Home » Mercedes-Benz EQS จบทุกข้อสงสัย รู้ลึกในที่เดียว กับ “อนาคต” ที่กลายร่างสู่ “ความเป็นจริง”

Mercedes-Benz EQS จบทุกข้อสงสัย รู้ลึกในที่เดียว กับ “อนาคต” ที่กลายร่างสู่ “ความเป็นจริง”

by Admin clubza.tv

Mercedes-Benz EQS จะเรียกว่า…รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในโลก ณ เวลานี้ก็คงจะไม่ผิด เพราะดูจากราศีแล้ว ซีดานหรูผู้นี้…ไม่ได้มีดีแค่คอนโซลที่มาในรูปแบบ Hyperscreen เท่านั้น แต่ยังอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีการขับเคลื่อนที่ชวนให้ค้นหา ซึ่งก่อนจะเปิดตัวในวันที่ 15 เมษายนนี้ เรามีเทคโนโลยี รวมถึงรายละเอียดที่น่าสนใจของรถรุ่นนี้ เพื่อเป็นข้อมูลเรียกน้ำย่อยกันก่อน…ป่ะ !

Mercedes-Benz EQS

Mercedes-Benz EQS พัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์มใหม่ที่มีชื่อว่า EVA (Electric Vehicle Architecture) ซึ่งทางค่าย Mercedes-Benz ออกแบบมาใช้สำหรับรถไฟฟ้าในค่าย โดยนอกจาก EQS แล้ว ก็พร้อมที่จะรองรับสำหรับ EQE และ EQE SUV ในอนาคต ด้วยความที่รถยนต์ในรูปแบบที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้านั้น มีความยืดหยุ่นในการจัดวางองประกอบ สามารถปรับขนาดได้ในทุกๆ ด้าน ด้วยการดีไซน์มาในรูปแบบโมดูล่าร์ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนเลย์เอาท์ได้หลากหลาย จัดวางแบตเตอรี่ได้หลายขนาดความจุ รองรับการใช้งานทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งหากจะบอกว่า Mercedes-Benz ก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้นำในวงการรถยนต์ไฟฟ้า ณ เวลานี้ ก็คงจะไม่ผิด โดยเฉพาะถ้าดูจากตัวเลขและรายละเอียดต่างๆ ที่จะแสดงให้เห็นต่อจากนี้

Battery

อย่างที่มีการให้ข้อมูลมาก่อนหน้านี้ ว่า Mercedes-Benz EQS เป็นรถที่มีระยะการวิ่งต่อการชาร์จที่ไกลที่สุด ณ ปัจจุบัน คือ 770 กม. ถ้าวัดด้วยมาตรฐานที่มีความเข้มข้นอย่าง WLTP (แน่นอนว่ายังไม่มีจุดชาร์จจุดไหนที่ห่างไกลกันมากขนาดนี้) นั่นหมายความว่า ถ้าเราขับรถจากกรุงเทพฯ ตียาวจนถึงเชียงใหม่ ยังพอมีไฟเหลือให้ขับเที่ยวอีกร่วมๆ 100 กม. ซึ่งในความเป็นจริง Mercedes-Benz จะทำแบตเตอรี่ออกมาใน 2 ความจุ คือ 107.8 kWh กับระยะการเดินทางที่ได้เกริ่นไปแล้ว (ความจุสูงกว่าแบตฯ ของ EQC 26%) หรือ 90 kWh (83% ของความจุแบตที่มีขนาดใหญ่กว่า) ซึ่งหากนำมาคำนวนเป็นตัวเลขระยะทาง จะอยู่ที่ราว 640 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง (ขึ้นอยู่กับพละกำลังที่ปล่อยออกมาเป็นสำคัญ) โดยแบตเตอรี่ลิเธียมไออนของ Mercedes-Benz จะใช้ในรูปแบบ NCM 811 cells (อัตราส่วนแคโทดระหว่าง นิกเกิล : โคบอลท์ และ แมงกานิส อยู่ที่ 8:1:1) ในแพคของแบตเตอรี่จะประกอบด้วยเซล 10 และ 12 โมดูล (ตามขนาดของแบตฯ 90 และ 108 kWh) ให้แรงเคลื่อนรวม 400 โวลต์

แบตเตอรี่ 12 โมดูล ความจุ 108 kWh มาพร้อมจุดเด่นด้วยระบบการควบคุมอุณหภูมิ

การระบายความร้อนของแบตเตอรี่ของ Mercedes-Benz EQS เป็นแบบ Water to Air คือ ระบายความร้อนด้วยน้ำในด้านล่างของแพค ซึ่งในระหว่างแพคของแบตเตอรี่ จะมีช่องที่ออกแบบมาเพื่อให้การไหลเวียนของน้ำทำได้อย่างทั่วถึง ในขณะเดียวกันก็จะมี Heater สำหรับการเพิ่มอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการใช้งานทั้งการขับขี่และการชาร์จอย่างรวดเร็ว โดยสามารถอัพเดทซอฟท์แวร์เพื่อจัดการได้หากจำเป็น Mercedes-Benz มั่นใจว่าแบตเตอรี่นี้ จะสามารถใช้งานได้ทนทาน หากเทียบจากตัวเลขการรับประกันการเสื่อมของแบตเตอรี่ที่ 10 ปี หรือ 250,000 กม.

ขับเคลื่อนสี่ล้อ 4MATIC แยกการทำงานอิสระ เพื่อสมรรถนะขั้นสุดบนแพลตฟอร์ม EVA

ระบบส่งกำลัง

Mercedes-Benz จัดทางเลือกในการขับเคลื่อนมาให้อย่างหลากหลายใน EQS ด้วยเหตุผลที่บอกในเรื่องความง่ายในการดัดแปลงและจัดวางเลย์เอาท์ ซึ่งรุ่นมาตรฐาน EQS 450+ จะมาพร้อมระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง ให้กำลัง 328 แรงม้า 568 นิวตัน-เมตร โดยจะมีรุ่นสูงกว่าที่มาพร้อมมอเตอร์คู่และขับเคลื่อนสี่ล้อ 4MATIC ให้กำลังขับเคลื่อนรวม 516 แรงม้า 855 นิวตัน-เมตร (มอเตอร์หน้า 181 แรงม้า และมอเตอร์หลัง 341 แรงม้า) ในชื่อรุ่น EQS 580 4MATIC+ ในส่วนของอัตราเร่งนั้น ยังไม่มีการเปิดเผย ณ เวลานี้ แต่ความเร็วสูงสุดของ Mercedes-Benz EQS ถูกจำกัดไว้ที่ 210 กม./ชม.

สำหรับอัตราสิ้นเปลืองของ Mercedes-Benz EQS ที่วัดด้วยมาตรฐาน NEDC เฉลี่ยในรุ่น EQS 450+ จะอยู่ที่ 19.1-16.0 kWh/100 km และรุ่น EQS 580 4MATIC+ จะอยู่ที่ 20.0-16.9 kWh/100 km โดยในรุ่นนี้ จะมีระบบ Torque Shift ทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อน eATS ที่จะประมวลผลการกระจายแรงบิดระหว่างล้อคู่หน้าและหลังอย่างเหมาะสม โดยความพิเศษคือ จะให้การตอบสนองที่รวดเร็วกว่าการขับเคลื่อนด้วยกลไก ด้วยการตรวจสอบแรงบิดสูงสุดถึง 10,000 ครั้ง/นาที รวมถึงยังทำงานเป็นอิสระต่อกัน ส่งให้การขับเคลื่อนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สายไฟ 2 ชุด ทำหน้าที่เสมือนการใช้ชุดเกียร์แบบ 2 สปีด ช่วยลดจุดบอดในด้านสมรรถนะ

มอเตอร์พร้อมขดลวด 2 ชุด

Mercedes-Benz EQS ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบบซิงโครนัสทั้งหน้าและหลัง ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ การใช้ขดลวดสเตเตอร์แบบสามเฟสถึง 2 ชุด นี่อาจไม่ใช่แนวความคิดที่ใหม่ แต่เราอาจไม่ค่อยได้เห็น เนื่องจากการทำแบบนี้ จะมีต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างสูง เพราะนอกจากมอเตอร์แล้ว ยังต้องอัพเกรดองประกอบเป็นแบบหกเฟส ว่าง่ายๆ คือ อุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ย่อมต้องใช้ x 2 ตามไปด้วย ซึ่งข้อดีของการใช้ขดลวดสเตเตอร์ 2 ชุด เราเดาว่าเป็นการควบคุมทิศทางการไหลของกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถควบคุมอัตราการหมุนของมอเตอร์ได้ในสเต็ปที่ต่างกัน ทำให้สามารถปลดปล่อยกำลังในระดับที่แตกต่าง คล้ายๆ การใช้มอเตอร์ที่มีชุดเฟืองทด 2 สปีด แต่อันที่จริงแล้ว คือ…ไม่มีสปีด แต่ใช้การปล่อยกำลัง 2 ระดับ จากชุดขดลวดในมอเตอร์แทน

สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมการออกแบบของ Mercedes-Benz คือ การระบายความร้อนให้กับชุดมอเตอร์ ที่เหมือนคิดมาแล้วให้สามารถรองรับการใช้งานในหลากหลายคอนดิชั่น ไม่ว่าจะเป็น การต้องรับโหลดสูงๆ รวมถึงการเร่งความเร็วต่อเนื่องหลายๆ ครั้ง โดยจะมีสิ่งที่เรียกว่า Water Lance ในแกนของมอเตอร์เป็นตัวช่วยในการระบายความร้อนให้กับชุดมอเตอร์ นอกจากนี้ยังมีส่วนอื่นๆ ที่ช่วยในการระบายความร้อนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นครีบในสเตอรเตอร์, ครีบเล็กๆ ที่อินเวอร์เตอร์ รวมถึงการออกแบบชุดแผงระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกช่วงอุณหภูมิ

เงียบและนุ่มนวล…หนึ่งในหัวใจของ EQS

นอกจากการระบายความร้อนที่ดีแล้ว Mercedes-Benz EQS ยังโดดเด่นด้วยคุณสมบัติด้านความเงียบและความนุ่มนวลในการขับขี่ เริ่มจากการจัดวางแม่เหล็กในมอเตอร์อย่างเหมาะสม และจัดวางทิศทางของขดลวด เพื่อลดเสียงการหมุนให้ต่ำที่สุด, แปะแผ่นโฟมครอบชุดส่งกำลัง eATS พร้อมยึดด้วยลูกปืนหุ้มยาง, ฝาครอบอินเวอร์แบบแซนด์วิช ครอบ 3 ชิ้น สลับระหว่างพลาสติกและโลหะ, มีการฉีดอะคูสติกโฟมในโครงสร้าง, ขอบยางลดเสียงแบบ 2 ชิ้น บริเวณพื้นที่โดยสารตอนหลัง เพื่อให้ผู้โดยสารใน Mercedes-Benz EQS ได้สัมผัสความสบายขั้นสุด

Enegizing Air Control Plus คลีนถึงใจ

ที่ลืมไม่ได้ คือ ระบบการกรองอากาศภายในห้องโดยสาร Enegizing Air Control Plus ที่จะมีแผ่นกรองขนาดใหญ่ 3 ชั้น ประกอบไปด้วย Synthetic Membrane, Activate Carbon และ Carrier Fleece ช่วงกรองฝุ่งละอองและกลิ่นไม่พึงประสงค์ ก่อนเข้าสู่กรองแอร์อีกชั้น เพื่ออากาศที่บริสุทธิ์ ปราศจาก PM 2.5

การชาร์จ

ในส่วนของการชาร์จ Mercedes-Benz EQS รองรับการชาร์จในรูปแบบกระแสสลับ 3 เฟส ที่ 22 kW ส่วนสำหรับการชาร์จด้วยไฟกระแสตรง รองรับการชาร์จได้ถึง 200 kW โดยยังไม่มีข้อมูลปริมาณการชาร์จในแต่ละช่วง แต่คาดว่าสามารถชาร์จไฟเข้าได้อย่างสม่ำเสมอจนเกือบเต็ม 100% โดย Mercedes-Benz แจ้งมาว่า ด้วยการชาร์จเพียง 15 นาที จะทำให้ Mercedes-Benz EQS วิ่งได้ไกลถึง 300 กม. (สำหรับรุ่นแบตใหญ่) และที่น่าสนใจคือ ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น EQS พร้อมรองรับการจ่ายไฟแบบ 2 ทิศทาง ด้วยหัวชาร์จแบบ CHAdeMO ได้ด้วย

เลือกระดับการชาร์จกลับได้ 3 เลเวล และสามารถจ่ายไฟได้ 2 ทิศทาง ด้วยหัวชาร์จ CHAdeMO

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า คือ Regenerative Braking หรือ ระบบการชาร์จไฟกลับเข้าสู่แบตเตอรี่จากการเบรก ซึ่งสำหรับ Mercedes-Benz EQS สามารถปรับน้ำหนักได้ตามโหมดการขับขี่ ECO Assistant รวมถึงการปรับการหน่วงที่แป้น Paddle Shift ได้ 3 ระดับ โดยสามารถชาร์จไฟกลับได้สูงสุด 290 kW ในรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ

Hyperscreen จุดขายสุดว้าวใน EQS

ระบบการเชื่อมต่อสุดล้ำ

สิ่งที่เป็นไฮไลท์อย่างหนึ่งของ EQS ก็คือ ฟังค์ชั่น Navigation with Electric Intelligence ซึ่งรวมการนำทางเข้ากับฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ รวมถึงระบบการจัดการแบตเตอรี่ เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถวางแผนในการเดินทางและแวะชาร์จในสถานที่ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เช่น จุดที่สามารถชาร์จได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด, การค้นหาเส้นทางที่เร็วและง่ายที่สุด ด้วยการพิจารณาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ระยะการเดินทางที่ทำได้, สภาพการจราจร, จำนวนช่องในการชาร์จ รวมถึงความสะดวกในการชำระค่าใช้จ่าย ซึ่งช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น ซึ่งในระหว่างที่ชาร์จก็จะมีการแสดงผลให้ผู้ขับขี่ได้รู้ ไม่ใช่ว่าจอดชาร์จกันเป็นชั่วโมง…สุดท้ายไฟไม่เข้า ซึ่งจะมีการรวบรวมข้อมูลในระบบ Cloud รวมถึงข้อมูล On Board โดยนอกจากนี้เส้นทางที่วางแผนไว้ ยังสามารถปรับเปลี่ยนจุดหมายได้ตามที่ต้องการ (สามารถตั้งค่าจุดชาร์จสำรองได้)

นอกจากนี้ Mercedes-Benz EQS ยังสามารถคำนวนความจุของแบตเตอรี่ ว่าในปริมาณที่เหลืออยู่ สามารถวิ่งกลับไปยังจุดหมายที่เริ่มการเดินทางมาได้อย่างเพียงพอหรือไม่ ในกรณีที่ไม่ต้องการชาร์จ ซึ่งหากไม่พอ…ก็สามารถเพิ่มจุดชาร์จที่ต้องการแวะพักได้ด้วยตัวเอง (ไม่แวะสถานีที่รถนำเสนอได้) โดยสามารถคำนวนค่าใช้จ่ายคร่าวๆ สำหรับการแวะชาร์จในจุดนั้นๆ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งหากปริมาณแบตเตอรี่ หรือระยะทางเหลือน้อยจนฟังค์ชั่น ECO driving ทำงาน ไม่ควรนิ่งนอนใจกับระยะทางที่บอกบนหน้าจอ มิเช่นนั้น…อาจได้แวะกินข้าวลิงข้างทางก็เป็นได้

ชีวิตง่าย…ด้วยระบบช่วยวางแผนการเดินทาง

แอโร่ไดนามิคส์

สิ่งที่สำคัญสำหรับรถที่เน้นการขับขี่ที่ประหยัด นอกจากจะต้องมีแหล่งกำเนิดและระบบส่งกำลังที่มีประสิทธิภาพแล้ว สิ่งที่มิอาจมองข้ามได้ก็คือ เรือนร่างที่ต้องสอดรับกับหลักแอโร่ไดนามิคส์ หรือ วิ่งแล้วต้องต้านลมน้อยที่สุด ซึ่ง Mercedes-Benz EQS มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานต่ำเพียง 0.20 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดสำหรับรถในระดับโปรดักชั่นคาร์ ด้วยการออกแบบปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผล ไม่ว่าจะเป็น การใช้ล้อและยางขนาดไม่เกิน 22 นิ้ว (เลือกล้อได้ตั้งแต่ 19-21 นิ้ว), พื้นที่ด้านหน้ารถ 2.51 ตร.ม., ดีไซน์การออกแบบในลักษณะคูเป้ที่มีความลาดเอียงของกระจกทั้งหน้าและหลัง บนตัวถังที่เรียบสนิท รวมถึงช่องรับลมที่วางในตำแหน่งต่ำ, การออกแบบพื้นที่ดี ซึ่งช่วยลดกระแสลมหมุนวน และเสียงรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการเพิ่มซีลบริเวณขอบประจกและประตูถึง 6 จุด ซึ่งเป็นครั้งแรกของ Mercedes-Benz รวมถึงการใช้กระจกแบบลามิเนต และที่ขาดไม่ได้เลย คือ มือจับเปิดประตูแบบซ่อนรูปต้องยอมรับว่า Mercedes-Benz EQS เป็นเสมือนอนาคตแห่งวงการยานยนต์ ที่พร้อมให้เราได้สัมผัสแบบเป็นรูปเป็นร่างในเร็ววันนี้ ซึ่งในวันที่ 15 เมษายนนี้ เราคงได้รู้กันว่า ซีดานหรูผู้นี้ จะพกพาความสุดยอดมาขนาดไหน แต่ดูจากโหงวเฮ้งและแนวคิดในการพัฒนาทั้งภายนอก ภายใน รวมถึงระบบส่งกำลังแล้ว ต้องบอกว่า “ล้ำไปไกล” แบบจะ “ได้เจอใกล้ๆ” แล้วจริงๆ

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก insideevs


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy