“โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา” ถือเป็นจังหวัดที่ 4 ต่อจากจังหวัดเชียงราย กระบี่ และ เลย ที่โตโยต้าได้นำองค์ความรู้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้ามาประยุกต์ใช้อย่างเต็มรูปแบบเป็นจังหวัดแรก โดยความร่วมมือกับเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ในการบูรณะเรือนจำเก่า หน้าตลาดหัวรอ บนพื้นที่ขนาด 8 ไร่ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแห่งแรกนอกโรงงาน ต่อจาก ศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน “ชีวพนาเวศ” ในโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์
โดยนำองค์ความรู้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 5 ด้านของโตโยต้ามาจัดแสดงภายในพื้นที่เมืองสีเขียว ได้แก่
- การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Increasing Green Area) ส่งเสริมการอนุรักษ์ต้นไม้ที่มีอยู่เดิม การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ สีเขียว โดยเน้นไม้ยืนต้น โดยใช้ความรู้ด้านการปลูกป่านิเวศตามหลักของศาสตราจารย์ ดร.อากิระ มิยาวากิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกป่าจากประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำให้ต้นไม้มีอัตราการรอดตายสูง (มากกว่า 90%) และร่นระยะเวลาการเจริญเติบโตตามธรรมชาติให้เร็วขึ้น 10 เท่า ตลอดจนสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าการปลูกป่าโดยทั่วไป
- การจัดการขยะ (Waste Management) โดยจัดการขยะอย่างครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมการลดปริมาณขยะ ลดการใช้สินค้าที่ก่อให้เกิดขยะ การคัดแยกขยะและการนำไปใช้ประโยชน์ และการกำจัดขยะแบบถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
- การอนุรักษ์น้ำ (Water Management) การส่งเสริมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า การประหยัดน้ำ การนำทรัพยากรน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการติดตั้งถังเก็บน้ำที่ออกแบบในลักษณะของไม้ยืนต้นจำลอง เพื่อรองรับน้ำฝนที่ตกลงมาตามธรรมชาติและจากรางน้ำฝนมากักเก็บไว้ พร้อมฐานกว้างซึ่งสร้างจากวัสดุที่มีลักษณะเป็น รูพรุนเรียกว่า อิฐกรองน้ำ น้ำฝนที่ตกลงมาจะไหลลงสู่พื้น ผ่านการกรองของอิฐกรองน้ำเพื่อความสะอาด ไหลซึมลงสู่บ่อเก็บน้ำ ใต้ดินขนาด 10,000 ลิตร เพื่อนำกลับไปใช้ในการรดน้ำต้นไม้และกิจกรรมอื่นๆภายในศูนย์การเรียนรู้
- การลดการใช้พลังงานและการใช้พลังงานทางเลือก (Renewable Energy) ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ และการนำแบตเตอรี่ไฮบริดที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (re-use) ซึ่งที่ศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า เมืองสีเขียว อยุธยา ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power Parking Canopy) ที่มีพื้นที่แผงเซลล์แสงอาทิตย์จำนวนกว่า 500 ตารางเมตร สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 100 กิโลวัตต์ เทียบเท่ากับลดค่าไฟฟ้าของบ้าน 26 หลัง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 150 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และควบคุมการจ่ายพลังงานโดย อาคารควบคุมอัจฉริยะ (Smart Grid Building) โดยพลังงานไฟฟ้าที่ได้จะนำมาเก็บในแบตเตอรี่เก็บประจุที่ผลิตจาก เซลล์แบตเตอรี่ของรถยนต์โตโยต้าไฮบริดที่ใช้แล้ว (re-use) แล้วทำการจ่ายไฟฟ้า ไปใช้ในส่วนต่างๆ ได้แก่ ไฟส่องสว่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ
- การเดินทางอย่างยั่งยืน (Sustainable Transportation) ส่งเสริมการเดินทางที่ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยการใช้พลังงานทดแทน เช่น รถยนต์ไฮบริด รถไฟฟ้าขนาดเล็ก การใช้จักรยาน และการเดิน ซึ่งในเมืองสีเขียวได้ส่งเสริมการใช้จักรยาน การใช้รถไฟฟ้าขนาดเล็ก HA:MO ในระบบ EV Car Sharing เป็นพาหนะในการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างจุดท่องเที่ยวในอยุธยา ซึ่ง Toyota HA:MO จะถูกนำมาวิ่งเป็นต้นแบบแห่งที่ 2 ต่อจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพลังงานไฟฟ้าที่นำมาใช้กับ Toyota HA:MO มาจากแผงโซล่าเซลส์เก็บประจุไฟฟ้าไว้ใน เซลล์แบตเตอรี่ของรถยนต์โตโยต้าไฮบริดที่ใช้แล้ว (re-use) โดยมีสถานีชาร์จไฟฟ้า 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอยุธยา และหมู่บ้านญี่ปุ่น
โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา เปิดให้บริการทุกวัน โดยโซนสวนเปิดตั้งแต่เวลา 06.00 – 20.00 น. สำหรับโซนอาคารนิทรรศการ เปิดบริการตั้งแต่ 10.00 – 17.00 น. โดยโตโยต้าเมืองสีเขียวได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ในการคัดสรรเยาวชนทำหน้าที่เป็น “เยาวชนโตโยต้า เมืองสีเขียว” ถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่ นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และประชาชน
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 – มีนาคม 2562 อาทิเช่น ตลาดนัดเพื่อสิ่งแวดล้อม กิจกรรมช่วงในเทศกาลสำคัญ ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ วันเด็ก วันมาฆบูชา วันวาเลนไทน์ ตลอดจนมีการเปิดลานกิจกรรมสำหรับการแสดงออกความสามารถด้านดนตรีและศิลปะ สำหรับเด็กและเยาวชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย
“โตโยต้าเมืองสีเขียวอยุธยาแห่งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยากับโตโยต้า โดยมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการสร้างชุมชนที่ไม่เพียงแต่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบของศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โตโยต้าเมืองสีเขียวอยุธยาแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงผลแห่งความพยายามที่จะประยุกต์หลักกการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า โดยเรามีเจตนารมณ์ในการแบ่งปันบทเรียนและความสำเร็จจากโครงการลดเมืองร้อนด้วยมือเรา (Stop Global Warming) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสังคมเมือง โดยเมืองสีเขียวแห่งนี้จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของโตโยต้าที่ตั้งอยู่นอกโรงงานของเรา
วันนี้ ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้พร้อมแล้ว ที่จะเปิดโอกาสให้ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้เข้ามาเรียนรู้วิธีการการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับทุกคน นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ยังเป็นจุดสนใจแห่งใหม่ของจังหวัดสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย” มร.มิจิโนบุ ซึงาตะ กล่าวในที่สุด
ติดตามข่าวสารขับซ่าได้ที่นี่
ชมรายการขับซ่า34 ย้อนหลังได้ที่นี่