Home » Supercharge vs. Motorcycle คู่ขนานที่โคจรมาพบกันได้…ซะงั้น มันมีเหตุผลมากกว่าเรื่องความแรง !

Supercharge vs. Motorcycle คู่ขนานที่โคจรมาพบกันได้…ซะงั้น มันมีเหตุผลมากกว่าเรื่องความแรง !

by Admin clubza.tv
Supercharge vs Motorcycle

หากถามว่า ณ ปัจจุบัน ใครคือ ค่ายผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ที่ทำผลงานออกมาได้แบบน่าติดตามที่สุดในโลก หลายคนก็คงจะมีคำตอบกับไปต่างๆ นานา ซึ่งส่วนใหญ่ที่ตอบ ล้วนแล้วแต่อาศัยความชอบส่วนตัวเป็นที่ตั้ง แต่หากว่ากันด้วยเหตุด้วยผลแล้วล่ะก็ คงต้องบอกว่าค่ายเขียวแห่งแดนอาทิตย์อุทัย หรือ Kawasaki เป็นแบรนด์ที่สร้างความตื่นเต้นท้าทายให้กับไบค์เกอร์ได้อยู่เสมอ แม้ว่าเราอาจจะไม่ทันคิด ว่าค่ายนี้เขามีอะไรที่มัดใจสายบิดได้ แต่หากคุณได้ลองควบรถในตระกูลที่มาพร้อมขุมพลังในรูปแบบที่มีระบบอัดอากาศ Supercharge มาเป็นตัวช่วย…คุณจะไม่มีทางลืมมันได้ลงเลยทีเดียวเชียว

Kawasaki H2 R เจ้าของสถิติความเร็ว 400 กม./ชม. โดย Kenan Sofuoğlu นักบิดแชมป์โลก WSSP ชาวเติร์ก

ผม (ตัวขี่จาก Motorcycle.com) มีโอกาสได้ลองขี่มอเตอร์ไซค์ขุมพลัง Supercharge มา 2 – 3 ครั้ง รอบแรกคือ Kawasaki H2 SX SE เมื่อประมาณ 2 – 3 ปีก่อน ตามด้วย H2 Carbon และเนคเก็ตไบค์อย่าง Z H2 ที่ออกมาหลังสุด สิ่งหนึ่งที่รถทั้ง 3 คันนี้ มีเหมือนกันคือ เครื่องยนต์ที่มาในรูปแบบ 4 สูบ แถวเรียงขนาด 998 ซีซี. พร้อมระบบอัดอากาศด้วย Supercharge ซึ่งสามารถปั่นกำลังได้กว่า 200 แรงม้า โดยที่ไม่ต้องเค้นคันเร่งมาก เช่น H2 Carbon ที่มีกำลังให้ใช้ 205.5 แรงม้า ที่ 11,600 รอบ/นาที มันยอดมากจริงๆ เมื่อคุณได้สัมผัสถึงอารมณ์ในการขับขี่ ณ เวลานั้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงลิบ โดยตัวที่มีราคาต่ำสุดคือ Kawasaki Z H2 ที่ 15,600 เหรียญสหรัฐ (Kawasaki Z H2 บ้านเรา 917,200 บาท) ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าการอัพระบบอัดอากาศเข้าไป ในเครื่องยนต์ที่ต้องถูกติดตั้งในพิ้นที่จำกัด…ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้ต้นทุนในการพัฒนาที่สูงมาก แต่ถ้าคุณยังจำได้ ในช่วงยุค 80 ทางค่าย Kawasaki ก็เคยทำรถที่มาพร้อมระบบอัดอากาศจนสร้างเสียงฮือฮามาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่ง ณ เวลานั้น มาพร้อมระบบอัดอากาศด้วยเทอร์โบใน Kawasaki GPZ 750 Turbo

ขุมพลัง 4 สูบ เทอร์โบ ใน Kawasaki GPZ750 ของเด็ดยุค 80

หากถามถึงสาเหตุในการกลับมาของเครื่องยนต์ที่มีระบบอัดอากาศ หลายคนคงเข้าใจว่า…ทำมาเพื่อเน้นความแรงและพละกำลังเป็นเหตุผลสำคัญ จนลืมไปว่า…มอเตอร์ไซค์สปอร์ตคลาสพันแทบจะทุกแแบรนด์ ณ ปัจจุบัน ทำแรงม้าได้ทะลุ 200 ตัว ด้วยเครื่องยนต์ความจุเดียวกัน แบบไม่ต้องง้อระบบอัดอากาศด้วยซ้ำ แล้วทำไม Kawasaki จึงต้องดิ้นรนทำเครื่องยนต์ Supercharge ออกมา ? ทั้งๆ ที่ก็มีต้นทุนในการพัฒนาที่สูงกว่ามาก รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่มากขึ้นเป็นเท่าตัว

มันคือ ความสุดยอด กับการที่ต้องยัดอุปกรณ์ต่างๆ และจัดวางอย่างเหมาะสม ในพื้นที่ที่จำกัด

เหตุผลมันอยู่ตรงนี้…ด้วยกฎหมายด้านมลพิษที่เข้มงวดในช่วงเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 หากคุณเป็นคนที่ติดตามวงการรถยนต์ จะพบว่าหลายๆ ค่ายพัฒนาเครื่องยนต์ในรูปแบบ Down Sizing คือ ลดปริมาตรความจุลง แต่ชดเชยด้วยการนำระบบอัดอากาศมาใช้ ผลที่ได้คือ เครื่องยนต์ที่มีพละกำลังสูง เทียบเท่าบล็อคที่มีขนาดใหญ่กว่าในอดีต ด้วยเหตุผลที่ต้องการลดการใช้เชื้อเพลิงและปล่อยมลพิษให้น้อยลงตามารตฐานไอเสียที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ เช่น ขุมพลัง T6 Polestar จาก Volvo ที่ทำกำลัง 362 แรงม้า จากเครื่องที่มีความจุเพียง 2.0 ลิตร แต่แน่นอนว่า…นั่นยังไม่เจ๋งเท่ากำลัง 200+ จากสองล้อในตระกูล H2 ที่มีความจุแค่ 1 ลิตร

ความจริงอย่างหนึ่งเกี่ยวกับพื้นฐานเครื่องยนต์และการปลดปล่อยมลพิษก็คือ ยิ่งหมุนด้วยรอบเครื่องสูงขึ้นเท่าไหร่ ไอเสียก็ยิ่งถูกปล่อยออกมามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งมันส่วนทางกับการปลดปล่อยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนตามมาตรฐานการด้านมลพิษ ซึ่ง Euro 4 กำหนดให้ปล่อยได้สูงสุดที่ 170 กรัม/กม. แต่สำหรับ Euro 5 ถูกจำกัดให้เหลือเพียง 100 กรัม/กม. โดยไฮโดรคาร์บอนส่วนเกินเหล่านี้ โดยมากจะเกิดจากส่วนผสมที่เผาไหม้ไม่หมดในรอบสูง ในช่วงที่มีการ Overlap ระหว่างวาล์วไอดีและไอเสีย ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว เครื่องยนต์ในรูปแบบ NA (Naturally Aspiration) จะมีอัตราส่วนกำลังอัดที่สูงกว่าเครื่องยนต์ในรูปแบบที่มีระบบอัดอากาศ ซึ่งใช้อากาศที่ถูกอัดเข้าไปเป็นตัวชดเชยกำลังอัดจากพื้นฐานของเครื่องยนต์ที่เสียไป ในช่วงรอบสูงวาล์วไอเสียจะต้องเปิดเร็วและปิดช้า เช่นเดียวกับวาล์วไอเสียที่เปิดเร็วและมีระยะเวลาการเปิดที่นาน ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการสร้างพละกำลังที่สูงขึ้น (และก็ส่งผลเรื่องไอเสียที่สูงขึ้นด้วย) เกิดเป็นช่องว่างให้ไอดีที่ไม่ถูกเผาไหม้ (หรือเผาไหม้ไม่สมบูรณ์) ถูกคายออกมาสู่ภายนอก

Kawasaki Z H2 เนคเก็ตไบค์ขุมพลัง Supercharge หนึ่งเดียวในโลก

เครื่องสี่สูบ พันซีซี. สองร้อยกว่าแรงม้า ปล่อย CO2 ต่างจากเครื่องสองสูบ หกสิบห้าแรงม้า…ไม่มากอย่างที่จินตนาการ

ยกตัวอย่าง…เครื่องยนต์ของ Kawasaki ZX-10R ทำแรงม้าสูงสุดได้ที่ 13,500 รอบ/นาที ส่วนเครื่องยนต์ของ Kawasaki Z H2 ให้กำลังในระดับที่ใกล้เคียงกัน ในรอบการหมุนเพียง 11,000 รอบ/นาที เท่านั้น ซึ่งด้วยรอบการหมุนที่น้อยกว่า ส่งผลให้การปล่อยไอเสีย น้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลโดยตรงต่อเรื่องอัตราสิ้นเปลือง และแรงบิดในรอบต่ำ – กลาง ที่รถที่มีระบบอัดอากาศด้วย Supercharge…ทำได้เหนือกว่า หากสังเกตจากตาราง แม้ว่า ZX-10 R กับ Z H2 จะมีแรงม้าที่ใกล้เคียงกัน แต่ปริมาณการปล่อยไอเสียกลับต่างกันพอสมควร เช่นเดียวกัน…เมื่อเทียบกับ Valcan 650 ที่มาพร้อมความจุ 650 ซีซี. พร้อมพละกำลังที่ต่างกันเกือบๆ 3 เท่า แต่กลับปล่อยไอเสียแบบต่างกันไม่มากอย่างที่คิด โดยนอกจากคาร์บอนไดออกไวด์จะต่างกันแล้ว หากอ้างอิงตามมาตรฐาน Euro 5 เทียบกันด้วยค่าคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) Kawasaki Z H2 ยังปล่อยก๊าซพิษที่น้อยกว่าที่ 1.23 กรัม/กม. (Kawasaki ZX-10 R ปล่อย CO ที่ 1.457 กรัม/กม. และ Kawasaki Valcan 650 ปล่อย CO ที่ 1.118 กรัม/กม.) เห็นได้ชัดว่า…แม้จะเป็น “เครื่องพัน” ที่มีแรงม้ามากกว่า “สองร้อย” แต่กลับปล่อยของเสียเป็นภาระให้ชาวโลกมากกว่ารถที่ใช้เครื่อง 2 สูบ 650 ซีซี. มากกว่าเพียงน้อยนิดแม้ว่าปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จะไม่ใช่พอยท์สำคัญในการกำหนดมาตรฐานไอเสีย Euro 5 (อาจเป็นเพราะ CO2 ไม่ใช่ก๊าซที่เป็นอันตราต่อการดำรงชีวิตมากเหมือนก๊าซอื่นๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์) แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่นิ่งนอนใจ เพราะในหลายประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) ใช้ปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นมาตรฐานในการเก็บภาษี สังเกตได้ว่า รถสปอร์ต 1000 ซีซี. ที่ออกมาในช่วงกลางปี 2020 เป็นต้นมา มีราคาสูงขึ้นแบบผิดหูผิดตา เช่น Honda CBR1000 RR-R SP ราคา  1,119,000  บาท (เจนเนอเรชั่นก่อน 779,000 บาท) หรือ Kawasaki ZX-10 RR 2021 ราคา 1,208,000 บาท (เจนเนอเรชั่นก่อน 998,000 บาท) ซึ่งราคาที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่วนใหญ่ก็มาจากการปรับภาษีโดยใช้ค่าการปล่อย CO2 มาคำนวณด้วยนั่นเอง

Kawasaki ZX-10 RR 2021 ค่าตัวขยับไปไกลกว่า 2 แสนบาท…CO2 เป็นเหตุ

รู้แล้วถึงกับร้อง…อ๋อ ! หลังจากที่สงสัยมานาน ว่าทำไมรถที่มี Superchage ติดตั้งมาให้แล้ว แต่กลับมีแรงม้าที่ใกล้เคียงกับเครื่อง NA ในพิกัดเดียวกัน เรื่องความแรง…ดูจะเป็นผลพลอยได้ แค่ความตั้งใจคือ การช่วยลดการปลดปล่อยมลพิษ ซึ่งก็ดูมีน้ำหนักและสามารถพิสูจน์ได้จริง ซึ่งแน่นอนว่ากำลังโดยรวมอาจไม่ต่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เครื่อง NA ให้ไม่ได้แน่ๆ ก็คือ แรงบิดที่เพิ่มขึ้นแบบมหาศาล จากอานิสงส์การปั่นของระบบอัดอากาศนี่แหละ คาแร็กเตอร์ของ “รถอัดลม” มันช่างไม่ธรรมดาแบบที่คนที่ไม่เคยได้สัมผัส…คงไม่เข้าใจจริงๆ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Motorcycle


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy