เรียกได้ว่า ณ เวลานี้ เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของ มาตรการสนับสนุนรถ EV ให้ผู้ใช้รถใช้ถนน หันมาให้ความสนใจและเลือกใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น ตามนโยบายเฟสแรก หรือที่เราคุ้นกันในชื่อ EV 3.0 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ ก่อนที่บรรดาค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการ จะต้องเริ่มการผลิตรถเพื่อชดเชยตามปริมาณรถที่นำเข้ามาจำหน่ายในเงื่อนไขที่กำหนด หรืออัตราส่วน 1:1 สำหรับการผลิตคืนในปี 2024 และ 1:1.5 สำหรับรถที่ผลิตคืนภายในปี 2025 โดยสำหรับรถที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะผลิตรถโมเดลใดก็ได้ แต่หากเป็นรถที่ราคาเกิน 2 ล้านบาท ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท จะต้องผลิตรถโมเดลเดียวกับที่นำเข้ามาจำหน่าย
ใจความสำคัญของ มาตรการสนับสนุน EV 3.0 สำหรับรถ EV ที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีแบตเตอรี่ขนาด 30 kWh ขึ้นไป คือ การมอบเงินสนับสนุนเป็นจำนวน 150,000 บาท พร้อมปรับลดภาษีสรรพสามิต จาก 8 เหลือ 2% (ส่งผลให้ราคารถ EV ที่เข้าเงื่อนไข ปรับลดลงจากราคาที่ตั้งไว้ประมาณ 200,000 – 250,000 บาท) แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีข่าวแว่วออกมาว่า งบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุน EV 3.0 จะหมดไปตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนกันยายน ที่ผ่านมา แต่หากคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณสนับสนุน EV 3.0 อีกเป็นจำนวน 1,024 ล้านบาท จากเดิม 2,923 ล้านบาท ซึ่งคาดหมายกันว่าจะมีการจดทะเบียนรถ EV ในช่วงเวลาของโครงการที่ประมาณ 20,000 คัน (แต่ ณ ปัจจุบัน มีรถ EV ที่จดทะเบียนเข้าร่วมโคงการแล้วถึง 37,000 คัน) และด้วยปริมาณการจดทะเบียนของรถไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางภาครัฐจึงหารือเพื่อที่จะขยายเวลาการจดทะเบียนรถ EV จากเดิม คือ ต้องจดทะเบียนให้เสร็จสิ้น ก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2566 จึงจะเข้าเงื่อนไขการสนับสนุนดังกล่าว เป็นการยืดเวลาในการจดทะเบียนรถภายในสิ้นเดือนมกราคม 2567 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จากเงื่อนไขดังกล่าว อาจทำให้เกิดปัญหา การดึงเวลาเพื่อจดทะเบียน (เพื่อที่จะให้ได้ชื่อว่าเป็นรถที่จดทะเบียนในปี 2024…ไว้ดึงราคาเวลาขายต่อ) นั่นอาจส่งผลให้กลับสู่วังวนเดิม คือ การไม่สามารถจดทะเบียนได้ทันเวลา และมีโอกาสที่จะหลุดจากเงื่อนไขการได้รับเงินสนับสนุนในมาตรการ EV 3.0
มาตรการสนับสนุนรถไฟฟ้าระยะที่ 1 (EV 3.0) ระหว่างปี พ.ศ. 2565 -2568
เพื่อไม่ให้เกิดรอยต่อของมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ล่าสุดมีการนำเสมอมติให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เร่งอนุมัติมาตรการสนับสนุน EV 3.5 ให้เป็นรูปธรรม หลังจากสิ้นมาตรการสนับสนุน EV 3.0 ในช่วงสิ้นปี 2566 นั่นเอง จึงทำให้ผู้ใช้ที่กำลังให้ความสนใจรถ EV เกิดความลังเล ว่าจะออกรถในปีนี้ หรือจะรอมาตรการสนับสนุน EV 3.5 ซึ่งก็จะได้รับเงินสนับสนุนเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น เงื่อนไขในการสนับสนุนระหว่างมาตรการ EV 3.0 และ EV 3.5 มีความแตกต่างกันพอสมควร และเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อป้องกันความสับสน โดยมีรายละเอียดดังนี้
มาตรการสนับสนุนรถไฟฟ้าระยะที่ 2 (EV 3.5) ระหว่างปี พ.ศ. 2567 -2570
– สำหรับรถ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท
ประเภทรถ | รถยนต์ไฟฟ้า* | รถกระบะไฟฟ้า | มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า |
แบตเตอรี่ 10- 50 kWh | ลด 50,000 บาท | – | – |
แบตเตอรี่ 50 kWh ขึ้นไป | ลด 100,000 บาท | ลด 100,000 บาท | – |
ลดอากรนำเข้า (67-68) | สูงสุด 40% (10- 50 kWh) สูงสุด 20% (50 kWh ขึ้นไป) | ผลิตในประเทศ | – |
ลดภาษีสรรพสามิต | จาก 8 เหลือ 2% | 0% | – |
*รถยนต์ต้องมีแพลนจะผลิตรถ BEV รุ่นใดก็ได้ในประเทศ (นำเข้า 2567-2568 ผลิตชดเชยจำนวน 2 เท่า ภายในปี 2569 หรือชดเชยจำนวน 3 เท่า หากขยายถึงปี 2570)
– สำหรับรถ EV ราคา 2 – 7 ล้านบาท
ประเภทรถ | รถยนต์ไฟฟ้าราคาแนะนำ 2 – 7 ล้านบาท* |
ลดอากรนำเข้า (67-68) | สูงสุด 20% |
ลดภาษีสรรพสามิต | จาก 8 เหลือ 2% |
*รถยนต์ต้องมีแพลนจะรถ BEV รุ่นเดียวกับที่นำเข้าในประเทศ (นำเข้า 2567-2568 ผลิตชดเชยจำนวน 2 เท่า ภายในปี 2569 หรือชดเชยจำนวน 3 เท่า หากขยายถึงปี 2570)
หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า พอยท์หลักของการสนับสนุน ซึ่งคือ จำนวนส่วนลดระหว่าง EV 3.0 และ EV 3.5 ยังคงต่างกันอยู่มาก จากเดิมที่มีส่วนลดอยู่ระหว่าง 70,000 – 150,000 บาท ในมาตรการ EV 3.0 ถูกปรับลดลงมาเหลือเพียง 50,000 – 100,000 บาท ภายใต้มาตรการ EV 3.5 แต่นั่นอาจจะยังไม่สำคัญเท่า ความเข้มข้นในการเข้าเงื่อนไข จากเดิม…รถ EV ที่มีแบตเตอรี่ความจุเกิน 30 kWh ก็จะได้รับส่วนลดตามมาตรการเต็ม 1.5 แสนบาท แล้ว แต่สำหรับมาตรการใหม่ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณานั้น รถที่จะได้รับส่วนลดเต็ม 1 แสนบาท จะต้องเป็นรถ EV ที่มีความจุแบตเตอรี่มากกว่า 50 kWh ขึ้นไป เช่น Ora Good Cat 500 Ultra, MG 4 Electric หรือ BYD ในตระกูล Extended Range แต่หากเป็นรถ EV ไซส์มาตรฐาน ที่มีแบตเตอรี่ความจุน้อยกว่า 50 kWh เช่น Ora Good Cat 400 Pro, BYD Standard Range หรือ Neta V ซึ่งจากเดิมเคยได้รับส่วนลดถึง 1.5 แสนบาท จะได้รับเพียง 5 หมื่นบาท เท่านั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงมาตรการสนับสนุน EV 3.5
ดังนั้น…หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังมองหารถไฟฟ้า โดยเฉพาะกับรถในระดับราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท มาใช้งานสักคัน คงแทบจะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องรอให้มาตรการสนับสนุน 3.0 ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ดูจะคุ้มค่าที่สุด ณ เวลานี้ ผ่านไป เพราะเมื่อพิจารณาจากจำนวนเงินและเงื่อนไขในการสนับสนุนแล้ว ต้องยอมรับว่า มาตรการ ณ ปัจจุบัน ส่งผลต่อแรงจูงใจในการตัดสินใจได้สูงกว่ามาตรการที่จะมาถึงในอนาคตค่อนข้างมาก อีกทั้งการเลือกซื้อรถ EV ผู้บริโภคยังมีทางเลือกที่หลากหลายจากการนำเข้าของทางผู้ผลิต (ซึ่งทางเลือกเปิดกว้างกว่าการที่รถ EV แต่ละแบรนด์จะเริ่มผลิตในประเทศ) เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตัวเองมากที่สุดอีกด้วย
BMW i5 ซีดานพลังไฟฟ้า ประเดิมทำตลาดด้วย 2 รุ่นย่อย ทั้ง eDrive และ xDrive ราคาเริ่มต้น 4.999 ล้านบาท