MG IM6 รถในสไตล์ Coupe SUV พิกัด C-Segment เตรียมที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มีนาคมนี้ โดยก่อนที่จะมีพิธีเปิดผ้าคลุมอย่างเป็นทางการ ทางแบรนด์ เอ็มจี ก็ได้เชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมสัมผัสความล้ำสมัยของ MG IM6 ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในรถที่โดดเด่นในเรื่องสมรรถนะ รวมถึงเทคโนโลยีการขับขี่ขั้นสูง ซึ่งหลังจากที่ได้ลองขับในสถานีทดสอบที่ทาง MG จัดไว้ให้ #ทีมขับซ่า มี 10 ข้อมูล ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ MG IM6 มาบอกเล่า ดังนี้
ทำตลาดใน 2 รุ่นย่อย กับทางเลือก “ที่เหมือน…อย่างแตกต่าง”
MG IM6 เตรียมจะทำตลาดด้วย 2 รุ่นย่อย ซึ่งประกอบไปด้วยรุ่น Premium RWD มอเตอร์เดี่ยว ขับเคลื่อนล้อหลัง และรุ่นที่เป็นไฮไลท์อย่าง Performance AWD มอเตอร์คู่ ขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่ถือเป็นตัวไฮไลท์ของการมาทำตลาดในประเทศไทยครั้งนี้ หากพิจารณาจากภาพลักษณ์ภายนอกของทั้งคู่แล้ว ถือว่าทั้ง 2 รุ่นย่อย มีความแตกต่างกันน้อยมาก โดยสิ่งเดียวที่พอจะจำแนกความแตกต่างของ MG IM6 ทั้ง 2 รุ่นได้ คงมีเพียงล้ออัลลอยที่ใช้ ซึ่งในรุ่น Performance AWD จะมาพร้อมล้อสีทูโทนขนาด 21 นิ้ว ส่วนในรุ่น Premium RWD จะมาพร้อมล้อสีดำเงา ขนาด 20 นิ้ว ที่สื่อหลายๆ คน ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้ความรู้สึกที่สื่อถึงความเป็นสปอร์ตได้มากกว่า

MG IM6 รุ่น Performance AWD กำลังรวม 787 แรงม้า แรงบิดรวม 802 นิวตัน-เมตร แบตเตอรี่ 100 kWh วิ่งได้ไกล 624 กม. (NEDC)

MG IM6 รุ่น Premium RWD มอเตอร์เดี่ยว กำลัง 295 แรงม้า แรงบิด 450 นิวตัน-เมตร แบตเตอรี่ 75 kWh วิ่งได้ไกล 550 กม. (NEDC)
แพลตฟอร์ม 800 vs. 400 โวลต์…ต่างกันขนาดไหน ?
แม้ว่า MG IM6 ทั้ง 2 รุ่นย่อย จะมีภาพลักษณ์ที่มีความใกล้เคียงกันมาก แต่หากพิจารณาในรายละเอียดเชิงลึกแล้ว ทั้งคู่ถือว่ามีความแตกต่างกันอย่างลึกล้ำ ตั้งแต่ระดับสถาปัตยกรรม หรือโครงสร้าง เลยทีเดียว โดยในรุ่น Performance AWD จะมาพร้อมแพลตฟอร์มในรูปแบบ 800 โวลต์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการส่งถ่ายกระแสไฟได้อย่างเหนือชั้นกว่ารุ่น Premium RWD ที่ยังคงใช้ระบบไฟในรูปแบบ 400 โวลต์ นั่นทำให้ความสามารถในการถ่ายเทกระแสไฟมีความแตกต่างกัน เช่น ความเร็วในการชาร์จ ที่รุ่น Performance AWD รองรับการชาร์จ DC ได้สูงสุดถึง 396 kW ซึ่งจากการที่ได้ทดลองชาร์จจริงจากจุดชาร์จ Huawei Ultra Fast Charge (ปตท กิ่งแก้ว 40) ที่สามารถจ่ายไฟได้สูงสุดถึง 400 kW แล้ว MG IM6 Performance AWD สามารถรับกำลังไฟหน้างานสูงสุดได้ถึง 391 kWh โดยใช้เวลาในการชาร์จจาก 10-80% ของความจุแบตเตอรี่ Lithium-ion (NMC) ระดับ 100 kWh ได้ภายในเวลาต่ำกว่า 20 นาที ส่วนในรุ่น Premium RWD รองรับกำลังไฟ DC Charge สูงสุดได้ที่ 153 kW ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานของรถที่ใช้แพลตฟอร์มรูปแบบ 400 โวลต์ โดยแลกมาด้วยขนาดความจุแบตเตอรี่ Lithium-ion (LFP) ที่ลดขนาดลงมาเหลือเพียง 75 kWh

MG IM6 รุ่น Performance AWD มาพร้อมช่วงล่างแบบ Active ปรับความสูงตามรูปแบบการใช้งาน +- สูงสุด 50 มม.
ช่วงล่าง Active Air Suspension ปรับความสูงตามการใช้งานได้อย่างอิสระ
นอกจากเรื่องการออกแบบโครงสร้าง ที่ส่งผลต่อความเร็วในการชาร์จ รวมถึงระดับพละกำลังแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความแตกต่างใน MG IM6 ทั้ง 2 รุ่นย่อยก็คือ การออกแบบช่วงล่าง ซึ่งในรุ่น Premium RWD มาพร้อมเซ็ตช่วงล่างในรูปแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทในด้านหน้า และแบบอิสระมัลติลิ้งค์ในด้านหลัง ทำงานร่วมกับเซ็ตคอยล์สปริง โดยจุดเด่นอยู่ที่การเลือกใช้ชิ้นส่วนอลูมิเนียม ลดน้ำหนัก ขจัดภาระที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อเสถียรภาพในการขับขี่ที่ดีมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับรุ่น Performance AWD เพิ่มความเหนือชั้นไปอีกระดับ ด้วยการใช้ชุดช่วงล่างในรูปแบบ Active ซึ่งประกอบไปด้วย Air Spring พร้อมโช้กอัพที่สามารถปรับความหนืดได้ตามสภาวะการขับขี่ที่แตกต่างกัน โดยภายในตัวรถ MG IM6 รุ่น Performance AWD จะมีโหมดการทำงานของช่วงล่างจากเมนู Driving บนหน้าจอสั่งการขนาด 10.5 นิ้ว มาให้เลือกใช้ถึง 3 รูปแบบ ประกอบไปด้วย Easy Pass ที่ตัวรถจะปรับความสูงของช่วงล่างขึ้นสูงสุด (+30 มม.) เพื่อให้ตัวรถสามารถผ่านอุปสรรคไปได้โดยง่าย, Easy Access ความสูงการขับขี่ในระดับปกติ ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกให้ระบบทำงานโดยอัตโนมัติ หรือปรับความสูงของตัวรถ แปรผันตามความเร็วที่ใช้ เช่น เมื่อขับที่ความเร็วเกินกว่า 90 กม./ชม. ขึ้นไป ตัวรถจะปรับลดความสูงลงมาโดอัตโนมัติ 15 มม. และหากความเร็วเพิ่มขึ้นไปถึง 120 กม./ชม. จะปรับความสูงลดลงมาอีก 15 มม. (รวมลดความสูงลง 30 มม.) เป็นต้น นอกจากนี้…ใน MG IM6 รุ่น Performance AWD ยังมีฟังค์ชั่น Easy Load ที่ตัวรถจะปรับลดความสูงทางด้านท้ายอีกประมาณ 20 มม. เมื่อเปิดฝาท้าย เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บหรือขนถ่ายสัมภาระ ซึ่งฟังค์ชั่นนี้…สามารถเลือกให้ทำงานแบบอัตโนมัติได้เช่นกัน
คันใหญ่คับซอย แต่ควบคุมได้คล่องอย่างน่าประหลาดใจ
แม้ว่า MG IM6 จะเป็นรถที่มีความยาวตั้งแต่หัวจรดท้ายมากกว่า 4.9 เมตร และมีระยะฐานล้อที่ยาวถึง 2,950 มม. ซึ่งถือได้ว่า…เป็นความยาวระดับต้นๆ เมื่อเทียบกับรถในพิกัดเดียวกัน แต่ MG IM6 กลับให้ความคล่องตัวในการขับขี่ได้อย่างเหลือเชื่อ ในสถานการณ์ที่ทาง MG เซ็ตให้ได้ทดลองขับในครั้งนี้ การกลับรถในลักษณะ “เลนครึ่ง” ดูจะเป็นอะไรที่ไม่หมูสำหรับรถคลาสนี้ แต่อย่างไรก็ตาม MG IM6 มีตัวช่วยอย่าง ระบบช่วยเลี้ยวที่ล้อคู่หลัง ที่แต่ละล้อสามารถหักเลี้ยวในมุมสูงสุดข้างละ 6 องศา ส่งผลให้วงเลี้ยวในการยูเทิร์นแคบอย่างเหลือเชื่อ โดยเมื่อตีวงแบบหักสุด รถที่มีความยาวระดับกว่า 4.9 เมตร คันนี้ สามารถเลี้ยวได้ในวงแคบกว่า 5.1 เมตร ซึ่งแคบที่สุดเมื่อเทียบกับรถในพิกัดเดียวกัน นอกจากนี้ MG IM6 ยังมาพร้อมตัวช่วยเพิ่มทัศนวิสัย โดยขณะขับขี่ที่ความเร็วต่ำ หรือเมื่อเปิดไฟเลี้ยว ตัวกล้องรอบคันที่มีอยู่ถึง 9 ตำแหน่ง จะแสดงผลขึ้นมาบนหน้าจอเพื่อให้ผู้ขับขี่มองเห็นทัศนวิสัยโดยรอบได้อย่างชัดเจน ปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น…ระบบช่วยเลี้ยวที่ล้อคู่หลัง มีมาให้ใน MG IM6 ทั้งรุ่น Premium RWD และรุ่น Performance AWD
ระบบช่วยเหลือเต็มพิกัด ท่ายากแค่ไหน..ก็จัดให้แบบไม่เกี่ยง
อีกหนึ่งความน่าสนใจของ MG IM6 คงหนีไม่พ้นเรื่องฟังค์ชั่นอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่ โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถอด ซึ่งตัวรถมีโปรแกรม Parking ช่วยจอดมาให้เลือกถึง 3 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการถอยจอดแบบเทียบข้าง หรือ ขนานฟุตบาท, การถอยจอดแบบเข้าซอง รวมถึงการถอยจอดเข้าซองแบบทะแยง ซึ่งใน 2 อย่างหลัง ตัวรถสามารถเลือกให้จอดได้ ทั้งในกรณีที่มีรถจอดขนาบอยู่ทั้ง 2 ข้าง หรือแม้แต่การจอดในช่องเปล่าๆ ที่มีเพียงแค่เส้นเลนได้เช่นกัน จะว่าไปแล้ว…นี่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในความเป็นจริง ระบบช่วยถอยจอดของรถยนต์ยุคใหม่ๆ มีมาให้เลือกใช้งานกันในช่วงหลายปีให้หลัง แต่จากที่ได้ทดลองระบบอยู่หลายต่อหลายครั้ง #ทีมขับซ่า กลับรู้สึกถึงความแตกต่างที่สัมผัสได้ใน MG IM6 เนื่องด้วยระบบสามารถทำงานได้แบบ Full Auto บนพื้นฐานความนุ่มนวล ราบรื่น เริ่มตั้งแต่การหาช่องจอด ที่ระบบจะแสดงผลเป็นไฮไลท์ช่องจอดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เราเลือกช่องที่ต้องการจอด พร้อมเริ่มกระบวนการแบบ One Touch ด้วยการใช้งานที่ง่ายและมีความสมูทนี้เอง ถือว่าเป็นการยกระดับรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกับระบบช่วยถอยจอดในยุคก่อนที่มักจะใช้ความเร็วและเบรกโดยขาดความสมูท หรือทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ซึ่งส่งผลให้ผู้ขับขี่เกิดความกังวลที่จะใช้งาน การจะเข้าจอดแต่ละครั้ง เหมือนคิดและจัดท่าทางมาแล้ว ว่าต้องเข้าแบบนี้ เพื่อให้การจอดเป็นไปอย่างราบรื่น และใช้จังหวะในการโยกให้น้อยที่สุด เช่นเดียวกับการเบรกและการใช้ความเร็วที่ทำได้อย่างนุ่มนวล ซึ่งแน่นอนว่า…ในผลลัพท์สุดท้าย MG IM6 สามารถเข้าจอดได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม เพื่อให้รถโดยรอบสามารถเข้า – ออกจากช่องได้ง่าย เช่นเดียวกับคนในรถ ที่สามารถเดินขึ้น – ลงรถ หรือเปิดประตูได้อย่างปลอดภัยเช่นกัน
ขยับให้ก็ได้ ออกจากช่อง…ก็ยังทำงานได้ Perfect
นอกจากระบบช่วยถอยจอด 3 รูปแบบแล้ว MG IM6 ยังมาพร้อมฟังค์ชั่นอำนวยความสะดวกในการจัดท่าทางการจอด (Side) รวมถึงฟังค์ชั่นช่อยออกจากช่องจอดอัตโนมัติ (Escape) ซึ่งในฟังค์ชั่นแรก ใช้ในกรณีที่หากตัวรถเข้าจอดแล้ว รู้สึกว่าชิดด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป หรือต้องการจะขยับไปทางซ้าย – ขวา เพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ผู้ขับขี่สามารถเลือกกดที่หน้าจอขนาด 10.5 นิ้ว เพื่อให้ตัวรถช่วยขยับอัตโนมัติ โดยการขยับซ้าย – ขวา แต่ละครั้งนั้น ระยะการขยับจะอยุ่ที่ประมาณ 15 ซม. ซึ่งก่อนที่จะขยับ ตัวรถจะแสดงเส้นกะระยะสีส้ม เพื่อใหู้้ขับขี่ตัดสินใจ ว่าต้องการขยับเพิ่มเติมหรือไม่ โดยหากต้องการขยับไปในพื้นที่ปิด เช่น ใกล้ฟุตบาทมากเกินไปในระยะประมาณน้อยกว่า 30 ซม. หน้าจอจะแสดงภาพเส้นกะระยะเป็นสีแดง และไม่ยอมให้ขยับในทิศทางนั้นเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้…หากผู้ขับขี่ต้องการที่จะออกจากช่องจอด ตัวรถจะยังมีฟังค์ชั่นออโต้ไว้ช่วยอำนวยความสะดวกด้วยเช่นกัน โดยเราสามารถเลือกทิศทางในการออกจากช่องจอดได้ทั้งซ้าย – ขวา (ในกรณีที่สามารถออกได้ทั้ง 2 ด้าน) แต่หากในกรณีที่จอดชิดฟุตบาทด้านใดด้านหนึ่ง ตัวรถจะยอมออกจากช่องให้เฉพาะในด้านที่สามารถออกได้ เช่น จอดชิดฟุตบาทด้านซ้าย รถจะออกจากช่องจอดอัตโนมัติให้เฉพาะทางด้านขวาเท่านั้น เป็นต้น ถือเป็นตัวช่วยใน MG IM6 ที่ถูกคิดมาอย่างรอบคอบ ละเอียด เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกใช้งานได้จริงอย่างมั่นใจ ไม่ใช่เหมือนรถยุคเก่า ที่แค่มีไว้…แต่จะกล้า หรือไม่กล้าใช้ อันนั้นเป็นปัญหาของผู้บริโภค !

ทัศนวิสัยไม่เป็นใจแบบนี้ ก็สามารถผ่านอุปสรรคได้ง่าย ด้วยกล้องมองรอบทิศทางระดับ 2K ที่สามารถแสดงภาพได้อย่างแม่นยำ
เพราะเซ็นเซอร์ 24 ตัว ช่วยไว้ กับ Rainy Night Mode ของเขา
ความท้าทายสุดๆ ของสัมผัสแรกในการได้ทดลองขับ MG IM6 คงหนีไม่พ้น การได้ทดลองฟังค์ชั่นที่เรียกว่า Rainy Night Mode ซึ่งโหมดนี้ มีไว้เพื่อเป็นตัวช่วยในขณะที่เราขับขี่ในสภาพอากาศที่ฝนตกหนักในยามค่ำคืน ลองนึกภาพอารมณ์แบบมืดฟ้ามัวดินชนิดที่ว่ามองอะไรในระยะ 3-5 เมตร ยังเห็นไม่ชัด สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ เซ็ตหน้าจอจะปรับรูปแบบการแสดงผลในลักษณะสีเข้ม เพื่อลดการสะท้อน รวมถึงเพิ่มคอนทราสให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นทัศนวิสัยโดยรอบที่ถูกจำลอง จากการประมวลผลของระบบ AI ที่ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์รอบคันถึง 24 ตำแหน่ง (Camera 9 ตำแหน่ง, Ultrasonic 12 ตำแหน่ง และ Radar 3 ตำแหน่ง ประมวลผลร่วมกับชิพเซ็ต NVIDIA OrinN สำหรับระบบช่วยการขับขี่ ซึ่งแยกจากชิพเซ็ต Qualcomm Snapdragon 8295 ที่ใช้สำหรับระบบประมวลผลและสั่งการระบบภายในห้องโดยสาร) นอกจากนี้ระบบปรับอากาศจะทำงานเพื่อลดการเกิดฝ้าที่กระจกบานหน้าและด้านข้างเพื่อเพิ่มความสามารถในการมองเห็น

การทำงานของระบบ Rainy Night Mode หน้าจอจะแสดงผลด้วยสีเข้ม พร้อมแสดงภาพจากกล้อง รวมถึงภาพ AI จากการประมวลผลของเซ็นเซอร์รอบคัน
งานนี้ทาง MG เพิ่มลูกเล่นเล็กน้อย ด้วยการจำลองสถานการณ์โดยใช้ “ผ้าคลุม” ส่งผลให้ภายในห้องโดยสารมืดสนิท และไม่สามารถมองเห็นสิ่งแวดล้อมผ่านกระจกรอบคันได้อย่างสิ้นเชิง สิ่งที่ทำได้เป็นเพียงการมองภาพจากกล้องรอบทิศทาง ซึ่งแม้ว่ากล้องบางตัวจะถูกคลุมทับด้วยผ้าดำ แต่กล้องตัวที่เหลือยังคงทำหน้าที่โดยแสดงผลผ่านหน้าจออินโฟเทนเท้นท์ได้อย่างชัดเจนระดับ 2K โดยการต่อภาพในแต่ละเฟรมถือว่าทำได้ค่อนข้างดี อาจจะไม่ได้แนบเนียนในระดับไร้ที่ติ แต่ก็ถือว่าไว้เนื้อเชื่อใจได้ โดยสิ่งที่ทำให้การบังคับทิศทางเป็นไปอย่างง่ายมากยิ่งขึ้น คือ การมีเส้นกะระยะ พร้อมตัวเลขบอกระยะห่างจากสิ่งกีดขวางแสดงบนหน้าจอ พร้อมเสียงเตือนระยะห่างที่ทำงานในรูปแบบ Surround ตามทิศทางของวัตถุ จากการผสานการทำงานของลำโพงที่มีอยู่ในตัวรถถึง 20 + 4 ตำแหน่ง นั่นทำให้ผู้ขับขี่ MG IM6 สามารถผ่านพ้นอุปสรรคในสภาพที่ไม่สามารถมองเห็นสิ่งแวดล้อมภายนอกด้วยตาเปล่าไปได้อย่างปลอดภัย โดยหากพบสิ่งกีดขวา เช่น สิ่งของ, สัตว์เลี้ยง หรือคนเดินตัดผ่าน ระบบจะทำการเบรกให้โดยอัตโนมัติอย่างนุ่มนวล และจะถอยต่อให้โดยอัตโนมัติ เมื่อสิ่งกีดขวางออกห่างในระยะที่ปลอดภัยแล้ว
ช่วยถอยหลังอัตโนมัติที่ 100 เมตร สุดท้าย จำทางได้…แต่ไม่ลอกเป๊ะ !
มาถึงขั้นตอนนี้แล้ว แน่นอนว่า…ผ้าที่ถูกคลุม MG IM6 ไว้ ยังคงอยู่เช่นเดิม ตอนเข้ามาว่ายากแล้ว เพราะต้องแต่งพวงมาลัยกันอยู่หลายขยัก หากลองจินตนาการภาพที่ต้องถอยกลับในเส้นทางเดิมนั้น ความเป็นไปได้ คือ แทบจะเป็น 0% แต่นั่นอาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับ MG IM6 ที่มีระบบช่วยถอยอัตโนมัติในระยะ 100 เมตร สุดท้าย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ระบบนี้จะจดจำองศาการเลี้ยวของล้อล่าสุด (ที่เคยเห็นมาคือ ไม่เกิน 50 เมตร สุดท้าย) เดินหน้ามาท่าไหน ก็ถอยกลับท่านั้น แต่สำหรับระบบช่วยถอยของ ทำได้แอดวานซ์กว่า โดยแน่นอนว่า จุดหมายหลัก อยู่ที่ทางที่เลี้ยวเข้ามา แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ MG IM6 จะประมวลผลจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบ ก่อนที่จะปรับองศาล้อเพื่อสร้างมุมเลี้ยวให้สามารถถอยได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่น หากตอนเข้าเลี้ยวชิดไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ในตอนถอยหลัง ตัวรถจะปรับระยะโดยคำนวณจากเซ็นเซอร์รอบคัน เพื่อให้ตัวรถถอยในระยะที่อยู่กึ่งกลางหรือปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งเป็นการลดข้อจำกัดของระบบช่วยเลี้ยวด้วยล้อทั้ง 4 ที่ใช้องศาการเลี้ยวมากที่สุด (เท่าที่จะเป็นไปได้) ในช่วงเดินหน้า แต่มีข้อจำกัดที่ต้องปรับองศาให้น้อยลงในขณะถอยหลังได้อย่างที่น่าประทับใจ
ภายในหรูหรา มีทรง “เบาะขนมปัง” นั่งสบายสุดๆ
ห้องโดยสารของ MG IM6 ทั้ง 2 รุ่นย่อย ได้รับการออกแบบมาอย่างเรียบ หรู โดยมาพร้อมเบาะนั่งที่สื่อต่างเรียกกันแบบติดปากว่า “เบาะขนมปัง” ซึ่งเป็นการผสานเลเยอร์ถึง 10 ชั้น เพื่อสัมผัสที่รู้สึกถึงความพรีเมี่ยม โดยในคู่หน้า มาพร้อมฟังค์ชั่นระบายอากาศและปรับอุ่น (ในคู่หลังมีเฉพาะปรับอุ่น) ส่วนเบาะผู้ขับขี่นั้น พิเศษกว่าตัวอื่นๆ คือ จะมีฟังค์ชั่นนวดมาให้ถึง 3 รูปแบบ ซึ่งเป็นการนวดแบบนุ่มๆ ไม่รู้สึกถึงอาการระคายแผ่นหลังเท่าใดนัก ฟังค์ชั่นต่างๆ ภายในรถถือว่าเล่นไม่ยาก แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ (ในรถที่นำมาให้ทดลอง ไม่มีเมนูภาษาไทยมาให้ด้วย) และสร้างความคุ้นชินสักเล็กน้อย โดยหากใช้งานคล่องมือแล้ว จะพบว่าสามารถเลือกฟังค์ชั่นที่ใช้งานบ่อยๆ ขึ้นมาเป็นเมนูลัดในหน้าการใช้งานหลัก เพื่อให้สามารถเข้าใช้งานได้อย่างง่ายดายในครั้งต่อๆ ไป เช่น โหมดการขับขี่, ฟังค์ชั่นช่วยถอยจอด, การเปิดฝาท้ายไฟฟ้า เป็นต้น
อีกปัจจัยหนึ่ง…ที่สร้างความประทับใจหลังจากที่ได้ทดลองขับ MG IM6 ก็คือ ความเงียบในห้องโดยสาร ซึ่งตัวรถเลือกที่จะใช้กระจกลามิเนต 2 ชั้น รอบคัน ทำงานร่วมกับระบบ Road Noise Cancellation (RNC) ที่ช่วยปล่อยคลื่นเสียงหักล้างกับเสียงรบกวนที่มาจากภายนอก เพื่อช่วยลดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร นอกจากนี้ MG IM6 ยังมาพร้อมระบบเสียง IM Audio System ซึ่งประกอบไปด้วย 20 ลำโพง รอบคัน + 4 ลำโพง Sky Speaker ที่สามารถรองรับระบบเสียง 7.1.4 (Immersive Sound) ให้คุณภาพเสียงระดับไฮเอนด์ พร้อมฟังค์ชั่นที่สามารถเลือกปรับอีควอไลเซอร์ได้อย่างละเอียดในทุกย่านความถี่
และที่อดพูดถึงไม่ได้น MG IM6 ก็คือ การมาพร้อมลูกเล่นภายในห้องโดยสาร ที่ออกแบบให้สามารถเติม Gadget ต่างๆ ที่ถูกคิดมาแล้วว่าสามารถติดตั้งในตำแหน่งที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ลงตัว กับฟังค์ชั่นในตัวรถ เช่น กระจกส่องหน้า, ไฟอ่านหนังสือ, โต๊ะทำงาน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะถูกติดตั้งโดยแปะไว้ในจุดต่างๆ ที่เป็นที่อยู่ของเซ็ตรองรับ IM Mag
800 โวลต์ จำเป็นหรือไม่สำหรับวงการรถ EV ไทย…ยุคปัจจุบัน
จากคุณสมบัติที่ได้ทดลองในช่วงสั้นๆ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า MG IM6 เป็นหนึ่งในรถ EV ยุคใหม่ ที่พร้อมรองรับเทคโนโลยีการขับเคลื่อน รวมถึงการถ่ายโอนพลังงานในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบัน…แม้ว่าตัวรถจะมาพร้อมเทคโนโลยีแพลตฟอร์มในรูปแบบ 800 โวลต์ แต่คงต้องยอมรับว่า ระบบรองรับเทคโนโลยีขั้นนี้ ที่จะช่วยยกระดับให้สามารถใช้งานตัวรถ MG IM6 โดยเฉพาะในรุ่น Performance AWD ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อาจจะยังมีไม่มากเท่าที่ควร นั่นอาจส่งผลให้การใช้รถที่มีเทคโนโลยีในระดับสูงเช่นนี้ ยังคงมีข้อจำกัด แม้ว่าผู้บริโภคจะลงทุนกับตัวรถไปค่อนข้างมากแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับในเรื่องระดับพละกำลัง แรงม้ามากกว่า 700 ตัว กับแรงบิดเกิน 800 นิวตัน-เมตร นี่อาจเป็นรถที่ผู้ขับขี่ ต้องสั่งสมประสบการณ์มาแล้วไม่ต้อง หากต้องการใช้ศักยภาพของตัวรถให้เกิดประโยชน์สูงสุด กลายเป็นว่า…หากมองย้อนมาในทางตรงข้าม เน้นความพอเพียงในการใช้งานเป็นหลัก รุ่น Premium RWD ที่มาพร้อมภาพลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างกันเฉพาะขนาดของล้อ แต่ยังคงลูกเล่นที่สำคัญมาครบๆ เช่น ระบบช่วยขับขี่ในรูปแบบต่างๆ, ระบบเลี้ยวด้วยล้อทั้ง 4 ในค่าตัวที่เบามือลงมา อาจเป็นคำตอบที่ลงตัว สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการความพอดีก็เป็นได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น…คงต้องรอดูส่วนต่างของราคาของ MG IM6 ที่จะเผยอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มีนาคม นี้ ด้วยเช่นกัน