เนื้อหอมตั้งแต่ยังไม่เปิดตัว สำหรับ Toyota GR Corolla รถครอบครัวสุดซิ่งในสไตล์ HotHatch ที่ถือกำเนิดมาบนพื้นฐานของตัวแข่ง World Rally Championship ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจทำมาจำหน่ายในจำนวนจำกัด เพื่อให้เข้าข่ายความเป็นรถในรูปแบบโปรดักชั่นที่ตรงกับเงื่อนไขของการแข่งขัน WRC (รถโปรดักชั่น = ที่ทำมาเพื่อจำหน่าย 2,500 คัน ต่อปี ขึ้นไป) เพียงเท่านั้น แน่นอนว่าในเมื่อ Toyota GR Corolla เป็นรถที่ผลิตมาในจำนวนไม่มากนัก จึงอาจไม่พอต่อความต้องการของคนรักความแรงจากทั่วโลก แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นใน Toyota GR Yaris ซึ่งนอกจากดีไซน์ที่โดดเด่น และสมรรถนะในระดับที่เกินกว่ารถบ้านทั่วไปจะทำได้แล้ว Toyota GR Corolla ยังมาพร้อม 5 จุดเด่น ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน…ดังนี้
1.น้ำหนักเบาสไตล์พื้นฐานตัวแข่ง
แม้ว่า Toyota GR Corolla จะมาในรูปแบบรถ Hatchback ในพิกัด C-Segment ที่ต้องแบกน้ำหนักของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ GR-Four ด้วยแล้ว แต่ในภาพรวมของตัวรถ ไม่ได้ถือว่ามีน้ำหนักที่มากจนเกินไป โดย Toyota GR Corolla ในรุ่น Circuit Editon ที่มาในภาพลักษณ์แบบ “พร้อมแข่ง” ด้วยชุดสปอยเลอร์รอบคัน หางหลังทรงสูง รวมถึงแผ่นหลังคาที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ มีน้ำหนักเพียง 3,200 ปอนด์ หรือ 1451 กก. เท่านั้น นอกจากนี้ยังจัดเต็มเพื่อให้ตัวรถมีเสถียรภาพในการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นชุดลิมิเต็ดสลิปแบบกลไกทั้งหน้าและหลัง (ในรุ่น Core Edition เป็นแบบ Torsen)
2.เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ที่ทรงพลังระดับ 300 แรงม้า
อย่างที่รู้กันดีว่า ขุมพลังของ Toyota GR Corolla มาในรหัส G16E-GTS แบบ 3 สูบ เทอร์โบ พิกัด 1.6 ลิตร เหมือนกับที่ประจำการในรุ่นน้อง แต่สิ่งที่ได้รับการอัพเกรดขึ้นมาเพื่อให้ “สมฐานะ” ของตัวรถก็คือ ระดับสมรรถนะ จากเดิมที่มีอยู่ราว 261 แรงม้า กับ 360 นิวตัน-เมตร ใน Toyota GR Yaris ถูกยกระดับขึ้นมาเป็น 300 แรงม้า พร้อมกับแรงบิด 370 นิวตัน-เมตร ใน Toyota GR Corolla โดยสิ่งที่ได้รับการอัพเกรดคือ การปรับเพิ่มอัตราการบูสต์ รวมถึงปรับการจ่ายเชื้อเพลิงใหม่เหมาะสม มองตรงนี้…อาจไม่ใช่เรื่องว้าว แต่หากมองย้อนกลับไปสำหรับการอัพเกรดรุ่นเล็กให้มีกำลังมากขึ้นล่ะก็…เห็นทางสว่างขึ้นมาในทันที
3.ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ GR-Four ปรับสไตล์ได้ตามที่ใจต้องการ
เช่นเดียวกับรุ่นน้องที่ออกมาก่อนหน้า Toyota GR Corolla มาพร้อมระบบขับเคลื่อนที่เรียกว่า GR-Four ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยแผนก Gazoo Racing ของ Toyota ความโดดเด่นอยู่ที่การเลือกปรับรูปแบบการส่งถ่ายกำลังไปยังล้อหน้า : หลัง ได้ 3 รูปแบบ ในอัตราส่วนที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นในโหมด Normal ที่กระจายแรงขับเคลื่อนหน้า : หลัง ที่ 60 : 40 เพื่อความสะดวก คล่องตัว รวมถึงเสถียรภาพในการใช้งาน, โหมด Sport ที่จะกระจายแรงขับเคลื่อนที่ล้อหน้า 30% และล้อหลัง 70% เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้สนุกกับการออกแอคชั่นของตัวรถได้อย่างเต็มที่ ส่วนมนโหมด Track ที่ออกแบบมาให้การกระจายแรงขับเคลื่อนในอัตราส่วน 50 : 50 เพื่อเสียรภาพสูงสุด สำหรับการทำเวลาในสนามแข่ง ทั้งการขับขี่ในทางเรียบ รวมถึงทางฝุ่นที่เป็นต้นกำเนิดของ Toyota GR Corolla
4.ความแข็งแรงของตัวถังในระดับ “ตัวแข่ง”
หลายครั้งที่รถในซีรีส์ GR ถูกนำไปเปรียบเทียบกับรถในรูปแบบที่ทำตลาดอยู่ ณ ปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่ Toyota GR Corolla ถูกนำมาเปรียบเทียบพื้นฐานกับ Toyota Corolla รุ่นปกติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตัวถังเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการใช้งานไปพอสมควร เช่น การเพิ่มจุดสปอตตัวถังมากกว่าถึง 349 จุด รวมถึงพื้นที่ในจุดเชื่อมต่อที่รวมแล้วมีแนวการซีลถังความยาวเพิ่มขึ้นอีก 2.7 ม. เพื่อความกระชับ พร้อมกันนี้ยังย้ายตำแหน่งของแบตเตอรี่ไปไว้บริเวณท้ายรถ เพื่อประสิทธิภาพในการกระจายน้ำหนักที่ดีมากขึ้น โดย Toyota GR Corolla วางแพลนการผลิตประมาณ 6,500 คัน ซึ่งในจำนวนนั้น 1,500 คัน จะเป็นรุ่น Circuit Editon ส่วนที่เหลืออีกราว 5,000 คัน จะมาในรุ่น Core Edition
5.การจะกลับมาเป็นคู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อของ Honda Civic Type R
เป็นเวลากว่า 2 ทศทววษ ที่รถยนต์ระดับไฮเพอฟอร์แมนซ์ของค่าย Toyota ต้องซุกตัวอยู่ภายใต้ร่มเงาของคู่ปรับตลอดกาลอย่าง Honda Civic Type R ซึ่งเป็นที่ถูกจับตามองมาโดยตลอดถึง 5 เจนเนอเรชั่น การกลับมาของ Toyota GR Corolla เป็นเสมือนสัญญาณการคืนชีพของรถสมรรถนะสูงจากค่ายสามห่วง ที่พร้อมจะต่อกรกับรถในสไตล์ HotHatch ทุกๆ แบรนด์ในโลก ทั้งในญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งในช่วงเวลาต่อจากนี้ ถือว่าน่าสนใจเลยทีเดียวว่า ทางฝั่ง Honda จะแก้เกมอย่างไรสำหรับ Honda Civic Type R เจนเนอเรชั่่นที่ 6 ที่จะทำตลาดในเร็วๆ นี้