ในที่สุดแบรนด์รถยนต์สายพันธุ์สปอร์ตจากสตุ๊ดการ์ด ประเทศเยอรมนี อย่าง Porsche ก็ได้ฤกษ์เผยโฉมตัวแรงในรูปแบบไฮบริดเป็นครั้งแรกสำหรับสปอร์ตในตระกูล 911 (รหัส 992.2) แม้ว่านี่จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะในปี 2018 ทางค่าย Porsche เคยเผยโฉมรถต้นแบบของซูเปอร์สปอร์ต 911 ที่ใช้ขุมพลังไฮบริดใาก่อนหน้านี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีช่วยขับเคลทื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้ ยังคงเป็นเพียงแค่ในจินตนาการ ที่แม้แต่หัวหน้าทีมออกแบบอย่าง August Achleitner ณ เวลานั้น ยังไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริง
สิ่งที่ทำให้ August Achleitner ไม่เชื่อว่าระบบไฮบริดจะถุกนำมาใช้กับรถในตระกูล 911 เป็นเพราะ ในช่วงเวลาเมื่อ 6 ปีก่อน เทคโนโลยีแบตเตอรี่ให้ไม่ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับแบตเตอรี่ไฮบริดในยุคนี้ อาจจะดีพอที่จะถูกนำมาใช้ แต่แน่นอนว่า…มันไม่ดีพอที่จะนำมาใช้กับ Porsche 911 จากวันนั้น จนถึงวันนี้ เทคโนโลยีต่างๆ ล้วนได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่สูงมากขึ้น ซึ่งส่งผลในแง่ของสมรรถนะโดยตรง อีกทั้งในแง่ของกฎหมายมลพิษก็ยิ่งทวีคูณความเข้มข้น ทำให้แบรนด์ Porsche เลือกที่จะพัฒนาระบบ T-Hybrid ใส่มาใน Porsche 911 Carrera GTS ซึ่งเป็นไฮบริดรูปแบบใหม่ ที่ไม่เคยมีค่ายไหนทำมาก่อน
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รถยนต์สมรรถนะสูงโดยส่วนใหญ่ มักจะได้รับการออกแบบให้มีประสิทธิภาพในการจุดระเบิดที่มีความเข้มข้นของส่วนผสมระหว่างอากาศและเชื้อเพลิงให้มีความเข้มข้นสูงขึ้น โดยเฉพาะในรอบเครื่องยนต์สูงๆ เพื่อชดเชยกับแรงดันบูสต์ที่เพิ่มขึ้นตามระดับพละกำลัง ในขณะเดียวกันก็ยังคงต้องออกแบบให้ระบบการเผาไหม้นั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง และการปล่อยมลพิษที่ต่ำ ด้วยเหตุนี้เอง…ส่งให้ Porsche เลือกที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ T-Hybrid ที่ช่วนอัพกำลังได้เพิ่มขึ้นอีก 64 แรงม้า เมื่อเทียบกับ Porsche 911 Carrera GTS รุ่นเดิมที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป โดยเมื่อเพิ่มระบบ T-Hybrid เข้าไปแล้ว เครื่องยนต์จะยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนผสมระหว่างอากาศและเชื้อเพลิงในอุดมคติที่ 14.7:1 หรือหากเรียกตามภาษาช่าง (Porsche) คือ Lambda = 1 นั่นเอง
เทคโนโลยี T-Hybrid จากค่าย Porsche มาพร้อมแบตเตอรี่ไฮบริดขนาด 1.9 kWh ที่มีค่าความต่างศักย์ 400 โวลต์ ซึ่งวางอยู่ใต้ฝากระโปรงด้านหน้ารถ (ตำแหน่งเดียวกับแบตเตอรี่ 12 โวลต์ ของ 911 ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป) โดยจุดเด่นของแบตเตอรี่ในระบบ T-Hybrid คือ มีน้ำหนักประมาณ 27 กก. ซึ่งไม่ได้หนักไปกว่าแบตเตอรี่ 12 โวลต์เดิม (ถูกย้ายตำแหน่งไปอยู่บริเวณหลังเบาะนั่งหลัง ซึ่ง Carrera และ Carrera GTS รุ่นปัจจุบัน ไม่มีเบาะหลังมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่เป็นออพชั่นที่เลือกเพิ่มได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) นอกจากแบตเตอรี่แล้ว ระบบ T-Hybrid จะประกอบไปด้วยมอเตอร์ 2 ส่วน ส่วนแรกถูกประจำการอยู่ในชุดเกียร์ PDK 8 สปีด มีกำลังอยู่ที่ราว 53.6 แรงม้า พร้อมช่วยสร้างแรงบิดได้อีก 149 นิวตัน-เมตร แต่อย่างไรก็ตาม มอเตอร์ที่อยู่ในเกียร์เซ็ตนี้ เป็นแค่มอเตอร์ช่วยเสริมกำลังในการขับเคลื่อนเท่านั้น ไม่สามารถขับเคลื่อนได้โดยใช้ไฟฟ้า 100% (ต่างกับระบบ E-Hybrid ของ Porsche ที่ใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ และขับเคลื่อนด้วย EV Mode ได้)
สำหรับมอเตอร์เซ็ตที่ 2 นั้น จะถูกวางอยู่ในชุดเสื้อแกนเทอร์โบ
(เป็นเทอร์โบในลักษณะปกติที่ปั่นด้วยไอเสียทั่วไป) ซึ่งจะทำงานร่วมกันกับเครื่องยนต์แบบ Flat 6 ความจุ 3.6 ลิตร โดยมอเตอร์เซ็ตนี้ ให้กำลังสูงสุด 14.7 แรงม้า ติดตั้งอยู่ในเสื้อแกนเทอร์เพื่อช่วยปั่นแกนในรอบต่ำให้สามารถสร้างอัตราบูสต์ได้ในทันทีที่แตะคันเร่งหรือต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ซึ่งด้วยการติดตั้งมอเตอรืเซ็ตนี้ จะช่วยลดอาการรอรอบของเทอร์โบได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะเดียวกัน เมื่อแกนเทอร์โบถูกปั่นอย่างรุนแรงจากไอเสีย จะมีการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อชาร์จกลับเข้าสู่แบตเตอรี่ในระบบไฮบริดได้อีกด้วย นี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่ Porsche เลือกที่จะใช้ Single Turbo หรือเทอร์โบเดี่ยว ให้กับรถในตระกูล 911 เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการรอรอบ ได้ถูกทำลายไปจากการใช้มอเตอร์เข้ามาเป็นตัวช่วยปั่นแกนของชุดเทอร์โบตั้งแต่ในรอบต่ำ
นอกจากนี้แล้ว เครื่องยนต์ในรูปแบบ Flat 6 ของ Porsche 911 (992.2) ยังได้รับการพัฒนาใหม่ในหลายๆ องประกอบ ภายใต้พื้นฐานของบล็อคเครื่องยนต์ 9A แบบสูบนอน 6 สูบ ไดเร็คท์อินเจ็คชั่น ที่สืบทอดมาจากโฉม 997 ที่เปิดตัวในปี 2008 โดยเครื่องยนต์ที่ถูกใช้ในยุคปัจจุบันนั้น เป็นบล็อคแรกที่มาในรหัส 9A3 ที่มีการเพิ่มขนาดของกระบอกสูบเป็น 97 มม. กับยืดระยะชัก 81 มม. ทำให้ได้ความจุเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.6 ลิตร (จากเดิม 9A2 ใน Porsche Carera GTS 992.1 ใช้ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก ที่ 91 x 76.4 มม. ได้ความจุ 3.0 ลิตร) และด้วยความที่เปลี่ยนมาใช้ระบบไฮบริดที่มีแบตเตอรี่ลิเธียมขนาดใหญ่มาใช้งานร่วมด้วย ทำให้เครื่องยนต์ของ Porsche 911 (992.2) ไม่จำเป็นต้องมีสายพานเพื่อขับเคลื่อนระบบต่างๆ เช่น คอมเพรสเซอร์แอร์, พวงมาลัยพาวเวอร์ ทำให้ตัวรถสามารถลดความสูงของระบบเครื่องยนต์โดยรวมลงได้อีก 110 มม. โดยระบบอินเวอร์เตอร์ รวมถึงชุดอินเตอร์คูลเลอร์ จะถูกวางอยู่ในตำแหน่งเหนือเครื่องยนต์
เครื่องยนต์ รหัส 9A3 ใน Porsche 911 (992.2)
มาพร้อมระบบวาล์วแปรผัน Variocam ซึ่งจะทำงานร่วมกับกลไก Finger Followers ซึ่งจะใช้ลุกกลิ้ง (แบบเดียวกับที่ใช้ในเครื่องยนต์บล็อค 4.0 ลิตร ใน 911 GT3) แทนที่การใช้ถ้วยและชิมวาล์วแบบดั้งเดิม ส่งให้กำลังของเครื่องยนต์ถูกเพิ่มขึ้นมาเป็น 478 แรงม้า (+5 แรงม้า) และแรงบิด 569 นิวตัน-เมตร (เท่าเดิม) เมื่อเทียบกับ Carrera GTS อีกทั้งยังสามารถทำรอบการหมุนสูงสุดได้ถึง 7,500 รอบ/นาที อีกด้วย ซึ่งเมื่อจับคู่กับมอเตอร์ T-Hybrid แล้ว ทั้งระบบของ Porsche 911 Carrera GTS จะให้กำลังขับเคลื่อนที่สูงถึง 532 แรงม้า พร้อมกับแรงบิดกว่า 608 นิวตัน-เมตร
ทั้งหมดทั้งมวลของระบบ T-Hybrid ที่เพิ่มเข้ามา ส่งให้ Porsche 911 Carrera GTS มีน้ำหนักอยู่ที่ 1,604 กก. ซึ่งมากกว่ารุ่นที่ใช้เครื่องยนต๋สันดาปเพียง 47 กก. แน่นอนว่า…น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาโดยส่วนใหญ่นั้น เป็นผลมาจากการใช้ระบบไฮบริด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะ Porsche 911 Carrera GTS ยังมีออพชั่นอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพิ่มเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ระบบช่วยเลี้ยวที่ล้อคู่หลัง รวมถึงเซ็ตยางหลังที่มีความกว้างขึ้นอีก 10 มม. (315 มม.)