Home » ภาคจบ!…อเมริกันมัสเซิ้ลคาร์ในอดีต กับ Street Rod, Rad Rod, Low Rider, Hi-Riser และกระแสโต้กลับจากญี่ปุ่น

ภาคจบ!…อเมริกันมัสเซิ้ลคาร์ในอดีต กับ Street Rod, Rad Rod, Low Rider, Hi-Riser และกระแสโต้กลับจากญี่ปุ่น

by Admin clubza.tv

  

เอาหล่ะ ! วันนี้ปล้อนจะขอจบอเมริกันมัสเซิ้ลคาร์ในอดีต กับ Street Rod, Rad Rod, Low Rider, Hi-Riser และกระแสโต้กลับจากญี่ปุ่นที่ได้รับไปหลายสิบปีก่อน นำไปปรับแต่งจนเป็นแนวตัวเอง แล้วตีย้อนไปยังฝั่งอเมริกาด้วย มันคือแนว Japanese Rod Riguez อันแปลกแหวกแนว ไม่ค่อยมีใครทราบ วันนี้เราจะพูดถึงมันด้วย 

 Street Rod รับ(คุณนาย)เฉิดฉายบนถนน 

 ถ้าเป็น Street Rod จะออกไปทางการนำรถอเมริกันรุ่นเก่า เป็น 4 ประตู ซีดานก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสองประตูเท่านั้น (แต่ควรมีปีลึกกว่า 1948  ขึ้นไป) มา ‘ทำใหม่’ ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดว่าต้องทำให้เป็นแบบของเดิม เหมือนเดิมเท่านั้น เพราะเขาไม่ได้ปิดกั้นว่าต้องเป็นคลาสสิคคาร์เต็มรูปแบบ นั่นคือถ้าเราอยากจะ ‘ทำใหม่’ ให้มันทันสมัย สะดวกสบาย น่าใช้ขึ้น (Modernized Retro) ก็ยังถือว่าเป็น Street Rod ได้ จึงไม่เป็นภาระ วุ่นวาย เงื่อนไขมากมาย ค่าใช้จ่ายเยอะ เหมือนแบบจะเอาเหมือนเดิมเป๊ะ เราสามารถนำเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง การตกแต่งภายใน ภายนอก ตามที่สะดวก ถนัด ชอบ ไปปรับแต่งได้ แต่ตัวรถต้องคงความดั้งเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด เขาว่ากันที่ปีลึกกว่า 1948 ขึ้นไปเป็นหลัก เอาไว้ขับเฉิดฉาย โชว์ ไม่ได้ทำออกมาเพื่อเน้นแข่ง บ้าพลัง เหมือน Hot Rod 

Rat Rod จับฉ่าย ร้ายนะตะเอง

  ส่วน Rat Rod นั้นเป็นพวก ‘Hot Rod ไม่สุดซอย’ มีทั้งแบบงานยังไม่เสร็จดี หาของไม่ได้ งบยังไม่พอ ทำคาอยู่ ออกไปทาง พอประทังไปพลางก่อน และแบบที่ตั้งใจจะให้มันออกมาสุกๆดิบ แบบงานยังไม่เสร็จ มีหลายบริบทที่อเมริกันใช้เรียกพวกที่พยายามจะทำ American Hot Rod แต่หลงเซิ้งออกไปทาง ‘จับฉ่าย’ หัวมังกุท้ายมังกร ของไม่ตรงรุ่น มั่วยี่ห้อประมาณนี้ 

 Low Rider สายย่อ ขอมันส์ 

  อีกแขนงหนึ่งที่แตกตัวออกมาจากรากเหง้า Hot Rod คือพวก ‘กดต่ำ-Low Rider’ ที่เราเห็นที่อเมริกา ญี่ปุ่นและบ้านเรา ยุคแรกๆนั้นเอกลักษณ์นอกจะเตี้ยติดพื้นแล้ว เล่นกันที่ล้อซี่ลวด ยางแก้มขาว ตัวรถเล่นสีแปร๋นฉูดฉาด แน่นอนว่าช่วงล่างต้องเป็นไฮโดรลิค ถุงลม กระดกขึ้นลงได้ตามบังคับคล้ายอวัยวะเพศชายตอนแข็งตัว 

  ยุคที่มันถือกำเนิดนั้นย้อนไปถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือช่วง1940’s เป็นต้นมา ต้นแบบอยู่ที่แอลเอ Los Angeles โดยพวกเม็กซิกัน-อเมริกัน ทำกันง่ายๆแบบตัดสปริง รื้อทำเฟรม ดัดแต่งช่วงล่างใหม่ พวกนี้ชอบสีฉูดฉาด เป็นการจารึกเอกลักษณ์นี้ไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง จากนั้นก็มีกระแสกลับมาเป็นระยะ จนถึงยุคเวสท์โคสต์ฮิปฮ๊อป ประมาณยุค 1990’s ซึ่งผิวพรรณสันฐานของนักเล่น นักขับมีเพิ่มพวกสีมืดขี้นมาแจมเพิ่มขึ้น ส่วนตัวรถก็จะยังฉูดฉาดเหมือนเดิม มีการนำโฟล์คเต่า CHEVROLET Impala มาแต่งกันมากมาย   

  ช่วงแรกที่อยู่ๆนำรถใช้งานทั่วไปๆกดเตี้ย สิ่งที่เจอกันคือล้อแบะออก ยิ่งตอนรถโยนตัวขาลงจะดูบานแบะออกไปอีก ยิ่งกดเตี้ยมากแคมเบอร์ก็จะยิ่งมีค่าลบมาก โดยเฉพาะพวกช่วงล่างปีกนก พวกเซมิเทรลลื่งอาร์ม นอกจากจะไม่ปลอดภัย การเกาะถนนทรงตัวเสียแล้ว อายุใช้งานยังลดลงอีก จนตอนหลังเมื่อมีชุดกดเตี้ยออกมารับเฉพาะงานนี้ จึงเริ่มเข้าที่เข้าทาง ใช้งานได้ดีขึ้น ผลที่ตามมาคือ การเล่น ‘กดเตี้ย-ล้อแบะ’ นี้มันดันไปเข้าตานักเล่นกลุ่มหนึ่ง เกิดกระแส ‘ซุปเปอร์แคมเบอร์’ ขึ้นมา คล้ายๆบ้านเรายุคสามสิบปีก่อนที่เอาพวก BMW E30 มากดเตี้ย ออกมาล้อแบะ มีแคมเบอร์ลบแบบนี้ ตอนหลังญี่ปุ่นออกชุดแต่งสำเร็จออกมา ใช้กับพวกที่ชอบแต่งแคมเบอร์ลบแบะมากๆนี้ ลองไปศึกษาดูพวก DATSUN/NISSAN Skyline GT-R พวก Godzilla ทั้งหลาย ไล่จาก R31, R32 เรื่อยมา  ว่าชุดแต่งของเขาออกแบบมาอย่างไร ใส่แล้วเป็นอย่างไร แก้ปัญหาที่ตามมากับซุปเปอร์แคมเบอร์ได้หรือไม่

Hi-Raisers สายโย่ง หยิ่งเชิด  

  จริงๆแล้วในช่วงยี่สิบปีที่แล้วนั้นที่อเมริกาเขามีการเล่นที่ออกจะตรงกันข้ามกับแนว Low Rider ที่เรียกว่าแนว Hi-Risers คราวนี้นำรถขับหลัง ไซซ์ยักษ์ ยกเฟรม ใส่สเปเซอร์เข้าไป ที่โน่นเขามีชุดยกออกแบบมาเฉพาะงานยกสูง สั่งทั้งยวงเข้าไป ไม่ต้องมาห่วงเรื่องมุมล้อ การหักเลี้ยว เพราะมีการแก้มาเสร็จ ซึ่งรถพวกนี้ไม่ใคร่จะมีใครเฟอะฟะ ขับเร็วกัน ที่สังเกตุคือนิยมรถเครือ GM เช่น Chevrolet, Oldsmobile, Buick, and Cadillac แต่งมาแบบยกสูง คือนอกจากจะใส่ล้อกัน 20, 24, 26, 28 ถึง 30 นิ้วแล้ว ใช้ไฮโดรลิค ปั๊มลมเหมือนพวก Low Rider แต่คราวนี้หันมายกกระดกหน้าแทน ใส่เครื่องเสียงชุดใหญ่เข้าไป เล่นแร๊ปกันตามงานสตรีทโชว์ ช่วงแรกๆเห็นเอารถค่าย GM รุ่นเก่า พวก CHEVROLET Impala ตัวประมาณปี 1970’s และตัว Caprice ช่วง 1980’s ไม่ก็ Pontiac ช่วง 1990’s  มาทำ และก็ยังยึดแน่นกับรถค่าย GM เป็นหลัก ไม่ทราบเหมือนกันว่าเพราะอะไร 

  ว่ากันตามแนวเพลง คือสาย Low Rider นั้นออกฮิปฮ็อปแนวชายฝั่งตะวันตก มีแอลเอเป็นต้นสาย สาย Hi-Risers จะออกแร็ป แนวทางใต้ มีแอตแลนต้าเป็นต้นสาย !!! 

“Rod Riguez” – Hot Rod  เมื่อญี่ปุ่นสวนกลับ 

  ตอนต้นเรื่องได้กล่าวว่ากระแส Hot Rod นั้นได้กระจายความนิยมไปทั่วโลก ยกตัวอย่างอังกฤษ สวีเดน ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ซึ่งประเทศหลังนี้เอง ที่มีการปรับไปสู่แนวที่ตัวเองชอบและถนัด คือนำมาเข้ากรอบที่ตัวเองกำหนดขึ้น เป็นแนวที่เรียกว่า “Rod Riguez (Japanese) Hot Rod” ซึ่งวันนี้เราจะมาเจาะตรงนี้ก่อน เพราะแนวประเทศอื่นพรรคพวกเขาว่ากันไปหลายรอบแล้ว

  เมื่อระดับญี่ปุ่นลงมาเล่นทั้งที ก็ย้อนลึกไปถึง FORD Model A ย้อนไปถึงปี 1930 โน่น ซะเลย เน้นตัว Tudor Sedan  ว่ากันจริงๆแล้ว มันก็จะออกผสมๆกัน คือมีทั้งความเป็น Hot Rod แนวอเมริกันดั้งเดิม บวกกับแนวกดเตี้ยต่ำต้อยแบบโลว์ไรเดอร์ แต่กล้าหาญที่จะตัด เฉือนบางส่วน บางดีไซน์ที่ ‘กูไม่ชอบ’ ออกไป ไม่ว่าจะเป็นกระจังหน้า กันชนหน้าของรถ บานประตู กาบข้าง แม้กระทั่งเสา A เสา B มุมกระจกหน้าหลัง มุมหลังคา ยันเฟรมรถ ที่มากับค่ายอเมริกันยี่ห้อ รุ่น ดังๆ อย่าง CADILLAC, CHEVROLET  ก็ตาม พี่ยุ่น ‘เจื๋อน’ เรียบมาแล้ว และสิ่งที่พวกเขาบรรจงใส่ ‘งานฝีมือ’ เข้าไปใหม่ ก็ออกมาดีมากด้วย คือไม่มีเสียของทำออกมาแล้ว ‘เสียสุนัข’ นั่นคืองานศิลป์ งานโครงสร้าง ส่วนการโมดิฟายเครื่อง ช่วงล่าง ล้อ ยาง ระบบขับเคลื่อนส่งทอดกำลัง พวกเขามาเต็ม ครบทั้งของและวิชาความรู้  งานที่พวกเขาถนัดน่าจะเป็นการตกแต่งภายใน ตั้งแต่พื้น เบาะ แผงคอนโซล เบรคมือ ยันใต้หลังคา 

  ที่ญี่ปุ่นนั้นมีนักเล่นบางกลุ่มที่นิยมเล่นรถยุโรป อเมริกันมากเหมือนกัน ไปกันสุดซอยด้วย อย่างแนว Hot Rod นั้นญึ่ปุ่นบอกสบายมาก มีเงิน มีการศึกษาหาความรู้ นำเข้าพวกรถเก่า รถสะสม เครื่องยนต์ ชิ้นส่วน รถอเมริกันและ Hot Rod แบบจริงจัง มีการตั้งกลุ่มก๊วนเล่นกับมันมานาน ผลงานออกมาโชว์มากมาย นับแต่ช่วงกลาง 1980’s เป็นต้นมา เล่นไปเล่นมาเบื่อที่ถูกคนอื่นมากำหนดแนว จึงเริ่มมีการนำสู่แนวของพวกเขาเอง แม้แรกๆจะรับเอาวัฒนธรรมเม็กซิกันอเมริกัน พวกชิคาโน่ชานแอลเอมา เริ่มจากแนวกดเตี้ยโลว์ไรเดอร์ (Low Rider) เตี้ยมั่กกั่ก มีการแต่งเอารถหรูของตัวเองมาทำแนว VIP ออกมาโคตรแจ่ม นั่งแล้วเหมือนเจ้าพ่อยากูซ่า บ้ากันอยู่พักหนึ่ง จนประมาณต้นยุค 2000’s เป็นต้นมา วงการ ‘Japanese Hot Rod’ ก็ฉีกออกสู่แนวที่ตัวเองกำหนด และสร้างเป็นแม่แบบอกมา มันคือ Rod Riguez นี่เอง

    นื่คือการแตกแขนงของภายใต้ ‘American Car’ ที่เป็นไฟลั่มหลัก แตกซ่านไปยัง Hot Rod, Street Rod, Rad Rod, Low Rider, Hi-Risers จนถึง Japanese Rod Riguez น่าจะเสริมสิ่งน่ารู้แก่ท่านผู้อ่านบ้างนะคร๊าบ…..  

“American Car” ตอน “Hot Rod” 


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy