกาเหนือ 16% ญี่ปุ่นเกาหลีรวมกัน 11% ซึ่งถ้าแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ (ประมาณ 52% ต่อปี) เมื่อถึงปี 2025 ยอดขาย EV น่าจะแตะ 12.2 ล้านคัน แบบไม่เหนื่อย โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดขายในยุโรปพุ่งสูงนั้น มาจากนโยบายภาครัฐที่เข้ามาเนียนสนับสนุน มุ่งไปที่ฝูงฟลีทรถบรรทุกเบาที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม คือ ถ้ารถที่นำมาใช้ฝูงนั้น ปล่อย CO2 ไม่เกิน 95 กรัม/กิโลเมตร องค์กรธุรกิจนั้น ก็จะได้แต้มเครดิตทางการค้า เอาไว้แลกผลประโยชน์อะไรๆ แล้วแต่ ที่ภาครัฐจะออกมา ผลของมาตรการนี้ คือ สามารถดึงยอดขาย EV จนมีแชร์ประมาณ 7% ของตัวเลขทั่วโลก

** ยุโรปนั้นได้ผลักดันโครงงาน Green Deal สู่อนาคตยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero-emission vehicles) ตั้งเป้าลด CO2 ลงเหลือ 37.5% ในปี 2030 จากปัจจุบัน 2021 **

 ข้อมูลที่ควรทราบ

  • ยอดขายรถยนต์นั่ง (Passenger car) ทั่วโลกปี 2020 ทำได้ 66.5 ล้านคัน ลดลงกว่าปี 2019 เท่ากับ 14%
  • ก่อนจะเกิดปัญหา COVID 19 นั้น ตัวเลขคาดการยอดขายคาดว่าจะลดลงอยู่แล้ว 3% ในปี 2020 จากเศรษฐกิจถดถอย
  • ตัวเลขการขายปี 2021 น่าจะสูงขึ้นในตลาดหลัก ส่วนตลาดรวมน่าจะโตขึ้นประมาณ 5% (ซึ่งก็ยังคงต่ำกว่าที่เคยทำได้ในปี 2019)
  • รถรุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดที่ยุโรปและอเมริกาในปี 2020 ได้ใช้การเปิดตัวออนไลน์ หรืองานในสเกลเล็ก เฉพาะกลุ่ม (Soft Launch) แทนการจัดแบบอีเวนท์ใหญ่ช่างก่อนเกิด COVID 19
  • จะมีดีมานด์ระลอกใหญ่ เมื่อเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น กิจการร้านค้า ดีลเลอร์รถ การท่องเที่ยว สถานที่ทำงาน สถานศึกษา กลับสู่ภาวะปกติ

ตัวเลขอย่างเป็นทางการทำสรุปมาถึงปี 2019 ให้ตัวเลขการขาย EV ทั่วโลกอยู่ที่ 2,264,400 คัน โต 9% เทียบกับปี 2018 อันเป็นตัวเลขที่ห่างจากที่เคยทำได้ 46-69% ในช่วง 6 ปีก่อนหน้า สาเหตุที่ดึงตัวเลขการเติบโตให้ลดลงอยู่ที่ตลาดหลักของ EV คือ จีนและสหรัฐที่ขายลดลง จริงๆ แล้ว…ตัวเลขจะลดลงกว่านี้ ถ้าไม่มีการเติบโตของตลาด EV ที่ยุโรป ที่เติบโตถึง 44% มาช่วยฉุด โดยที่ยุโรปนั้น หลังจากที่มีการประกาศใช้การตรวจสอบเเบบ Worldwide Harmonized Light-Duty Vehicles Test Procedure (WLTP) วัดการปล่อยไอเสียรูปแบบใหม่ของสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 2018 ที่บังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์หยุดการส่งมอบรถยนต์บางรุ่น กลับเป็นการเปิดโอกาสให้ EV หลายรุ่นที่ผ่านการทดสอบนี้ขายดี ประกอบกับการที่หลายประเทศยุโรปมีการสนับสนุน จูงใจ จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนตระหนักถึงปัญหามลพิษจากรถ มีการตั้งเป้าเพื่อลด CO2  มีโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟที่สมบูรณ์

ปัจจัยบวกอีกส่วนที่ยุโรป คือ มีการลงทุนครั้งใหญ่ถึง 60,000 ล้านยูโรในปี 2019 เพื่อพัฒนา ผลิต EV และแบตเตอรี่ (เป็นเม็ดเงินที่มากกว่าปี 2018 ถึง 19 เท่า) ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมตกลงร่วมกันในการผลิต EV และแบตเตอรีมากขึ้น 3.5 เท่า ในยุโรปเทียบกับที่เคยลงทุนในจีน ช่วงปี 2019 จึงมีทั้ง BEV และ PHEV ทั้งปรับโฉมและออกใหม่กว่า 30 รุ่น ในท้องตลาด พวกเขาตั้งเป้าว่า EV สัญชาติยุโรปจะต้องลดการปล่อย CO2 ได้ต่ำกว่า 95 กรัม/กิโลเมตร ในช่วงปี 2020-2021

คนทั่วโลก คิดยังไงกับรถ EV ?

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการศึกษา สำรวจ เพื่อให้ทราบความสนใจ ความคิดเห็น ต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่กำลังมุ่งไปข้างหน้าของยานยนต์โลก ว่าน่าจะเป็นไปอย่างไร คาดการณ์ว่าในอนาคตจะออกมาเป็นอย่างไร พวกเขาชอบ-ไม่ชอบอย่างไร จากกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้รถจำนวน 35,000 คน ของ 20 ประเทศทั่วโลก ทำโดยสำนักวิจัย “Deloitte” นำมาเผยแพร่ในหัวข้อ “2020 Global Automotive Consumer Study- Is consumer interest in advanced automotive technologies on the move” กลุ่มผู้ทำงานเขาสรุปออกมาได้ชัดเจน แบบมืออาชีพ โดยแบ่งเป็นประเด็นสำคัญๆ นำมาขมวดอีกทีให้พวกเราทราบกันดังนี้

  • ด้านรถยนต์พลังไฟฟ้า (Electric Vehicles) แม้ภาคส่วนต่างๆ ทั่วโลก พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อนำมาแทนที่เครื่องยนต์แบบดั้งเดิมให้มากและเร็วที่สุด แต่ผู้คนก็ยังรู้สึกกลัวๆ กล้าๆ แม้จะเป็นที่สหรัฐอเมริกาเองก็ตาม ในด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟ เมื่อสอบถามต่อด้านการใช้พลังงานรูปแบบต่างๆ ในอนาคต ซึ่งมีทั้งเครื่องยนต์พลังงานดั้งเดิมเบนซิน แก็ส ดีเซล เครื่องไฮบริดพลังไฟฟ้า เครื่องพลังไฟฟ้าแบตเตอรี่ล้วน เครื่องที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น (Ethanol, CNG, Hydrogen Fuel Cells) ให้พวกเขาเลือกตอบว่ารถยนต์คันต่อไป จะเลือกใช้ชนิดเครื่องแบบใด ผลออกมา คือ ผู้ตอบสหรัฐจะยังใช้เครื่องยนต์พลังงานดั้งเดิมสูงสุดในกลุ่ม (59%) คือ เกินครึ่ง ตามด้วยอินเดีย (51%) เยอรมัน (49%) จีน (43%) เกาหลี (42%) ต่ำสุดคือ ญี่ปุ่น (37%) ถัดจากเครื่องพลังงานดั้งเดิม ผู้ตอบจากทุกประเทศเห็นว่าจะเลือกรถเครื่องไฮบริดพลังไฟฟ้ามาเป็นรถคันถัดไป ตามด้วยเครื่องพลังไฟฟ้าแบตเตอรี่ล้วน และเครื่องที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นตามลำดับ มีตัวเลขน่าสังเกตคือ ประเทศที่ใช้รถไฮบริดสูงสุด คือ ญี่ปุ่น( 47%) ต่ำสุด คือสหรัฐ (27%)
  • ด้านรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles) ในขณะที่ผู้คนสหรัฐยังลังเลเรื่องระดับความปลอดภัย จีน และอินเดียกลับไม่คิดอย่างนั้น  ต่างก็กำลังก้าวกระโจนสู่เทคโนโลยีด้านนี้อย่างขะมักเขม้น เมื่อทำการสอบถามต่อด้านความปลอดภัยในการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ขณะที่ประเทศอื่นให้ความมั่นใจกับมันน้อยลง อินเดียและจีนกลับมีตัวเลขสวนทางอย่างเห็นได้ชัด จากกราฟที่เงยหัวขึ้นตลอด ในช่วงสามปีที่ผ่านมา คือ ต่างรู้สึกมั่นใจในการนำมาใช้ค่อนข้างมาก สหรัฐและเยอรมันซึ่งเคยมีกราฟสูงขึ้นจากปี 2018-2019 กลับมีตัวเลขลดลง ทั้งนี้น่าจะมากจากการเกิดอุบัติเหตุของรถพวกนี้ ในช่วงปีหลังๆ ซึ่งมีอยู่หลายกรณี ทั้งเจ็บหนัก ล้มตาย  สำหรับผู้ตอบชาวญี่ปุ่นและเกาหลี ต่างรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจกับมันมาตลอด สังเกตจากกราฟทิ่มลงต่อเนื่อง และตัวเลขลดค่าลงชันมาก

ทีนี้เมื่อถามต่อในประเด็นความมั่นใจให้รู้สึกปลอดภัย กล้าใช้รถพวกนี้มากขึ้นไหม ถ้าภาครัฐของประเทศนั้นๆ ให้คำรับรองด้านความปลอดภัย ตัวเลขจากอินเดีย (80%) จีน (77%) เกาหลี (74%) มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แสดงว่าผู้ตอบชาวอินเดียและจีนจะรู้สึกมั่นใจกับการใช้รถพวกนี้มากขึ้น ถ้าภาครัฐของเขาออกมาให้การรับรอง ยืนยันด้านความปลอดภัย ที่ได้คะแนอยู่ระดับกลางๆ เห็นจะเป็นสหรัฐ (57%) ส่วนเยอรมันและญี่ปุ่นมีค่าเท่ากัน คือ 42% แสดงว่าต่อให้ภาครัฐออกมารับรอง ก็จะไม่มีผลต่อผู้ตอบแบบสอบถามจาก 2 ชาตินี้ ว่าจะมั่นใจกับการใช้รถประเภทนี่มากขึ้นเท่าใด

ยังคงเจาะลึกอยู่ในประเด็นนี้ เมื่อเขาถามต่อไปว่า ถ้าให้ผู้ผลิตรถรายดั้งเดิม (Traditional Automakers) ที่ท่านเชื่อมั่นมากที่สุด มาผลิตรถขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully Autonomous) ล่ะ…ท่านมีความรู้สึกอย่างไร ? ผู้ตอบจีนให้ค่าขึ้นๆ ลงๆ ตามแต่ละปี แต่ถือว่าคะแนนยังเกาะกลุ่มไม่ต่างกันเท่าใด อินเดียถือว่าค่าพอๆ กันทั้งสามปี สหรัฐค่าลด พุ่งหัวลงตลอด (41%, 39%, 37%) เยอรมันจากเคยขึ้นสูงลดเพดานมาต่ำสองปีซ้อน (48%, 33%, 35%) เกาหลีลดลงแล้วคงที่ (41%, 37%, 37%) ที่น่าสังเกตคือญี่ปุ่น จากที่เคยเชื่อมั่นมากกว่าชาติอื่น กลับดิ่งค่าลงตลอดสามปีที่ผ่านมา (76%, 68%, 65%) อย่างเห็นได้ชัด ชาวญี่ปุ่นรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจ ไม่ปลอดภัย คิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะนำรถไร้คนขับเต็มรูปแบบ มาวิ่งใช้งานในขณะนี้

  • ด้านการใช้ยานพาหนะหลายๆ ชนิดต่อการเดินทาง (Multiple Modes of Transportation) แม้จะมีการณรงค์ให้หันมาใช้การเดินทางอื่นๆ เพื่อลดจำนวนรถบนท้องถนน โดยให้หันมาใช้บริการสาธารณะต่างๆ ที่มีให้เลือก คือ มีตั้งแต่ใช้รถส่วนตัว รถไฟฟ้าใต้ดินบนดิน ร่วมแชร์ร่วมใช้ รถบริการสาธารณะอื่น และชักจูงโดยอ้างความสะดวก ประหยัด ลดมลพิษ ผู้บริโภคในญี่ปุ่น เยอรมัน สหรัฐ กลับไม่คิดอย่างนั้น เมื่อให้เลือกตอบเป็นจำนวนครั้ง เช่นไม่เคย ไม่ใคร่จะ และมากกว่าหนึ่งครั้งต่อหนึ่งสัปดาห์ พวกที่ตอบว่าไม่เคยนั้น สหรัฐมาสูงสุด (39%) น้อยสุดคือ เกาหลี(9%) ทั้งนี้ถือว่าตรงกับที่เตยนำเสนอไป ว่าพฤติกรรมอเมริกันนั้น ยังถือว่าการใช้รถส่วนตัวให้ความสะดวกสบาย ได้ความเป็นส่วนตัวสูง อีกทั้งการที่พวกเขานิยมอยู่อาศัยแถบชานเมือง ย่อมต้องการรถไว้ใช้ ส่งลูก รับลูก ทำโน่นทำนี่ สามีภรรยาใช้รถคนละคัน ชีวิตจะสุขสบายกว่า โดยเฉพาะ ‘ช่วงแรก-ช่วงหลัง’ ของการเดินทาง

ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าน่าสนใจ ทำให้มีการสอบถามต่อ ด้านการร่วมแชร์ร่วมใช้รถ เพื่อดูว่าผู้ใช้รถแต่ละประเทศมีความคิดเห็น มีความต้องการอย่างไร ได้ประโยชน์อะไรถ้าให้ใช้การเดินทางชนิดนี้ ผู้ตอบอเมริกันชอบตรงไม่ต้องหาที่จอด ไม่ต้องจ่ายค่าที่จอดสูงสุด (21%) สามารถทำงานอื่นไปด้วยได้ เช่น พิมพ์ข้อความ อ่านเมล์ (21%) ไม่ต้องห่วงแม้วันเมามาก (19%) พวกเยอรมันชอบตรงเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามี/ขับรถ (27%) มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (19%) ถัดมาคือ สามารถทำงานอื่นไปด้วยได้ (18%) ซึ่งเมื่อลองไล่คร่าวๆ ไปประเทศที่เหลือ พบว่าส่วนใหญ่ผู้ใช้รถให้ความสำคัญกับหัวข้อนี้ค่อนข้างมากเช่นกัน รวมทั้งด้านประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย  ที่น่าสังเกตคือ ญี่ปุ่นให้ความสำคัญด้านไม่ต้องห่วงแม้วันเมามาก…สูงสุดในบรรดา 6 ชาติ (20%) แสดงว่า หนึ่ง…กินเหล้ากันเยอะมาก สอง…ผู้คนมีความรับผิดชอบ เคารพกฏหมายกันมาก ไม่อยากฝ่าฝืนกฎหมาย

สิ่งที่ผู้คนอยากได้จากรถในยุคกว่า 2021 ?

โดยในการศึกษาครั้งนั้น เขาได้สอบถามอีกเรื่องหนึ่งแถมไปด้วย เมื่อถามว่ามีเทคโนโลยีใดบ้าง ที่ไม่เขาไม่ยินดีจ่ายเกิน 500 เหรียญยูเอส เพื่อนำมาใช้ในรถ ไล่ถามตั้งแต่เยอรมัน สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย ลองใช้การวัดแบบฐานนิยม (Mode) มาจับเพื่อให้ดูง่าย พบว่าสิ่งที่ผู้คนไม่อยากได้อันดับแรกคือ อินโฟเทนเม้นท์ ตามด้วยระบบการเชื่อมต่อ ตามด้วยระบบความปลอดภัย (ข้อนี้ยกเว้นญี่ปุ่น ที่เห็นว่าไม่ควรจ่ายกับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติมากกว่าชาติอื่น) ตามด้วยระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ตบท้ายด้วยการใช้เครื่องยนต์ทางเลือกต่างๆ ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าจะเลือกตัดหลังสุด หรือต้องการเอามันมาใช้มากสุดนั่นเอง

  • ในอนาคต…จะยังซื้อรถยนต์มาใช้อยู่อีกหรือไม่ ? โดยตั้งคำถามให้คนแต่ละรุ่น ไล่จากรุ่นลุงป้า พ่อแม่ มาหนุ่มสาว (Gen X) จนถึงวัยรุ่น (Gen Y/Z) ว่าในอนาคตเราจะคุ้นเคยกับการใช้ยานพาหนะในการเดินทางหลากหลาย พวกเขายังจำเป็นต้องซื้อรถมาใช้อยู่อีกไหม ? ค่าเฉลี่ยของคำตอบ คือ คนอินเดียคิดว่าน่าจะยังซื้อมาใช้อยู่ (61%) ญี่ปุน (42%) จีน (43%) เยอรมัน (37%) เกาหลี (33%) สหรัฐ (32%) น่าจะเรียกว่าไล่ตามระดับของโครงสร้างพื้นฐานการจราจร เทคโนโลยีการสื่อสาร ก็น่าจะได้ ซึ่งสัมพันธ์กับระดับรายได้ของประเทศ/หัว ด้วยเช่นกัน ที่น่าสังเกต คือ ทุกประเทศ (ยกเว้นเกาหลี) มีความเห็นว่าพวกวัยรุ่นหนุ่มสาว คงจะยังซื้อรถมาใช้อยู่ต่อไป

ทั้งหมด คือ ภาพรวมของวงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงทิศทางในอนาคต ว่าด้วยการพัฒนาที่เปลี่ยนไป ผู้ใช้ต้องการอะไรที่ตอบโจทย์ ซึ่งในบทความหน้า เราจะมาเจาะลึกในรายละเอียดให้มากขึ้น…โปรดคอยติดตามชม

ทิศทางรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV in my Opinion เกิดได้เร็วขนาดไหน…ในมุมมองของ #ทีมขับซ่า


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy