Home » เผยเหตุผล Toyota เมินทุ่มงบพัฒนา BEV หมดหน้าตัก…เพราะโลกนี้ไม่ได้มีพลังงานทางเลือกแค่ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

เผยเหตุผล Toyota เมินทุ่มงบพัฒนา BEV หมดหน้าตัก…เพราะโลกนี้ไม่ได้มีพลังงานทางเลือกแค่ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

by Admin clubza.tv
เผยเหตุผล Toyota เมินทุ่มงบพัฒนา BEV

การจะพัฒนารถยนต์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งนั้น นอกจากความพร้อมในเรื่องความรู้ด้านปัจจัยพื้นฐานและงบประมาณในการลงทุน สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คงหนีไม่พ้นเรื่องวิสัยทัศการมองอนาคตในภาพกว้าง เพื่อให้พิสูจน์ให้ทั้งโลกได้เห็นถึงแนวความคิดที่สะท้อนถึงความเป็นผู้นำ ที่ไม่ได้คิดแค่ในสิ่งที่หลายๆ คนเห็น แต่มองข้ามช็อตไปสู่อนาคต เพื่อการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืนด้วยจุดขายหลักๆ นั่นก็คือ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral”

HICEV แนวคิดการพัฒนาในอุดมคติของ Toyota

ก่อนหน้านี้ หลายๆ คนยังอาจเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมแบรนด์ยักษณ์ใหญ่อย่าง Toyota จึงเริ่มต้นช้า และดูจะไม่จริงจังกับการพัฒนารถในรูปแบบ BEV หรือ Battery Electric Vehicle โดยในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา Toyota เปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วนออกมาเพียง 1 รุ่น นั่นคือ Toyota bZ4X เท่านั้น กลายเป็นที่มาของถ้อยคำค่อนขอดว่า “หาก Toyota ไม่รู้จักที่จะปรับตัวให้ได้ในเวลานี้ อาจกลายเป็นเหมือนค่ายแบรนด์เนมในวงการกล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์มือถือก็เป็นได้” แต่ท้ายที่สุดแล้ว Toyota ก็สามารถพิสูจตัวเองว่า คำค่อนขอดเหล่านั้น อาจเป็นแค่คำพูดลอยๆ เมื่อท่านประธาน Akio Toyoda สร้างเซอร์ไพรซ์ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของ Toyota Motor ประเทศไทย ด้วยการประกาศว่า เตรียมจะเปิดตัว Toyota Hilux REVO รูปแบบ BEV หรือปิคอัพพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ประเทศไทย ภายในปี 2023 หรือภายในปีหน้า ซึ่งถ้อยคำที่ประกาศออกมานั้น ล้วนสร้างความตื่นตัวให้กับผู้ใช้ หรือแม้แต่บรรดาค่ายผู้ผลิตจากแบรนด์ต่างๆ ว่า การปล่อยหมัดชุดนี้ของ Toyota เรียกได้ว่าเป็นเสมือนการน็อคทั้งตลาด ชนิดที่ว่าไม่มีใครได้ทันตั้งตัวกันเลยทีเดียว !

ในวันนี้ Toyota ได้พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่า…พร้อมจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในวงการยานยนต์ได้แบบที่ไม่เคยมีใครคาดคิด

Toyota Hilux REVO BEV ปี 2566 ขายแน่ !

แต่วิสัยทัศน์ของแบรนด์ที่มองไปไกลกว่านั้น ไม่ได้หยุดแค่การพัฒนารถ BEV ที่อยู่ในระดับกลางของสารบบรถยนต์ทั้งหมดที่ทาง Toyota มอง ใน 5 Level ซึ่งประกอบไปด้วย

1.ICE หรือรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป

2.HEV รถยนต์ในรูปแบบไฮบริดที่ยังคงใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก

3.PHEV รถยนต์ในรูปแบบปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งใช้น้ำมันควบคู่กับแบตอรี่ขนาดใหญ่

4.BEV รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์และแบตเตอรี่

5.FCEV รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยใช้พลังงานจากไฮโดรเจน

6.HICEV หรือรถยนต์ที่ยังคงใช้เครื่องยนต์สันดาป โดยใช้เชื้อเพลิงในรูปแบบไฮโดรเจน ซึ่งใน 2 ประเภทหลัง สามารถตอบโจทย์แนวคิดด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ทาง Toyota วางเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050

จัดเต็มทุกไลน์อัพ HICEV, BEV และ FCEV

แม้จะยังดูไม่แพร่หลาย แต่ ณ ปัจจุบัน Toyota แสดงให้เห็นแล้วว่า การพัฒนาของพวกเขา ยังเป็นไปในทิศทางที่น่าสนใจสำหรับรถยนต์ในทั้ง 2 รูปแบบ ซึ่งล่าสุดที่สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ทางค่ายจัดเต็มด้วยการนำเสนอนิทรรศการเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกในรูปแบบต่างๆ โดยไฮไลท์คงหนีไม่พ้นการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน อันเป็นเชื้อเพลิงที่หาได้ทั่วไป และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในภาพรวมเหมือนเชื้อเพลิงในรูปแบบอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยทางฝั่งที่เป็น FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) ทางค่ายได้นำ Toyota Mirai ซีดานขนาดกลางที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจากก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งทำตลาดมาจนถึงเจนเนอเรชั่นที่ 2 มาจัดแสดง จุดเด่นของตัวรถ Toyota Mirai อยู่ที่การใช้แพลตฟอร์มที่ยกมาจาก Lexus LS (GA-L) ซีดานเรือธงที่มาพร้อมระบบขับเคลื่อนล้อหลัง (โดยยังคงความคล่องตัวในการใช้งาน และความสนุกสนานในการขับขี่ด้วยการย่อสเกลลงมาในระดับที่ใกล้เคียงกัน Lexus ES) สำหรับระบบเชื้อเพลิงที่ใช้ ประกอบไปด้วยกังไฮโดรเจนทั้งสิ้น 3 ถัง บริเวณ อุโมงเพลากลาง, ใต้เบาะหลัง และที่ด้านท้าย รองรับการเติมก๊าซสูงสุด 5.6 กก. ภายใต้แรงดันในระดับ 700 บาร์ หลังจากที่ผ่านปฏิกริยาการแปลงไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว ไฟฟ้าที่ได้มาจะถูกเก็บในแบตเตอรี่ลิเธียมไออนขนาด 1.24 kWh เพื่อจ่ายให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับการขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งในการเติมเต็มถังแต่ละครั้ง จะสามารถวิ่งได้ราว 750 – 800 กม.

Toyota Mirai รถยนต์พลัง FCEV เจนเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งได้การยอมรับจากผู้ใช้ทั่วโลก

ถังเชื้อเพลิงไฮโดร ได้รับการทดสอบมาแล้วว่าปลอดภัย แม้ถูกชนอย่างรุนแรง หรือถูกปืนยิงทะลุ

จุดเด่นในการออกแบบของถังเชื้อเพลิงไฮโดรเจนของทาง Toyota คือ

การผลิตด้วยวัสดุคอมโพสิตถึง 3 ชั้น ซึ่งประกอบไปด้วย ชั่นนอก  Fiberglass Reinforced Polymer, ชั้นกลาง Carbon Fiber Reinforced Polymer และชั้นใน Polymer Liner สามารถรองรับแรงดันสูงสุดถึง 875 บาร์ พร้อมด้วยคุณสมบัติด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่หลายๆ คนยังคงมีความกังวล คือ ไม่ผิดรูปหรือฉีกขาดแม้ถูกเฉี่ยวชนจากด้านท้าย หรือการถูกทดสอบด้วยการยิงทะลุ ซึ่งตัวก๊าซจะถูกระบายผ่านวาล์วสู่ชั้นบรรยากาศ พร้อมทั้งมีระบบวาล์วระบายก๊าซเมื่อมีการรั่วซึม เพื่อลดโอกาสการลุกใหม้ รวมถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่หลายๆ คนยังรู้สึกกังวล ได้รับการพิสูจน์ถึงความปลอดภัยโดยตรงด้วยรถแข่ง Toyota GR Corolla H2 ที่ท่านประธาน Akio Toyota ในนาม Morizo (ฉายาในการแข่งขัน) เลือกใช้เป็นตัวแข่งคู่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตระดับแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น

Toyota GR Corolla H2 ตัวแข่ง Super Taikyu แห่งสังกัด ORC Rookie Racing

Morizo นำทีม…พร้อมเอาชีวิตเดิมพันความปลอดภัยในการใช้งานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน

นอกจากรถในรูปแบบ FCEV พลังงานทางเลือกขั้นสูงสุด ที่ทาง Toyota วางไว้คือ รถในรูปแบบ HICEV (Hydrogen Internal Combustion Engine Vehicle) ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ อาจจะยังดูห่างไกลความเป็นไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นความตั้งใจของทาง Toyota ก็คือ การผลักดันเพื่อพัฒนารถเหล่านี้ ในรูปแบบที่เข้มข้นของการแข่งขันในรายการมอเตอร์สปอร์ต ไม่ว่าจะเป็นตัวรถแข่ง Toyota GR Corolla H2 ที่ท่าน Morizo ใช้ลงทำการแข่งขับในรายการ Super Taikyu Series ที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงในการแข่งขัน Idemitsu 1500 Super Endurance 2022 ที่ผ่านมา ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต (อีกคันที่ลงทำการแข่งขัน คือ Toyota GR86 เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร เทอร์โบ ที่ใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ Carbon Neutral Fuel)

Toyota GR86 เครื่องยนต์ 3 สูบ 1.6 ลิตร เทอร์โบ จับคู่ เชื้อเพลิงสังเคราะห์ Carbon Neutral Fuel

Toyota GR Yaris H2 ตัวแข่ง WRC Demo Run

หลักการของรถยนต์ในรูปแบบ HICEV นั้น ดูจะไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน หรือใช้ชิ้นส่วนมากเท่ารถในรูปแบบ FCEV ที่มีชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบในการทำงานที่มากกว่า สิ่งที่สำคัญ คือ การนำเชื้อเพลิงในรูปแบบก๊าซไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ ดังนั้นตัวเครื่องยนต์จึงต้องมีการอัพเกรดชิ้นส่วนในระบบเชื้อเพลิงให้สามารถรองรับ ทั้งหัวฉีดเชื้อเพลิง รวมถึงการปรับแต่งโปรแกรมจากกล่อง ECU เพื่อเกลี่ยส่วนผสมให้การเผาไหม้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งนอกจาก Toyota GR Corolla H2 ที่เป็นรถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน ควบคู่ไปกับเครื่องยนต์สันดาปแล้ว ในงานยังมี Toyota GR Yaris H2 ตัวแข่ง WRC ที่บินตรงจากประเทศเบลเยียม มาโชว์ตัวในประเทศไทยอีกด้วย

Toyota Corolla Cross H2 Concept

Folk Lift พลังไฮโรเจน ที่ให้คุณสมบัติในการทำงานไม่แตกต่างจากทั่วไป

นอกจากนี้แล้ว เพื่อให้เห็นถึงความชัดเจนในรูปแบบที่สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาในเชิงพาณิชย์ Toyota ยังได้นำ Toyota Corolla Cross H2 ที่ใช้เครื่องยนต์ 3 สูบ 1.6 ลิตร เทอร์โบ (บล็อคเดียวกับตัวแข่งทั้ง 2 รุ่น ที่กล่าวมา) รวมถึงรถ Folk Lift พลังไฮโรเจน มาให้สื่อมวลชนได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด นอกจากจะเป็นการชูนวัตกรรใหม่ๆ ที่ลดการปล่อยก๊าซไอเสียและการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเรียกได้ว่าเป็นทางรอดของเครื่องยนต์สันดาป รวมถึงบรรดา Maker ต่างๆ ที่สามารถเติบโตไปได้พร้อมๆ กันอย่างยั่งยืน


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy