เข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของการปรับเงื่อนไขใหม่ ในการกำหนดคุ้มครองของระบบ ประกันภัยสำหรับรถ EV หลังจากที่ คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งมีประกาศออกมาตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ให้บริษัทประกันภายที่มีความพร้อม เริ่มใช้เกณฑ์ใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา (และบังคับใช้พร้อมกันทุกบริษัทประกันภัย 1 มิถุนายน 2567) ซึ่งการปรับเงื่อนไขของระบบ ประกันภัยสำหรับรถ EV ในปี 2567 นั้น มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
คุ้มครองแบตเตอรี่ตามอายุการใช้งาน
แบตเตอรี่ High Volt สำหรับรถ EV ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงที่สุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีราคาสูงกว่า “ครึ่งหนึ่ง” ของราคารถ EV คันนั้นๆ สำหรับความคุ้มครอง แบตเตอรี่ High Volt ในเงื่อนไข ประกันภัยสำหรับรถ EV ในปี 2567 จะคุ้มครองตามเกณฑ์ค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ (ตามปีที่ใช้งาน) ในกรณีที่รถเกิดอุบัติเหตุจนต้องมีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ High Volt (ไม่รวมค่าซ่อมอื่นๆ รวมถึงกรณีคืนซาก ที่จะได้รับการชดเชยสูงสุดตามทุนประกัน)
เงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมจากราคาของแบตเตอรี่
อายุการใช้งานแบตเตอรี่ High Volt | ค่าสินไหมที่จะได้รับ |
ไม่เกิน 1 ปี | 100% |
ไม่เกิน 2 ปี | 90% |
ไม่เกิน 3 ปี | 80% |
ไม่เกิน 4 ปี | 70% |
ไม่เกิน 5 ปี | 60% |
ตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป | 50% |
* คิดจากราคาแบตเตอรี่โดยผู้จำหน่าย และหากซากแบตฯ ที่เคลม ถูกนำไปขายได้ บริษัทประกันจะต้องคืนเงินให้กับเจ้าของรถ ในอัตราส่วนที่จ่ายเพิ่มไปในตอนแรก เช่น เคลมในปีที่ 2 เมื่อซากแบตเตอรี่ขายได้ เจ้าของรถจะได้ส่วนแบ่ง 10% คืน หรือเคลมในปีที่ 5 เมื่อซากแบตเตอรี่ขายได้ เจ้าของรถจะได้ส่วนแบ่ง 40% คืน เป็นต้น
** สามารถซื้อความคุ้มครองในรูปแบบ 100% New Battery เพื่อคุ้มครองแบตเตอรี่เต็มมูลค่าเพิ่มได้
เงื่อนไขการคุ้มครองเครื่องชาร์จรถ EV
สำหรับผู้ใช้รถ EV โดยส่วนมากแล้ว มักจะเลือกติดตั้งเครื่องชาร์จสำหรับรถ EV ภายในที่พักอาศัยของตัวเอง เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟ ทั้งนี้ทั้งนั้น นอกจากจะสารมารถซื้อ ประกันภัยสำหรับรถ EV ได้แล้ว ผู้ใช้ยังสามารถเลือกซื้อ ประกันสำหรับเครื่องชาร์จรถ EV เพิ่มเติมได้ด้วย โดยประกันนี้…จะคุ้มครองในกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องกับเครื่องชาร์จรถ EV ในระหว่างที่ชาร์จ ซึ่งบริษัทจะคิดค่าเบี้ย ประกันสำหรับเครื่องชาร์จรถ EV ในอัตราส่วนระหว่าง 0.035% – 3.5% จากมูลค่าของเครื่องชาร์จแบรนด์นั้นๆ
สายซน…อาจไม่ถูกใจสิ่งนี้
แม้ว่า ประกันภัยสำหรับรถ EV จะครอบคลุมการเกิดเหตุจากการใช้งานรถ EV ในหลากหลายรูปแบบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่คนใช้รถ EV ทุกคนต้องรู้ นั่นคือ บริษัทประกันภัย มีโอกาสที่จะปฏิเสธการรับผิดชอบ หากรถคันนั้นๆ ถูกปรับแต่งหรือมีการดัดแปลงชิ้นส่วน ทั้งในรูปแบบ Software และ Hardware ที่ผิดไปจากข้อแนะนำของผู้ผลิตรถ EV ดังนั้นการกระทำใดๆ ก็ตาม ที่อาจก่อให้เกิดการทำงานของระบบที่มีความคลาดเคลื่อน ผู้ใช้ควรทำความเข้าใจอย่างละเอียด เพื่อมิให้ส่งผลต่อเงื่อนไขการประกันภัยและความปลอดภัยในการใช้งาน
รถ EV ที่จะทำประกันภัย…ต้องระบุตัวผู้ขับขี่
เห็นแบบนี้แล้ว…หลายคนถึงกับออกอาการอึ้ง ! แต่ในความเป็นจริงนั้น บริษัทผู้รับเงื่อนไข ประกันภัยสำหรับรถ EV อนุญาตให้เจ้าของรถ สามารถระบุตัวผู้ขับขี่รถ EV คันที่ทำประกันได้สูงสุดถึง 5 ชื่อ ซึ่งเป็นจำนวนที่เรียกได้ว่า ครอบคุลมสำหรับการใช้งานรถ 1 คัน ซึ่งข้อดีของการระบุตัวผู้ขับขี่ คือ สามารถทำมาเป็นส่วนลดในการต่อเบี้ยประกันในปีต่อๆ ไปได้สูงสุดถึง 40% หากไม่มีการเคลมโดยการเป็นฝ่ายผิดตลอด 4 ปี ต่อเนื่องกัน
อัตราส่วนการลดเบี้ยประกันภัยจากพฤติกรรมการขับขี่
อายุการใช้งานประกันภัยแบบไม่มีการเป็นฝ่ายผิด | ส่วนลดเบี้ยประกันภัยในปีต่อไป |
1 ปี | 10% |
2 ปี | 20% |
3 ปี | 30% |
4 ปี | 40% |
* หากปีไหนมีการเคลมแบบเป็นฝ่ายผิด ส่วนลดจะสิ้นสุดในทันที