Changan Automobile นับเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ ที่ถือว่าประสบความสำเร็จ ทั้งการทำตลาดในประเทศไทย รวมถึงตลาดในระดับโลก ซึ่งในปีที่ผ่านมานั้น Changan Automobile มียอดขายรวมทั้งสิ้น 2.098 ล้านคัน (เติบโต 11.9%) โดยเป็นยอดขายในต่างประเทศ 358,000 คัน ซึ่งนับทะลุสถิติสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์มา 4 ทศวรรษ นั่นจึงเป็นแรงบวกให้แบรนด์ Changan Automobile พร้อมที่จะขยายฐานการผลิตให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงปลายปี 2023 ทางค่ายประกาศลงทุนสร้างโรงงานเฟสแรกมูลค่า 8.8 พันล้านบาท ในประเทศไทย โดย ตั้งเป้าผลิต 100,000 คันต่อปี และจะเริ่มเดินสายการผลิตในปี 2025
ความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของ Changan คงหนีไม่พ้น การนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างภาพลักษณ์แบรนด์ด้วยการขับขี่อัจฉริยะระดับไฮเอนด์ ซึ่งรถระดับเรือธงอย่าง Avatr 11 และ Avatr 12 ถือเป็นภาพสะท้อนแนวทางของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกับ ยังร่วมมือกับพันธมิตรระดับชั้นนำ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของตัวรถภายในค่าย โดยร่วมมือกับบริษัทชั้นนำ 3 แห่งในอุตสาหกรรม ได้แก่ CATL, Ganfeng Lithium Industry และ NIO ซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานใหม่ๆ เช่น การวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่พลังงาน ห่วงโซ่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ ที่จะช่วยยกระดับการใช้งานของรถ BEV, PHEV ภายใต้แบรนด์ Changan ในอนาคต
โรงงานผลิตและเชื่อมชิ้นส่วน
นอกจากแนวทาง รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรที่พร้อมสนับสนุนให้แบรนด์ Changan พัฒนาในแนวทางที่ดีขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของตัวรถ คงหนีไม่พ้นมาตรฐานการผลิตที่ดี ซึ่ง Changan Automobile มีฐานการผลิตหลักๆ อยู่ที่เมืองฉงฉิ้ง ประเทศจีน โดยโรงงานแห่งนี้ ประกอบด้วยโรงงานขึ้นรูป บนพื้นที่ 23,000 ตารางเมตร ซึ่งทำหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ก่อนที่ชิ้นส่วนเหล่านั้น จะถูกส่งต่อไปยังโรงงานประกอบในพื้นที่ใกล้เคียง โดยโรงงานขึ้นรูปแห่งนี้ มีความสามารถที่จะผลิตปั๊มความเร็วสูงอัตโนมัติ 3 สาย โดยมีอัตราการผลิตสูงสุด 10 ครั้ง/นาที ปัจจุบันรับผิดชอบผลิตปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วนรุ่น AVATR 11,12, DEEPAL L07 และ OSHAN X5 เป็นหลัก
โรงงานขึ้นรูปของ Changan Automobile จัดวางไปด้วยแม่พิมพ์สำหรับการผลิตรถยนต์ ซึ่งได้ถูกคิดค้นและพัฒนาโดยฝ่ายคิดค้นและพัฒนาแม่พิมพ์ของของบริษัท ซึ่งครอบคลุมแม่พิมพ์ขนาดใหญ่ที่หลากหลาย เช่น ชิ้นส่วนตัวรถ ชิ้นส่วนโครงสร้าง ประตู และแม่พิมพ์ชิ้นส่วนอื่ ๆ โดยในส่วนแม่พิมพ์นั้น 40% ของหนึ่งแม่พิมพ์จะสามารถขึ้นรูปชิ้นส่วน 2 ชิ้น นั่นหมายความว่า หนึ่งแม่พิมพ์เดี่ยวจะสามารถขึ้นรูปได้ 2 ชิ้นในเวลาเดียวกัน เพื่อลดต้นทุน R&D ให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงสุด โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาโรงงานได้รับการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลดเวลาเปลี่ยนแม่พิมพ์ลดลงเหลือ 10 นาที ซึ่งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและความปลอดภัยของอุปกรณ์ของสายอัตโนมัติ ตรงตามข้อกําหนดการผลิตแบบยืดหยุ่นของสายการผลิตอัตโนมัติมากขึ้น และตอบสนองความต้องการปั๊มขึ้นรูปรถยนต์ที่ทันสมัย และเมื่อปั๊มขึ้นรูปเสร็จเรียบร้อย ในกระบวนการสุดท้ายจะมีการตรวจจากพนักงานอีกรอบเพื่อให้แน่ใจว่าชิ้นส่วนทั้งหมดได้มาตรฐานหรือไม่ ถ้าหากว่าไม่จะมีการคัดแยกไว้
หลังจากเสร็จสิ้่นกระบวนการปั๊มขึ้นรูป ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง จะถูกส่งต่อไปยังโรงเชื่อม ซึ่งจะรับหน้าที่ผลิตรถรุ่น AVATR 11,12, DEEPAL L07 และ OSHAN X5 เป็นหลัก (เป็นสายการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ที่ลงทุนร่วมระหว่าง Changan Automobile, Huawei และ CATL) ซึ่งกระบวนการเชื่อมเป็นกระบวนการที่ 2 จาก 4 กระบวนการหลักของการผลิตยานยนต์ โดยที่โรงงานของ Changan Automobile ส่วนใหญ่ใช้กรรรมวิธี การเชื่อมเฉพาะจุด, การเชื่อมแบบ C02, การย้ำหมุดรีเว็ท และกระบวนการอื่นๆ เพื่อเชื่อมต่อชิ้นส่วนโลหะที่ผลิตขึ้นรูปแล้วประมาณ 2,000 ชิ้น เข้าด้วยกัน เมื่อเสร็จจะจะถูกขนส่งไปยังแพลตฟอร์ม WBS และเข้ากระบวนการการพ่นสี
โรงประกอบรถยนต์
โรงงานประกอบรถยนต์ Changan Automobile รับหน้าที่หลักในผลิต AVATR 11,12, DEEPAL L07 และ OSHAN X5 ซึ่ง DEEPAL L07 เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกของ Changan Automobile ที่สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มไฟฟ้า 100% โรงงานแห่งนี้ ประกอบไปด้วย สายประกอบแชสซี ที่ใช้ระบบประมวลผลจากภาพถ่าย จากนั้น…คิวรถและข้อมูลยานพาหนะเบื้องต้นจะถูกส่งไปยังโปรเซสเซอร์ผ่าน AVI และข้อมูลชิ้นส่วนยานยนต์จะถูกส่งไปยังโปรเซสเซอร์ในเวลาเดียวกัน และสุดท้ายข้อมูลจะถูกส่งให้กับฝ่ายคุณภาพเพื่อเปรียบเทียบข้อมูล และรับรองว่ามีการติดตั้งอย่างถูกต้อง โดยความสามารถในการผลิตของโรงงานแห่งนี้ จะผลิตรถได้ชั่วโมงละ 60 คัน
ในอนาคต Changan Automobile มีแพลนจะเปิดสายการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ที่ จ.ระยอง ซึ่ง ณ ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยโรงงานแห่งนี้ มีศักยภาพครอบคลุมทุกขบวนการผลิตแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น การพ่นสี ประกอบตัวถัง ติดตั้งเครื่องยนต์และแบตเตอรี่ โดยตั้งเป้นการผลิตในโรงงานแห่งนี้ไว้ที่ 100,000 คัน ต่อปี เพื่อจำหน่ายในประเทศ รวมถึงส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง ซึ่งนอกจากการลงทุนในเฟสแรกมูลค่า 8,800 /ล้านบาท แล้ว ทาง Changan Automobile ยังวางแผนที่จะเพิ่มทุนในเฟสที่ 2 อีกจำนวน 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ในแผนระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพของฐานผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ โดยมีเป้าหมายการผลิตสูงสุดที่ 200,000 คันต่อปี