Home » ย้อนรอย 15 ปี BUGATTI Veyron 16.4 โปรดักชันคาร์คันแรก ที่ทะลุเพดาน 400 กม./ชม.

ย้อนรอย 15 ปี BUGATTI Veyron 16.4 โปรดักชันคาร์คันแรก ที่ทะลุเพดาน 400 กม./ชม.

by Admin clubza.tv

Veyron 16.4 พร้อมลงไลน์ผลิตอย่างเป็นทางการในปี 2005 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

ปี 2020 ครบรอบ 15 ปี ‘Veyron 16.4’ อภิมหาโปรเจคจาก Bugatti ที่หัวเรือใหญ่อย่าง ‘Volkswagen Group’ ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล เพื่อฟื้นคืนตำนาน Bugatti ให้หวนกลับมาสู่ตลาด Hyper Sport Car อีกครั้ง และก่อนที่ Veyron 16.4 จะสมบูรณ์แบบก่อนส่งลงไลน์การผลิต ได้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย กระทั่งผู้บริหาร VW ใกล้จะหมดความอดทนกับโปรเจคนี้ จากวัตถุประสงค์ในการพัฒนาที่เหนือกว่ามาตรฐานซูเปอร์คาร์เจ้าตลาดทั่วไป การทำให้ใครก็ได้…สามารถกุมบังเหียนรถที่มีม้าเยอรมันล่ำๆ กว่า 1,000 ตัว นั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย อีกทั้ง Mr. Ferdinand Karl Piech (อดีตวิศวกร Porsche ซึ่งเป็นทั้ง CEO และประธาน ของ VW Group ในยุคนั้น) ไม่ปรารถนาให้ลูกค้า Veyron 16.4 มีความยากลำบากใดๆ เมื่อต้องอยู่ในห้องโดยสารซูเปอร์คาร์คันนี้ ความสะดวกสบายจึงต้องจัดเต็มมากที่สุด

เมื่อหาเครื่องยนต์ที่แรงกว่า 1,000 แรงม้า ให้กับ Veyron 16.4 ได้แล้ว (W16 quad-turbo ขนาด 8 ลิตร 1,001 PS ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 1,250 Nm 2,200-5,500 รอบ/นาที) ทีมวิศวกรก็ต้องมาระดมสมองกันต่อ ว่าจะทำอย่างไร ให้โครงสร้างและตัวถังสามารถรองรับพละกำลังมหาศาลได้ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในช่วงความเร็วสูงสุด ในที่สุดก็มาลงเอยกับ ‘โครงสร้างลูกผสม’ ระหว่างอะลูมีเนียมกับคาร์บอนไฟเบอร์ ส่วนห้องโดยสารเป็นโครงสร้างโมโนค็อกที่ผลิตจาก ‘คาร์บอนไฟเบอร์’ มีความแข็งแกร่งพร้อมคุณสมบัติในการปกป้องผู้โดยสารไม่เป็นรองเหล็กกล้า ทว่าเบากว่าหลายเท่า ด้วยน้ำหนักเพียง 110 กิโลกรัม ขณะที่โครงสร้างท่อนหน้าผลิตจาก ‘อะลูมีเนียม’ ทั้งชุด ซึ่งหนักเพียง 34 กิโลกรัม

ใช้โครงสร้างลูกผสมระหว่าง ‘อะลูมีเนียม’ กับ ‘คาร์บอนไฟเบอร์’

ส่วนโครงสร้างอะลูมีเนียมท่อนหลังต้องรับโหลดมากกว่า โดยเฉพาะแรงบิดมหาศาลจากเครื่องยนต์ หิ้วโครงสร้างระบบกันสะเทือน เป็นรูปแบบโครงสร้างที่ออกแบบคำนวณจุดรับแรงกระจายแรงมาอย่างแม่นยำ รองรับแรงบิดมหาศาลจากเครื่องยนต์ได้ถึง 60,000 Nm/degree ให้สมดุลทั้งขณะออกตัว, เบรกอย่างรุนแรง, เข้าโค้ง และขณะใช้ความสูงสุด ที่สำคัญโครงสร้างส่วนนี้ต้องทนความร้อนกว่า 1,000 ºC ที่ระบายออกมาจากท่อร่วมไอเสียด้วย

ระบบ Aerodynamic Management System รับหน้าที่จัดระเบียบกับกระแสลมที่เคลื่อนที่ผ่านตัวถัง สร้างสมดุลระหว่าง ‘Lift Force’ และ ‘Down Force’ ตามสภาพความเร็วที่แตกต่างกัน

บานประตูใช้อะลูมีเนียมทั้งในส่วนของโครงสร้าง และพื้นผิวที่โค้งงอสอดรับกับรูปทรงของตัวถัง ซึ่ง Dr. Wolfgang Schreiber (หัวหน้าทีมวิศวกรที่มารับช่วงโปรเจคต่อในปี 2003) กล่าวว่า “เราใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิต ด้วยความยากจากดีไซน์ในส่วนของหลักอากาศพลศาสตร์ซึ่งมีทั้งส่วนโค้งและส่วนเว้า” ซึ่งโครงสร้างของประตูต้องปกป้องผู้โดยสารจากอุบัติเหตุทางด้านข้างได้เช่นกัน

เดือนมิถุนายน ปี 2003, Veyron 16.4 ได้เวลาโชว์สมรรถนะให้ลูกค้าและสื่อมวลชนได้เห็น ณ สนามแข่ง Laguna Seca สหรัฐอเมริกา และแล้วสิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อ Veyron 16.4 ต้องหมุน เนื่องจากระบบแอร์โร่ไดนามิคไม่สมบูรณ์พอที่จะพา Veyron 16.4 ตามฝันไปถึงความเร็วสูงสุด หลังจากโชว์อันไม่น่าประทับใจในรอบนี้ จึงต้องตกงานไปหลายคน รวมทั้งประธานใหญ่ของ BUGATTI Automobiles S.A.S. ในสมัยนั้นด้วย

มีสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศอยู่ระหว่าง (Cd.) 0.393-0.682 ขึ้นอยู่กับการทำงานของ Aerodynamic Management System ที่จะปรับองศาของสปอยเลอร์หลัง และ Diffuser Flap ใต้ท้องรถ รวมถึงการลดความสูงของตัวถัง ให้สัมพันธ์กับความเร็วรถ

ตำแหน่งประธาน ได้ถูกแทนที่ด้วยนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จนาม Dr.Thomas Bscher อดีตนายธนาคาร ผู้มี ‘McLaren F1’ ตัวจี๊ดที่เคยเร็วที่สุดในโลก อยู่ถึง 2 คัน เป็นเวอร์ชันปกติ และเวอร์ชันแข่ง เขามักจะใช้ ‘McLaren F1’ แทนเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว สำหรับการเดินทางไปประชุมตามเมืองต่างๆ ทั่วยุโรป เพราะ ‘McLaren F1’ พาเขาไปถึงจุดหมายปลายทางได้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับเครื่องบิน จากความเร็วกว่า 300 กม./ชม. บนเอาโทบาน (Autobahn)

ซึ่งก่อนหน้านั้นเพียงเล็กน้อย Dr. Schreiber ได้มารับหน้าที่แทนหัวหน้าทีมวิศวกรคนเก่าเช่นกัน ทีมผู้บริหารชุดใหม่ลงมือแก้งานวิศวกรรมบางส่วนของ Veyron 16.4 แบบไม่ลังเล ส่วนหลักเป็นเรื่องแอร์โร่ไดนามิค นอกจากอากาศพลศาสตร์บนตัวถัง Veyron 16.4 ที่เรามองเห็น ซึ่งทำหน้าที่ดักกระแสลมขณะไหลผ่านตัวถังเข้าไปช่วยระบายความร้อน ยังมีระบบแอร์โร่ไดนามิคอื่นๆ ซ่อนไว้อีก เริ่มต้นที่ใต้ท้องรถทั้งส่วนหน้าและหลัง ถูกติดตั้งอุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘Diffuser Flap’ มีลักษณะเป็นครีบ 2 ชิ้น วางไว้คู่กันลักษณะคล้ายกรวยตัด ท่อนหน้าส่วนที่อากาศเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาก่อนจะแคบกว่าท่อนหลัง สามารถขยับปรับเปลี่ยนระดับการทำงานด้วยไฮดรอลิก เพื่อให้อากาศที่เคลื่อนที่ผ่านตัวมันไหลไปได้ ‘เร็วขึ้น’ (Venturi Effect) ภาพรวมเป็นการลดมวลลมที่จะมาสะสมอยู่ใต้ท้องรถ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘แรงยกตัวถัง’ (Lift Force) อันเป็นผลให้ยางหน้ากว้างสัมผัสผิวถนนได้น้อยลง โดย ‘Diffuser Flap’ จะทำงานร่วมกับระบบกันสะเทือนที่ปรับลดความสูงของตัวถังตามความเร็วอัตโนมัติ ซึ่งทั้งหมดจะควบคุมโดยซอฟต์แวร์ ‘Aerodynamic Management System’

Veyron 16.4 ทำสถิติเร็วที่สุดในโลกไว้ที่ 407 กม./ชม.

เท่านั้นอาจจะดูไม่พอ สำหรับระดับความเร็วกว่า 300 กม./ชม. เมื่อลดแรงยกก็ต้องเพิ่ม ‘แรงกดตัวถัง’ (Down Force) ได้ด้วย ส่วนนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของสปอยเลอร์หลัง ซึ่งเป็นปีกขนาดใหญ่จำนวน 2 ชั้น ในสภาวะการขับขี่ปกติจะเก็บซ่อนอยู่ในระดับเดียวกับพื้นผิวตัวถัง และจะยื่นขึ้นมา พร้อมปรับเอียงทำมุมในระดับองศาที่แตกต่างกันตามความเร็ว เจ้าสปอยเลอร์ชุดนี้ทำงานด้วยไฮดรอลิก ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกับ ‘Diffuser Flap’

 

ระบบกันสะเทือนเป็น Active Suspension ใช้ปีกนกคู่ทำงานร่วมกับแม็คเฟอร์สันสตรัททั้ง 4 ล้อ โดย Active Suspension ของ Veyron 16.4 จะทำงานร่วมกับ ‘Aerodynamic Management System’ นั่นหมายความว่าระดับความสูงของตัวถังจะถูกปรับลดให้สัมพันธ์กับระบบแอร์โร่ไดนามิคส่วนอื่นๆ ซึ่งความสูงของตัวถังจะแบ่งเป็น 3 โหมด ได้แก่

>>Standard เน้นความสบายในการขับขี่ ความสูงใต้ท้องรถด้านหน้า/หลัง เท่ากันที่ 125 มิลลิเมตร เริ่มทำงานตั้งแต่ออกรถจนถึงความเร็ว 220 กม./ชม. หากเร็วกว่านั้น ระบบจะปรับเข้าสู่โหมด Handing ให้อัตโนมัติ (Diffuser Flap ด้านหน้าเปิด)

>>Handling ช่วงล่างเฟิร์มขึ้น รองรับการเดินทางไกลบนมอเตอร์เวย์ด้วยความเร็วสูง ความสูงใต้ท้องรถ หน้า/หลัง อยู่ที่ 80/95 มิลลิเมตร (Diffuser Flap ด้านหน้าเปิด)

>>Top Speed สำหรับการทำความเร็วสูงสุด ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 375 กม./ชม. ผู้ขับต้องเลือกโหมดนี้ด้วยตัวเอง โดยการใช้กุญแจไขสวิตช์บริเวณคอนโซลกลาง (Bugatti Speed Key) เพื่อปลดล็อคความเร็ว ที่วิศวกร Bugatti ทำให้ยุ่งยากก็เพื่อเตือนสติผู้ขับ หากยังไม่พร้อม…อย่าได้เกรียน!!! ความสูงใต้ท้องรถ หน้า/หลัง อยู่ที่ 65/70 มิลลิเมตร (Diffuser Flap ด้านหน้าปิด)

เมื่อ Veyron 16.4 ใช้ความเร็วสูงกว่า 200 กม./ชม. ‘Airbrake’ จะทำงานโดยอัตโนมัติ ด้วย Time Lag เพียง 0.5 วินาที หลังจากผู้ขับแตะเบรก สร้างแรงหน่วงได้ 0.6g พร้อมทั้งแรงกดท้ายที่เพิ่มขึ้นถึง 350 กิโลกรัม

Veyron 16.4 มาพร้อม ‘Airbrake’ หรือการเบรกด้วยแรงต้านอากาศเช่นเดียวกับเครื่องบินขณะลงจอด ระบบนี้ช่วยชะลอความเร็วของรถในความเร็วสูง จากสปอยเลอร์หลังที่จะกระดกต้านลมด้วยมุม 70 องศา ทำงานหลังจากผู้ขับเหยียบแป้นเบรกเพียง 0.4 วินาที แต่ ‘Airbrake’ จะทำงานเมื่อรถใช้ความเร็วสูงกว่า 200 กม./ชม. ไปแล้ว เฉพาะการทำงานของ ‘Airbrake’ ช่วยหน่วงการเคลื่อนที่ของรถได้ 0.6g และถ้าทำงานพร้อมกับระบบเบรกคาร์บอนเซรามิคชุดใหญ่ กับการห้ามล้อที่ความเร็ว 400 กม./ชม. จะสร้างแรงหน่วงได้ถึง 1.3g รถจะหยุดสนิทด้วยเวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้น

สมรรถนะขอเริ่มต้นที่อัตราสิ้นเปลือง กับการทดสอบด้วยมาตราฐาน European Requirement 1999/94/EC ใช้งานในเมือง Veyron 16.4 ทำได้ 2.47 กิโลเมตร/ลิตร เดินทางไกลมาพร้อมกับตัวเลข 6.80 กิโลเมตร/ลิตร นั่นหมายความว่าถ้าเติมน้ำมันเต็มถัง 100 ลิตร เจ้าซูเปอร์คาร์คันนี้จะไปได้ไกลถึง 680 กิโลเมตร แต่…ต้องใช้ความเร็วปกติสำหรับการเดินทางเท่านั้น เพราะหากบังเอิญเจอถนนว่าง และเราขับแช่นิ่งๆ ไว้ที่ความเร็วสูงสุด Veyron 16.4 จะบริโภคน้ำมันหนักหน่วงถึง 0.97 กิโลเมตร/ลิตร ผลาญน้ำมันหมดถังได้ภายใน 12 นาที (หรือประมาณ 81.6 กิโลเมตร)

Top Speed เป็นความเร็วระดับสะกดวิญญาณ ชีวิตคุณกำลังอยู่ระหว่างความเป็นและความตายที่ 407 กม./ชม. อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 2.5 วินาที เร็วระดับเดียวกับรถแข่ง F1 แต่อย่าลืมเชียว…F1 มีน้ำหนักต่ำกว่าระดับ 1 ตัน อยู่หลายร้อยกิโลกรัม ขณะที่ Veyron 16.4 เฉียดๆ ระดับ 2 ตัน ส่วนอัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. และ 0-300 กม./ชม. ใช้เวลา 7.3 และ 16.7 วินาที ตามลำดับ!!!


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy