Home » รถรุ่นเก่า vs. รถรุ่นใหม่ รถยุคไหน…ชนแล้วปลอดภัยกว่ากัน ? #ดูเปรียบเทียบกันให้รู้

รถรุ่นเก่า vs. รถรุ่นใหม่ รถยุคไหน…ชนแล้วปลอดภัยกว่ากัน ? #ดูเปรียบเทียบกันให้รู้

by Admin clubza.tv
car crash

อุบัติเหตุ คือ สิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ป้องกันได้ด้วยความไม่ประมาท หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ การเฉี่ยวชน หรือแม้แต่การให้เหตุผลในการจะเลือกซื้อรถในปัจจุบัน เรามักจะได้ยินคำเปรียบเทียบว่า “รถในยุคปัจจุบัน ไม่แข็งแรงเหมือนรถในอดีต” จากสาเหตุเพียงเพราะ ในการเฉี่ยวชนของรถในยุคปัจจุบัน ตัวรถดูจะเกิดความเสียหายได้ง่ายกว่ารถที่ผลิตมาในยุคก่อนๆ โดยเฉพาะใช่ช่วงยุค 80-90 ที่ตัวถังรถโดยส่วนใหญ่ ออกแบบให้มีความแข็งแรงสูง ยากต่อการยุบตัว จนเป็นที่มาที่ทำให้หลายๆ คน จินตนาการว่า รถเหล่านั้น มีความแข็งแรง และให้ความปลอดภัยได้มากกว่ารถในยุคปัจจุบัน

รถรุ่นเก่า ที่ได้ชื่อว่า “แข็ง” ปลอดภัยกว่า รถรุ่นใหม่ ที่ “ยับ” จริงหรือ ?

เพื่อพิสูจน์ให้เห็นภาพ งานนี้ทาง The Car Crash ได้รวบรวมวีดีโอเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ระหว่างรถรุ่นเดียวกันในยุคต่างๆ ไล่มาตั้งแต่เจนเนอเรชั่นแรกๆ ในยุค 1970 ไล่มาจนถึงเจนเนอเรชั่นปัจจุบันในปี 2020 ขึ้นมา โดยข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลการทดสอบการชนจากหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็น American IIHS (Insurance Institute for Highway Safety) ของสหรัฐฯ, Euro NCAP (New Car Assessment Programme) ของยุโรป, Germany’s ADAC (Allgemeiner Deutscher Automobil-Club) ในประเทศเยอรมนี โดยในแต่ละคลิปนั้น แม้จะมีความยาวเพียงนาทีเศษๆ แต่ก็พอที่จะเปรียบเทียบให้เห็นได้ว่า ระบบความปลอดภัยภายในห้องโดยสารของรถยุคเก่า (ก่อนปี 2000 เป็นต้นมา) เมื่อเทียบกับรถในยุคปัจจุบัน มีความปลอดภัยต่างกันมากน้อยขนาดไหน ?

ภายนอกจะยับแค่ไหน แต่ถ้าหุ่นทดลองปลอดภัย…อันนั้น คือ ดีงาม

ในที่นี้จะยกตัวอย่างค่า Mercedes-Benz ที่เปิดตัว New C-Class (W202) ในปี 1993 ที่มาพร้อมอุปกรณ์ความปลอดภัยครบครัน (ในยุคนั้น) ไม่ว่าจะเป็น ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ซึ่งทำงานร่วมกับเข็มขัดนิรภัยแบบดึงรั้งกลัลอัตโนมัติ อีกทั้งยังเป็นรถที่มีถุงลมนิรภัยด้านข้าง แต่อย่างไรก็ตาม ทาง EURO NCAP ยังเห็นช่องว่างด้านความปลอดภัยของรถรุ่นนี้ โดยให้คะแนนมาตรฐานความปลอดภัยเพียง 2 จาก 5 ดาว เท่านั้น โดยที่มาของคะแนน 2 ดาว ใน Mercedes-Benz C-Class (W202) มาจาก การที่เมื่อถูกกระแทกจากด้านหน้าแล้ว พื้นที่บริเวณที่วางขาสำหรับผู้โดยสารตอนหน้า มีการยุบตัวมากเกินไป เนื่องจากตัวถังทางด้านหน้ามีความแข็งแรงสูง ทำให้มีการยุบตัวและประสิทธิภาพในการซับแรงกระแทกต่ำ จนอาจทำให้เกิดอันตรายกับเข่า กระดูกเชิงกราน รวมถึงอวัยวะส่วนล่างของผู้ขับขี่ได้ นอกจากนี้เส้นแนวหลังคาระหว่างเสา A และ B ยังมีการยุบตัวเข้าหากัน จนอาจทำให้พื้นที่โดยสารถูกจำกัดให้แคบลง อีกทั้ง…แม้ว่าตัวรถจะมีถุงลมนิรภัยด้านข้าง แต่จากการทดสอบการกระแทกด้านข้าง ประตูจะชนหน้าอกหุ่นทดสอบ ก่อนที่ถุงลมนิรภัยจะพองตัวอย่างเต็มที่

แต่อย่างไรก็ตาม…สิ่งที่เราได้เห็นใน Mercedes-Benz C-Class (W203) ในปี 2001 คือ พัฒนาการด้านความปลอดภัย สิ่งทีได้จากการทดสอบ ให้ผลที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยแม้ว่าจะถูกชนอย่างรุนแรงจากทางด้านหน้า แต่เสาหลังคาทั้ง 6 ต้น ยังคงไม่บุบสลายหรือเสียรูปร่าง นั่นทำให้เห็นได้ว่า การรักษาพื้นที่ภายในห้องโดยสารของ Mercedes-Benz C-Class (W203) ยังคงทำได้ดี ซึ่งหากเทียบไปแล้ว รถรุ่นนี้ถือว่าได้คะแนนความปลอดภัยจาก IIHS ในระดับสูงสุดเกือบจะทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างภายในห้องโดยสาร รวมถึงการปกป้อง ศีรษะ, คอ, หน้าอก และขาของผู้ขับขี่ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง Mercedes-Benz C-Class (W203) ยังได้คะแนนจาก EURO NCAP ในระดับ 5 ดาว อีกดวย

จากผลการทดสอบของ Mercedes-Benz C-Class ดังกล่าว ให้ผลในทางเดียวกันกับรถยนต์หลายๆ รุ่น ในยุคสมัยที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบ Audi A4 (B5) ในปี 1994 ที่โครงสร้างและวัสดุที่ออกแบบตัวรถมีความแข็งแรงสูง แต่ภายในห้องโดยสาร กลับไม่ได้รับการปกป้องที่ดีเท่าที่ควร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Audi A4 ก็ได้คะแนนจาก EURO NCAP มากกว่าเล็กน้อยที่ 3 ดาว พร้อมหมายเหตุว่า…เป็นรถที่มีโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า เนื่องจากพื้นผิวที่แข็งและการกดทับของห้องโดยสาร ก่อนที่ใน Audi A4 (B6) เจนเนอเรชั่นต่อไป ทางค่ายมีการปรับปรุงความแข็งแรงภายในห้องโดยสารได้ดีขึ้นมาก โดยถุงลมนิรภัยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปกป้องศีรษะของหุ่นทดสอบได้อย่างปลอดภัย

นอกจาก 2 รุ่น ที่ยกตัวอย่างแล้ว The Car Crash ยังมีตัวอย่างการทดสอบการชนของรถหลายๆ รุ่นให้ดูเป็นแนวทางเพื่อทำความเข้าใจ “รถรุ่นเก่า vs. รถรุ่นใหม่ รถยุคไหน…ชนแล้วปลอดภัยกว่ากัน ?” งานนี้มองแค่ “ความแข็ง” ของตัวถังแค่เวลาเกิดการเฉี่ยวชนคงไม่ได้แล้ว เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรนำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณา คือ ความแข็งแรงของโครงสร้างในภาพรวม ที่ส่งผลต่อความเสียหายภายในห้องโดยสาร ซึ่งในปัจจุบัน ค่ายผู้ผลิตรถยนต์แทบจะทั้งหมด เลือกที่จะพัฒนาโครงสร้างตัวรถ ให้สามารถดูดซับแรงกระแทกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสียหายภายในห้องโดยสาร รวมถึงลดการบาดเจ็บของคนเดินถนน หรือความเสียหายต่อสิ่งรอบข้าง เมื่อเกิดการเฉี่ยวชน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากเราพบว่า การเฉี่ยวชนของรถในยุคนี้ ตัวถังภายนอกจะมีการยุบตัวสูงกว่ารถในยุคอดีต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากพื้นที่ภายในห้องโดยสารยังคงอยู่ในสภาพที่ (เกือบ) สมบูรณ์…ควรเป็นเรื่องที่ผู้ใช้รถควรจะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก The Car Crash


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy