Home รถไฟฟ้า ส่อง 10 จุดเด่น – ข้อสังเกต – เรื่องต้องรู้ ของ Riddara ปิคอัพ EV ก่อนเปิดตัวในประเทศไทยพฤศจิกายนนี้

ส่อง 10 จุดเด่น – ข้อสังเกต – เรื่องต้องรู้ ของ Riddara ปิคอัพ EV ก่อนเปิดตัวในประเทศไทยพฤศจิกายนนี้

by Admin clubza.tv

Riddara แบรนด์ปิคอัพน้องใหม่ในเครือ Geely Holding Group วางแพลนขยายตลาดในต่างแดน โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ ซึ่งก่อนที่จะมีการเปิดตัวนั้น ทาง Riddara Thailand ได้เชิญกลุ่มสื่อมวลชนร่วมสัมผัสสมรรถนะ EV Pickup อย่าง ณ เมืองหังโจว ประเทศจีน ซึ่งจากการที่ได้ลองขับในช่วงสั้นๆ #ทีมขับซ่า พอจะสรุปข้อมูลของ Riddara ได้ดังนี้

Riddara รถในสไตล์ EV Pickup ที่เตรียมทำตลาดในประเทศไทยเดือนตุลาคมนี้

ในประเทศจีน Riddara ทำตลาดในชื่อ Radar ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย 3 รุ่นย่อย ทั้งในรูปแบบมอเตอร์เดี่ยว ขับเคลื่อนสองล้อ และมอเตอร์คู่ ขับเคลื่อนสี่ล้อ ในรุ่นย่อยที่ชื่อว่า RD6 ส่วนรุ่นท็อปที่เป็นขับเคลื่อนสี่ล้อ มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ แต่งพร้อมลุยด้วยยาง All Terrain จะมาในชื่อรุ่น Horizon ซึ่งการทำตลาดในต่างแดนนั้น จะเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น Riddara ทั้งหมด ส่วนชื่อรุ่นย่อยในตลาดเมืองไทย คงต้องรอการประกาศอีกครั้ง

ระยะฐานล้อ 3,120 มม. ใกล้เคียงกับปิคอัพที่ทำตลาดในบ้านเรา ณ ปัจจุบัน

ปิคอัพ Riddara มาพร้อมมิติตัวถัง 1,900 x 5,260 x 1,865 มม. พร้อมระยะฐานล้อ 3,120 มม. ซึ่งเป็นไซส์มาตรฐานของปิคอัพพิกัด 1 ตัน ในประเทศไทย โดยมีระยะฐานล้อสั้นกว่ารุ่นยอดนิยมอย่าง Isuzu D-Max เพียง 5 มม. แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนในความเป็น Riddara เมื่อเทียบกับรถในกลุ่มที่ทำตลาดในประเทศไทยก็คือ เรื่องของแนวคิดในการออกแบบ ที่เน้นความเป็น Lifestyle Pickup มากกว่าความเป็นรถในเชิงพาณิชย์ ซึ่งคนที่เป็นสายแคมปิ้งค์ หรือเน้นทำกิจกรรมใสนรูปแบบต่างๆ น่าจะถูกอกถูกใจเป็นพิเศษ เนื่องจากตัวรถมาพร้อมช่องจ่ายไฟทางด้านท้าย ที่รองรับกำลังสูงสุุดถึง 6,000 W พร้อมความหลากหลายและประโยชน์ใช้สอย โดยมีพื้นที่เก็บสัมภาระถึง 70 ที่ด้านหน้า, 48 ใต้เบาะหลัง และ 1,200 ลิตร ที่กระบะท้าย

แพลตฟอร์มโมโนค็อก M.A.P ออกแบบมาสำหรับใช้งานกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะ

Riddara พัฒนาบนแพลตฟอร์ม Multiplex Attached Platform (M.A.P) ในรูปแบบโมโนค็อก ซึ่งออกแบบมาสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะ รูปแบบของการจัดวางเซ็ตช่วงล่าง ในด้านหน้าจะใช้แบบอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัท ส่วนในด้านหลังจะเป็นแบบมัลติลิ้งค์ ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นในทิศทางการเคลื่อนไหวได้มากกว่าช่วงล่างแบบคานแข็งที่ปิคอัพในตลาดบ้านเราเกือบจะทั้งหมดเลือกใช้ (ยกเว้น Ford Ranger Raptor) โดยระบบเบรกที่ใช้นั้น มาในรูปแบบดิสค์เบรกทั้ง 4 ล้อ ที่ผสานการทำงานกันระบบช่วยขับขี่ขั้นสูงถึง 12 ฟังค์ชั่น เช่น ระบบนเตือนการขนทางด้านหน้าพร้อมช่วยเบรกอัตโนมัติ, ระบบช่วยเตือนพร้อมป้องกันการออกนอกเลน, ระบบเตือนมุมอับสายตา รวมถึงระบบควบคุมความเร็วแปรผันแบบ All Speed เป็นต้น

จุดแตกต่างของรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ คือ จะมาพร้อมกระจังหน้าที่มีคำว่า RADAR ส่วนในรุ่นขับเคลื่อนสองล้อ จะเป็นกระจังหน้าสีดำแบบทึบในด้านล่าง

พละกำลังถือเป็นจุดเด่นของ EV Pickup อย่าง Riddara

โดยในรุ่นมอเตอร์เดี่ยว ขับเคลื่อนล้อหลัง พกพากำลังมาให้ใช้งานถึง 200 kW หรือประมาณ 268 แรงม้า พร้อมกับแรงบิด 385 นิวตัน-เมตร ทำอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายในเวลาเพียง 7.3 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 185 กม./ชม. ส่วนในรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ มีกำลังรวม 315 kW (422 แรงม้า) กับแรงบิด 595 นิวตัน-เมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 4.5 วินาที นับเป็นปิคอัพที่ทำอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้เร็วที่สุด ณ ปัจจุบัน อีกทั้งยังรองรับการไต่ทางชันได้สูงสุด 95% และรองรับการลากจูงได้สูงสุด 3.5 ตัน เชื่อว่าจะเป็นอีกรุ่นที่น่าจะถูกอกถูกใจสายกระบะ Performance อย่างแน่นอน

แบตเตอรี่ที่ใช้ใน Riddara มีขนาดตั้งแต่ 63 และ 73 kWh รองรับการเดินทางต่อชาร์จ 377 -437 กม. ตามมาตรฐาน NEDC ส่วนในรุ่น AWD มาพร้อมแบตเตอรี่ 73 kW รองรับการเดินทางต่อชาร์จ 414 กม. ทั้ง 2 รูปแบบ เป็นแบตเตอรี่ LFP โดยในอนาคต สำหรับรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่จะทำตลาดเพิ่มเติม (คาดว่าอาจจะเป็นหนึ่งในสเป็คที่ทำตลาดเมืองไทย) จะมาพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 86 kWh แบบ NMC ที่รองรับระยะทางต่อชาร์จได้มากกว่า 500 กม.

การทดลองขับขี่ดังกล่าว เป็นการลองขับในช่วงสั้นๆ ในสภาพเส้นทางลักษณะ Off Road เนินชันสลับกรวดลอย สิ่งที่สัมผัสได้อย่างแรกเลย คือ ความนุ่มนวลของเซ็ตช่วงล่าง ซึ่งเป็นความโดดเด่นของการเลือกใช้ระบบช่วงล่างในรูปแบบอิสระมัลติลิ้งค์ ถือว่าดูดซับแรงสะเทือนสำหรับการขับขี่ออฟโร๊ดได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้น…คงต้องลองกันอีกครั้ง สำหรับการขับขี่แบบใช้ความเร็วบนถนน ว่าเซ็ตช่วงล่างจะสามารถรองรับอาการเต้นของตัวรถในย่านความเร็วสูงได้ดีขนาดไหน เช่นเดียวกัน ข้อสังเกตในการขับขี่แบบออฟโร๊ด สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ คือ เสียงของช่วงล่างที่เล็ดลอดเข้ามาให้ได้ยินภายในห้องโดยสารอยู่บ้าง ซึ่งคงเป็นการบ้านที่ทาง Riddara Thailand อาจจะต้องปรับจูนรายละเอียดต่างๆ ด้วยความละเอียด เพื่อให้กับการใช้งานของลูกค้าชาวไทยมากที่สุด
แม้ว่าจะเป็นระที่มีกำลังสูงในระดับกว่า 400 แรงม้า พร้อมแรงบิดเฉียดๆ 600 นิวตัน-เมตร แต่การปล่อยพลังของตัวรถ กลับทำได้อย่างนุ่มนวล ซึ่งช่วยให้ผู้ขับขี่ สามารถคุมคันเร่งได้ง่าย แม้ว่าจะขับขี่ในเส้นทางออฟโร๊ด ที่อาจจะต้องมีการเติมหรือผ่อนคันเร่งอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งในเวลาที่วิ่งผ่านอุปสรรค หากคุมคันเร่งได้ไม่เนียนพอ อาจทำให้เกิดอาการ “ลั่น” ซึ่งจากที่ลองสั้นๆ ยังไม่พบอาการดังกล่าวใน Riddara จึงเชื่อว่าจะเป็นรถกำลังกว่า 400 แรงม้า ที่มีความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ได้อย่างน่าประทับใจ

เวอร์ชั่นพวงมาลัยขวา…เริ่มเดินสายการผลิตแล้วในโรงงานที่ Zibo

หน้าจออินโฟเทนเม้นท์ของ 14.6 นิ้ว ถือว่ามีขนาดใหญ่และให้คมชัดได้อย่างน่าสนใจ (1920 x 720) รองรับการสั่งการเกือบจะทุกฟังค์ชั่นที่หน้าจอนี้ (มีเพียงระบบปรับอากาศที่จะมี Hard Switch แยกแถบควบคุมลงมาในด้านล่าง) การแสดงผลทำได้ดี โดยเฉพาะสำหรับการขับขี่ในรูปแบบ Off Road ที่ให้มุมมองกว้างถึง 540 องศา หรือสามารถมองทะลุพื้น รวมถึงยังมีเส้นกะระยะ เพื่อให้ผ่านอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางต่างๆ ไปได้อย่างง่ายดาย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ถือว่ามีให้แบบเพียงพอต่อการใช้งาน พวงมาลัยปรับ 4 ทิศทาง เบาะนั่งผู้ขับปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง รองรับการเชื่อมต่อ Carplay และมี Wireless charger ที่สามารถจ่ายไฟได้ถึง 50 w

Riddara รุ่น Horizon ที่ได้ทดลองขับ มีระยะต่ำสุดจากพื้นอยู่ที่ 221 มม. ซึ่งก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่จากการที่ได้ทดลองขับ หลายๆ ครั้งเวลาที่ขึ้่นเนินชันแบบขึ้นสุดแล้วปักหัวลงเลย รวมถึงผ่านอุปสรรคที่เป็นร่องคู่ มีสันเนินตรงกลาง บ่อยครั้งยังพบว่า มีเสียงครูดจากจุดที่ต่ำที่สุดอยู่บ้าง ซึ่งสำหรับผู้ใช้ที่วางแผนนำไปลุยอย่างจริงจัง…อาจจะต้องลองคิดดูก่อน แม้ว่าแพคแบตเตอรี่จะถูกปกคลุมด้วยแผ่นปิดอลูมิเนียมที่มีความแน่นหนา แข็งแรงก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดแล้ว…คงต้องอย่าลืมว่า Riddara ออกแบบมาเน้นการใช้งานในรูปแบบ Lifestyle Pickup เป็นหลัก การจะนำไปบรรทุกหนักๆ หรือลุยโหดจนเกินขีดจำกัด อาจไม่เหมาะกับรถคันนี้

โรงงานประกอบ Riddara ในเมือง Zibo ประเทศจีน

แม้ว่า Riddara จะเป็นแบรนด์ที่เพิ่งจะก่อตั้งมาเพียง 2 ปี แต่หากพิจารณาถึงความเป็น Geely Holding Group ที่คร่ำหวอดในวงการยานยนต์ในประเทศจีนมาอย่างยาวนาน ซึ่งทั้งแพบรนด์พรีเมี่ยมของประเทศจีนอย่าง Zeekr  รวมถึง Lynk & Co ต่างก็อยู่ภายใต้ชายคาแห่งนี้เช่นกัน นอกจากนี้แล้ว Geely Holding Group ยังเป็นผู้ถือครองแบรนด์ชั้นนำจากยุโรปทั้ง Volvo, Polstar หรือแม้แต่ Lotus ในปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้นเรื่องมาตรฐานและะคุณภาพการผลิต เชื่อว่าอยู่ในระดับที่ไว้ใจได้ แม้ว่าจะเป็นแบรนด์ใหม่ ที่อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูผู้ใช้ชาวไทยนักก็ตาม

ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม