Home » Mazda BT-50 2021 เป็นได้แค่ไหน…คันที่รัก หรือแค่ปิคอัพที่รู้จัก ?

Mazda BT-50 2021 เป็นได้แค่ไหน…คันที่รัก หรือแค่ปิคอัพที่รู้จัก ?

by Admin clubza.tv

เป็นหนึ่งในรถที่ถูกกล่าวขานมากที่สุด หลังจากที่เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่ประเทศออสเตรเลียตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปีก่อน รวมถึงการเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเรื่องของดีไซน์ที่มีความโดดเด่นและแตกต่างจากเพื่อร่วมคลาสออย่างชัดเจนแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็น Talk of the town ที่แฟนๆ มักพูดถึงในความเป็น Mazda BT-50 2021 การกลับมาสานต่อความสัมพันธ์กับเพื่อร่วมชาติ หลังจากที่ไปจอยกับกระบะฝั่งมะกันอยู่กว่าทศวรรษ

ดูเข้าถึงง่ายขึ้น เพราะใช้พื้นฐาน รวมถึงเครื่องยนต์จากแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจในตลาด

อย่างที่ทราบกันดีว่า เจนเนอเรชั่นที่ 3 ของ Mazda BT-50 ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากปิคอัพแบรนด์ยอดนิยมอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ชนิดที่ว่าเปลี่ยนแค่เปลือกให้มีภาพลักษณ์ในสไตล์มาสด้าเท่านั้น ในส่วนของโครงสร้าง ตัวถัง เครื่องยนต์ รวมถึงระบบขับเคลื่อน เรียกได้ว่ายกมาจากแบรนด์พันธมิตรทั้งหมด มุมหนึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่จะได้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยความมั่นใจที่เหนือกว่าในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอะไหล่และชิ้นส่วนต่างๆ ความประหยัด ทนทาน รวมถึงการดูแลรักษาที่ง่าย ซึ่งทาง Mazda ใช้คุณสมบัติเหล่านี้มาเป็นจุดขาย เพื่อกลับมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดในระดับที่แข่งขันได้อีกครั้ง นอกจากนี้…ปัจจัยหนึ่ง คือ ด้วยความที่ใช้พื้นฐานเดียวกับแบรนด์ยอดนิยมที่ผู้ใช้โดยมากนิยมนำมาต่อยอด อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งแม้ว่าทางค่ายอาจไม่ได้เน้นตรงจุดนั้น แต่ก็เชื่อว่าก็ย่อมมีคนที่คิดในมุมมองที่แตกต่างเช่นกัน ในอนาคตเราอาจได้เห็น BT-50 1.9 โลดแล่นอยู่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตก็เป็นได้…ใครจะไปรู้

สวยงาม ดูหรูหรา…มาไกลกว่าเจนเนอเรชั่นก่อนหลายช่วงตัว

หากเท้าความไปถึง Mazda BT-50 เจนเนอเรชั่นก่อน สิ่งที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ปิคอัพผู้นี้ ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แม้ว่าระบบเครื่องยนต์กลไกจะดูน่าสนใจกว่าเพื่อนร่วมคลาสหลายๆ ค่าย หลักๆ คงหนีไม่พ้นในเรื่องดีไซน์ที่ดูสุดโต่ง แปลกใหม่เกินที่ผู้ใช้ชาวไทยจะคุ้นเคยได้ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เสียงของแฟนๆ แตกออกเป็น 2 แนว ชนิดที่ว่าไม่รัก…ก็เกลียดไปเลย แต่การกลับมาในเวอร์ชั่นนี้ นอกจากผู้คนจะคุ้นชินกับแนวทางในการออกแบบปิคอัพในสไตล์ Mazda แล้ว ก็คงจะเป็นภาพลักษณ์ที่สวยงาม ดูหรูหรา อย่างมิอาจปฏิเสธ ซึ่งตรงนี้คงต้องยกเครดิตให้กับกลิ่นอายการออกแบบภายใต้แนวคิด Kodo Design อันเป็นดีไซน์ที่ละลายความรู้สึกเดิมๆ ของผู้บริโภค ให้กลับมามอง Mazda BT-50 ในเชิงบวกมากขึ้น หากพูดตรงๆ คงต้องขอชมว่าสวยงาม หรูหรา ดูป๋าขึ้นอย่างไร้ที่ติจริงๆ โอเคแหละครับ ว่าอาจจะไม่ได้ถึงกับไร้ที่ติ แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดไร้ที่ชมเหมือนรุ่นก่อนก็แล้วกัน

Mazda BT-50 2021 เปิดตัวมาพร้อมทางเลือก 14 รุ่นย่อย 3 ตัวถัง และ 2 เครื่องยนต์ ซึ่งจุดสังเกตง่ายๆ คือ รุ่นที่เป็นเครื่องยนต์ท็อปคลาส 3.0 ลิตร 190 แรงม้า จะมีใน 2 รุ่นย่อย ที่เป็นขับเคลื่อน 4 ล้อ เท่านั้น ที่เหลืออีก 12 รุ่น ตั้งแต่หัวเดี่ยว, ฟรีสไตล์แคป, ดับเบิ้ลแคป ไม่ว่าจะเป็นตัวเตี้ย หรือตัวยกสูง Hi Racer จะมาพร้อมเครื่องยนต์ในพิกัด 1.9 ลิตร 150 แรงม้า ทั้งหมด ดังนั้น…หากต้องการรถหน้าหล่อ เครื่องแรง ต้องยอมจ่ายค่าตัวที่ 1,118,000 บาท ขึ้นไป และถ้าต้องการเครื่อง 3.0 เกียร์อัตโนมัติ ต้องจ่ายเพิ่มอีก 35,000 บาท (ราคาสูงกว่าเครื่อง 3.2 ลิตร ขับสี่ เจนเนอเรชั่นก่อน  63,000 บาท) ในส่วนของมิติตัวถัง แม้จะกว้างกว่าเดิม แต่เมื่อเทียบความยาวกับรุ่นก่อน ถือว่าสั้นกว่าค่อนข้างเยอะ แต่ก็ยังใหญ่กว่าแบรนด์คู่แฝด และเป็นรองแค่ Ranger Wildtrack, REVO Rocco และ MG Extender

ด้านพละกำลังอยู่ในระดับกลาง ถ้าอยากเล่นของแรง ต้องขับสี่เท่านั้น !

สิ่งที่ดูจะเป็นรองแบรนด์อื่นๆ อยู่พอตัว ดูจะเป็นเรื่องของเครื่องยนต์กลไก ที่เมื่อเลือกคบกับพันธมิตรที่ไม่ใช่สาย Perfomance แท้ๆ ก็คงต้องทำใจยอมรับในสิ่งที่มีอยู่ แม้ว่าจะใช้ขุมพลังในระดับ 3.0 ลิตร ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในคลาส (ถ้าไม่นับรุ่นก่อนที่เป็น 3.2 ลิตร 200 แรงม้า) อันดับยังคงอยู่กลางตาราง แม้ว่าตัวเลข 190 แรงม้า 450 นิวตัน-เมตร จะเท่าๆ กับ Navara Pro 4X แต่อย่าลืมว่า ด้วยขนาดเครื่องยนต์ที่แตกต่างกันถึง 700 ซีซี. ย่อมต้องยอมรับว่าเครื่องยนต์เทอร์โบคู่ของ Nissan นั้นมีดีกว่าพอตัว เมื่อเทียบกันแบบปอนด์ต่อปอนด์ ยิ่งเมื่อเจอกับระบบส่งกำลังที่จะเอียดกว่า ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้การส่งถ่ายกำลังในการขับเคลื่อนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าตามไปด้วย แต่หากทั้ง 3 รุ่น (รวมถึงรุ่นที่กำลังต่ำกว่าอย่าง Triton และ Extender) ต้องยอมยกตำแหน่งจอมพลังให้กับ REVO Rocco (204 แรงม้า 500 นิวตัน-เมตร) ที่เครื่องยนต์ใหญ่กว่า (รองจากเครื่อง 3.0) และที่สุดของคลาสจริงๆ คือ Ranger Wildtrack 2.0 Bi Turbo ที่แม้จะมีความจุแค่ 2 ลิตร แต่เรียกแรงม้าได้ถึง 213 ตัว 500 นิวตัน-เมตร พร้อมระบบส่งกำลัง 10 สปีด ที่ยกมาจากรุ่นสุดยอดอย่าง Raptor

ด้วยความที่จุดขาย ไม่ได้อยู่ที่ Output ด้าน Input จึงทำได้ดีกว่า ด้วยเหตุผลที่สนับสนุนกัน

ผลพวงจากพละกำลังที่ดูจะไม่ใช่จุดแข็ง กลับเป็นข้อดีที่ส่งให้ Mazda BT-50 2021 ครองตำแหน่ง Best in class ในเรื่องอัตราสิ้นเปลือง โดยตัวเลขบน Eco Sticker แสดงไว้ที่ 13.8 กม./ลิตร เท่ากับคู่แฝดของเขา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนมากที่สุดอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากเจนเนอเรชั่นก่อนทำไว้แบบไม่เกรงใจผู้ใช้ที่ 9.5 กม./ลิตร ด้วยความที่เป็นเครื่องยนต์ความจุและจำนวนลูกสูบมากกว่าเพื่อน อันดับ 2-6 ไล่กันมาแบบติดๆ ทั้ง REVO Rocco 13.5 กม./ลิตร, MG Extender 13.3 กม./ลิตร, Triton Athlete 13.2 กม./ลิตร, Ranger Wildtrack 13.1 กม./ลิตร และ Navara Pro 4X 12.8 กม./ลิตร ซึ่งหากนำมาขับใช้งานบนถนนจริงๆ ย่อมมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการสิ้นเปลืองมากกว่า จะกินมาก กินน้อย ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ล้วนๆ

ความโดดเด่น คือ ภายในหรูหรา ประณีต วัสดุดูมีเกรด และฟังค์ชั่นความบันเทิงครบและหลากหลาย

เบาะนั่ง รายละเอียดภายในต่างๆ ดูดีกว่าแบรนด์ที่ใช้พื้นฐานร่วมกันอย่างรู้สึกได้

ความน่าสนใจอีกประการในความเป็น Mazda BT-50 2021 คือ ความโดดเด่นในเรื่องการเลือกใช้วัสดุ รวมถึงงานประกอบ ที่ใส่ความประณีตเข้าไปตามสไตล์ของทางค่าย พร้อมจัดออพชั่นให้แบบครบถ้วนสำหรับการใช้งาน ไฟหน้ามาในแบบ LED Projector ตั้งแต่รุ่นหัวเดี่ยวที่ค่าตัวเริ่มต้นแค่ 553,000 บาท แต่ก็น่าเสียดายที่ไฟท้ายแทบจะทุกค่ายนั้นเป็น LED หมดแล้ว (ยกเว้น Ranger) แต่ Mazda BT-50 ยังเป็นหลอดไส้สไตล์อนุรักษ์นิยม ห้องโดยสารหรูหราไม่แพ้ใคร แต่เรื่องการเก็บเสียง ไม่ว่าใครในคลาสนี้ คงต้องยอมรับว่าเป็นรอง Pro 4X ที่ใช้กระจก Acoustic Glass ใน 3 บาน ด้านหน้า ในขณะที่ BT-50 และเพื่อนร่วมคลาส ยังคงเป็นแค่กระจกแบบ 2 ชั้น ในบานหน้า และ 1 ชั้น สำหรับบานด้านข้าง แต่สิ่งที่ได้มาแทนที่ก็คือ หน้าจอแบบสัมผัสขนาด 9 นิ้ว (ใหญ่สุดในคลาส เทียบเท่าคู่แฝด ส่วนค่ายอื่นๆ เป็น 8 นิ้ว และ 6 นิ้ว สำหรับ Triton) ที่รองรับ Apple Carplay และ Andriod Auto (Pro 4X และ Ranger ที่มี) รวมถึงฟังก์ชั่นแคสหน้าจอมือถือผ่าน Wifi ขึ้นหน้าจอ มีกล้องมองหลัง (Pro 4X เป็นกล้องมองรอบทิศทาง (เช่นเดียวกับ Triton) พร้อมระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว) ระบบปรับอากาศมาในแบบ Dual Zone พร้อมฟังก์ชั่น Remote Start แต่น่าเสียดายที่ไม่มีระบบผ่อนแรงเปิดกระบะมาให้ เหมือนกับที่ Pro 4X, Rocco และ Ranger มีให้

ระบบความปลอดภัยอยู่ในระดับมาตรฐาน แต่ก็ยังเป็นรองรถที่มีราคาต่ำกว่าอยู่ดี

ด้านระบบความปลอดภัยหลักๆ ถือว่ามีให้อย่างครบถ้วน ทั้งเซ็นเซอร์กะระยะหน้า 4 หลัง 4 จุด, ถุงลมนิรภัยให้มา 6 ตำแหน่ง (Rocco, Pro 4X 7 ตำแหน่ง) มีระบบสัญญาณไฟฉุกเฉินเตือนอัตโนมัติเมื่อเบรกกะทันหัน มีระบบควบคุมเสถียรภาพการขับขี่ ระบบป้องกันการลื่นไถลพื้นฐาน แต่ไม่มีระบบควบคุมเสถียรภาพเมื่อมีการลากจูง เหมือนกับที่หลายๆ ค่ายมีมาให้ ด้วยเหตุผลที่ทางค่ายแจ้งว่าไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ในไทยกับออสเตรเลียนั้นต่างกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว วัฒนธรรมการลากจูงของผู้ใช้ชาวไทยเริ่มมีสูงขึ้นในระยะหลัง แต่ยังอาจจะเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับการใช้งานโดยรวมของตลาดเมืองไทย

Mazda BT-50 DBL 3.0 4×4 AT กับภาพรวมด้านราคา 1,153,000 บาท ในตลาดปิคอัพ หากวัดกันกับฝาแฝดต่างค่ายที่ราคาสูงกว่า 4,000 บาท อาจจะยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องจ่ายส่วนต่างตรงจุดนี้ นอกเสียจากว่าคุณจะเป็นแฟนพันธ์แท้ของค่ายนั้น อย่างไรแล้วภาพลักษณ์และมาตรฐานการผลิตโดยรวมของ BT-50 ก็อยู่ในระดับที่น่าสนใจ จนพาให้นึกถึงว่า ถ้าวันใดวันหนึ่งค่ายมาสด้ามีแพลนที่จะส่ง PPV มาลุยตลาดกับเขา วงการนี้คงจะลุกเป็นไฟด้วยคาแร็กเตอร์สไตล์หรูที่มีความชัดเจนในตัวตนอย่างแน่นอน หากเทียบกับรุ่นท็อปขับสี่ของแบรนด์อื่นๆ Mazda BT-50 2021 อยู่ในระดับกลางๆ ดูแล้วความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฎ วัดกันเน้นๆ เรื่องออพชั่นและความปลอดภัย ก็ดูจะเป็นรอง Pro 4X ชัดเจน (ที่สำคัญคือ ค่าตัวถูกกว่า 4,000 บาท), เน้นเรื่องความโดดเด่นด้านพละกำลังและเทคโนโลยีขับเคลื่อน Ranger (+112,000 บาท) ก็ดูจะตอบโจทย์กว่า ถ้าไม่ซีเรียสเรื่องงบ, แต่ถ้าต้องการงานดีมาตรฐาน Rocco (+ 86,000 บาท) ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่สมรรถนะอาจลดหลั่นลงมา แต่ค่าตัวถูกลง ทั้ง Triton Athlete (- 29,000 บาท) และ MG Extender (-124,000 บาท) แค่อยู่ที่ว่า ราคานี้ กับสิ่งที่ได้ และดีไซน์ที่ไม่มีใครเหมือน ตอบโจทย์สำหรับเงินในกระเป๋าของคุณมากขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ ตำแหน่งความคุ้มค่าที่สุด ดูจะยังไม่ใช่ทางของปิคอัพแห่งฮิโรชิม่าคันนี้

นอกจากคู่แข่งสุดหินในคลาสแล้ว สิ่งที่น่าคิด…ถ้าคุณไม่ได้ต้องการรถประเภทยาว ใหญ่ ขนของได้เยอะ ในช่วงราคาระหว่าง 1.1 -1.2 ลิ้นบาท ยังมีทางเลือกให้ได้มองอีกไม่น้อย โดยเฉพาะกับบรรดา B SUV รุ่นท็อปๆ ที่อาจตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบาย คล่องตัวในการใช้งานได้มากกว่า ซึ่งรถคลาสนั้นโดยส่วนใหญ่ก็จะมาพร้อมเทคโนโลยีการขับเคลื่อนที่ทันสมัย มีอะไรให้ใช้งานที่มากกว่าเครื่องยนต์ เช่น ระบบไฮบริด หรือการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 100% ในสไตล์ e – Power หรือหากยังสบายไม่พอ มองป้วนเปี้ยนอยู่ในงบเท่านี้ C Sedan รุ่นบนๆ มาให้เลือกอีกด้วย (รุ่นท็อปบางค่ายอาจเกินงบไปนิด) ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่จุดประสงค์ในการใช้งานแล้วแหละ ว่าอยากได้แนวไหน ทนถึก หลากหลาย หรือเน้นความสะดวกสบาย เป็นสำคัญ


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy