Home » ออกรถใหม่ ออกรถป้ายแดง 1 คัน ต้องเสียค่าอะไรบ้าง ?

ออกรถใหม่ ออกรถป้ายแดง 1 คัน ต้องเสียค่าอะไรบ้าง ?

รายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ เมื่อคุณออกรถใหม่ 1 คัน

by Admin clubza.tv
ออกรถใหม่ ออกรถป้ายแดง 1 คัน ต้องเสียค่าอะไรบ้าง ?

ในยุคที่การเดินทางด้วยรถสาธารณะยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตในหลายๆ ด้าน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก…ที่ผู้ใช้รถใช้ถนนหลายๆ คนมีความต้องการที่จะมีรถเป็นของตัวเองไว้ใช้สัญจรไปยังสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีรถหลากหลายรุ่น หลากหลายรูปแบบให้เลือกมากมายในราคาเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณ 450,000 บาท ขึ้นไป (โดยเฉลี่ยของรถที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด คือ รถในระดับราคา 600,000 บาท) แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือ ในการออกรถแต่ละคัน…ไม่ได้มีแค่เงินดาวน์ และค่างวดสำหรับการผ่อนเท่านั้น #ทีมขับซ่า ได้รวบรวมรายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ เมื่อคุณมีรถ 1 คัน ในครอบครอง

ซื้อรถ 1 คัน…นอกจากค่างวด ยังมีค่าอื่นๆ ให้ “ปวดหัว” อีกไม่น้อย

เงินดาวน์และค่างวด

ในกรณีนี้ #ทีมขับซ่า เคยยกตัวอย่าง ออกรถ 1 คัน เสียดอกเบี้ยกี่บาท ? ไปแล้ว งานนี้จึงขอนำตัวเลขที่เคยคำนวนไว้ มาต่อยอดเพื่อให้เห็นภาพ สำหรับรถที่มีราคา 600,000 บาท ดาวน์ 20% และผ่อนนาน 84 เดือน ซึ่งหากยึดรายละเอียดตามนี้ จะต้องเตรียมเงินดาวน์ไว้ที่ 120,000 บาท และเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับผ่อนรถยนต์คันดังกล่าวไว้ที่ 6,510 บาท/เดือน

ออกรถใหม่ทั้งที…แต่ไม่มี้งืนพอเติมน้ำมัน เรื่องโจ๊ก…ที่เกิดขึ้นได้จริง เสมอมา

ค่าเชื้อเพลิง

ไม่ว่ารถที่คุณซื้อมาจะเป็นรถเครื่องยนต์สันดาป, รถไฮบริด หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ก็ล้วนแล้วแต่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น…สำหรับรถในระดับราคานี้ ส่วนใหญ่เป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปล้วนๆ อัตราสิ้นเปลืองในการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 18 กม./ลิตร โดยหากใช้งานต่อเดือน 2,500 กม. (หรือประมาณวันละ 100 กม.) เท่ากับว่าในแต่ละเดือน จะต้องใช้น้ำมันประมาณ 140 ลิตร ในแต่ละเดือนจะต้องเสียค่าเชื้อเพลิงราว 4500 – 5000 บาท/เดือน ส่วนถ้าใช้รถน้อยกว่านั้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็จะลดลงตามลำดับ

ภาษีประจำปี 

รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน  7 ที่นั่ง มีรายละเอียดการเสียภาษีประจำปีตามขนาดความจุของเครื่องยนต์ โดย 600 ซีซี. แรก จะมีอัตราอยู่ที่ 0.5 บาท ต่อ ซีซี. ส่วน ซีซี. ที่ 601 – 1,800 จะเสียภาษี 1.5 บาท ต่อ ซีซี. (และ ซีซี. ที่ 1,801 ขึ้นไป คิดภาษี ซีซี. ละ 4 บาท) ในครั้งนี้ขอยกตัวอย่างรถที่ใช้เครื่องยนต์ความจุ 1,000 ซีซี. ค่าใช้จ่ายใน 600 ซีซี. แรก จะอยู่ที่ 600 x 0.5 = 300 บาท, ส่วน ซีซี. ที่ 601 – 1,000 อยู่ที่ 400 x 1.5 = 600 บาท เท่ากับว่า รถคันนี้จะต้องเสียภาษีประจำปีทั้งสิ้น 300 + 600 = 900 บาท/ปี

***หลังจากปีที่ 6 เป็นต้นไป อัตราภาษีจะลดลงปีละ 10% จนปีที่ 10 จะลดเหลือในอัตรา 50% คงที่ เช่น ในปีที่ 6 เสียภาษี 90% ของ 900 บาท เท่ากับ 810 บาท, ปีที่ 7 เสียภาษี 80% ของ 900 บาท เท่ากับ 720 บาท จนกระทั่งปีที่ 10 เป็นต้นไป เสียภาษีในอัตรา 50% ของ 900 บาท เท่ากับ 450 บาท

พรบ. + ประกันภัย ควรมีไว้เพื่อความอุ่นใจยามฉุกเฉิน

พรบ. และประกันภัย

พรบ. เป็นเสมือนประกับภัยภาคบังคับ ที่รถทุกคันต้องมีเพื่อความคุ้มครองในเบื้องต้น กรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยค่าใช้จ่ายในการทำ พรบ. สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล ต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 650 บาท/ปี (หากไม่ทำ พรบ. จะไม่สามารถต่อภาษีประจำปีได้ และอาจต้องระวังโทษปรับสูงสุดถึง 10,000 บาท) ส่วนประกันภัยภาพสมัครใจ มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ประกับภัยชั้น 3 ในราคาเริ่มต้นประมาณ 2,000 บาท จนถึงประกับภัยชั้น 1 ที่มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นประมาณ 7,000 บาท/ปี

ค่าดูแลตามระยะ และค่าดูแลรักษา

สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการจะมีรถสักคัน คือ ค่าใช้จ่ายในการดูแลตามระยะ ซึ่งโดยทั่วไป สำหรับรถในระดับราคานี้ จะต้องเข้าศูนย์เพื่อเช็คระยะในทุกๆ 10,000 กม. จะอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท/ครั้ง ดังนั้น…หากใช้รถในระยะทางประมาณ 20,000 กม. + ต่อปี จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอย่างน้อย 3,000 บาท/ปี นอกจากนี้อาจจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอื่นๆ เช่น ค่าล้างรถ, ค่าอุปกรณ์ตกแต่ง, ค่าทางด่วน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ ค่าใช้จ่ายในการครอบครองรถ 1 คัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น…การจะออกรถป้ายแดงสักคัน เราจึงควรคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ เพื่อให้เราสามารถใช้รถได้อย่างปกติสุข และไม่รู้สึกว่ารถป้ายแดงที่ออกมานั้น สร้างความลำบากในการใช้งานมากจนเกินไป

 

อัพเดท ฤกษ์ออกรถมงคล ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2565


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy