Home » Hybrid, Plug-In Hybrid หรือ EV รถพลังงานทางเลือกแบบไหน…ที่เหมาะกับเรา ?

Hybrid, Plug-In Hybrid หรือ EV รถพลังงานทางเลือกแบบไหน…ที่เหมาะกับเรา ?

by Admin clubza.tv

ในปัจจุบัน…รถยนต์พลังงานทางเลือก เริ่มมีมาให้เราได้เลือกใช้งานกันหลากหลายรูปแบบ หลายรุ่น หลายคลาส หลายราคา จนเรียกได้ว่าเกือบจะครบทุกความต้องการแล้ว และจะยิ่งมีทางเลือกเข้ามาให้มองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาในการใช้งาน ณ ปัจจุบัน จึงอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวผลิตภัณฑ์ แต่หากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในใจผู้ใช้ ว่าควรจะมองรถยนต์พลังงานทางเลือกในรูปแบบไหน ให้เหมาะกับรูปแบบการใช้งานของตัวเราเอง โอกาสนี้ “ขับซ่า” จะมาพูดถึงข้อดี – จุดสังเกต ของรถยนต์พลังงานทางเลือกในแต่ละรูปแบบ ไม่ว่า Hybrid, Plug-In Hybrid หรือ EV ไปดูกันเลยว่า “รถคันไหน…เหมาะกับใคร”

ประหยัดกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์ล้วนๆ แต่อาจไม่สุดในด้านใดด้านหนึ่ง

Hybrid

เริ่มกันด้วยรูปแบบที่เข้าถึง และเข้าใจได้ง่ายที่สุด นั่นก็คือ รถในรูปแบบ Hybrid ที่คนไทยคุ้นหูคุ้นตา คุ้นเคยกันมานาน เป็นรถยนต์พลังงานทางเลือกที่ออกแบบมาให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมกับตัวรถน้อยที่สุด จนแทบยไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก แค่เติมน้ำมันอย่างเดียว ที่เหลือก็แค่ให้ตัวรถจัดการบริหารการใช้พลังงานให้ทั้งหมด ธรรมชาติโดยส่วนใหญ่ของรถในรูปแบบ Hybrid มอเตอร์ไฟฟ้า รวมถึงแบตเตอรี่ จะยังมีขนาดไม่ใหญ่ กำลังไม่เยอะ ความจุไม่สูงเท่าใดนัก หน้าที่หลักๆ ของตัวมอเตอร์คือ แค่ช่วยในการออกตัว หรือสร้างอัตราเร่งที่ดีขึ้นในช่วงที่เร่งแซง ส่วนใหญ่มักจะเจอในรถที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ Parallel Hybrid หรือใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนร่วมกับเครื่องยนต์ ยกเว้น Hybrid สมัยใหม่ที่ผ่านการพัฒนารูปแบบการทำงานที่แตกต่างไป นำความเป็น Series Hybrid หรือเครื่องยนต์มีหน้าที่ปั่นไฟ เพื่อจ่ายให้กับมอเตอร์ขับเคลื่อน มาใช้มากขึ้น  เช่น e-Power หรือ e:HEV ที่ยกหน้าที่ให้กับมอเตอร์เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน ส่วนเครื่องยนต์มีหน้าที่แค่ปั่นไปและป้อนให้กับมอเตอร์ (e:HEV ใช้เครื่องยนต์เป็นตัวขับเคลื่อนในย่านความเร็วสูง เนื่องจากประหยัดพลังงานได้มากกว่าการใช้เครื่องยนต์เพื่อปั่นไฟให้กับมอเตอร์) ซึ่งแต่ละรูปแบบ ก็จะมีฟังค์ชั่นพิเศษตามที่ค่ายผู้ผลิตคิดออกมา

ข้อดี

ด้วยความที่ยังคงดีไซน์โดยพื้นฐานการใช้งานที่ผู้ใช้คุ้นเคย ทำให้ไม่ต้องปรับตัวมาก เติมน้ำมันเป็นอันจบ ที่เหลือก็ให้รถจัดการไป สิ่งที่ได้คือ อัตราเร่งที่ดี เนื่องจากมีมอเตอร์ไฟฟ้ามาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อน อัตราการบริโภคเชื้อเพลิงที่ต่ำลง ปล่อยมลพิษต่ำลง เนื่องจากเครื่องเครื่องยนต์ทำงานน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงที่การจราจรแออัด ในรถไฮบริดรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความจุแบตเตอรี่สูงขึ้น เช่น e-Power เครื่องยนต์แทบจะไม่ต้องทำงาน ในขณะที่รถติดหยุดนิ่ง และสามารถใช้งานในรูปแบบ EV ได้ในระยะสั้นๆ หรือ e:HEV ที่ยังบริหารจัดการกับการใช้เชื้อเพลิงได้อย่างเหมาะสม แม้ในยามที่ใช้ความเร็วสูง ซึ่งรถในรูปแบบ Hybrid ณ ปัจจุบัน มีค่าตัวอยู่ในระดับที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

ข้อสังเกต

ด้วยความที่ Hybrid เป็นเทคโนโลยีในระดับแรกเริ่ม เรื่องความประหยัดหรือสมรรถนะ ยังอาจจะไปได้ไม่สุด เหมือนกับรถในรูปแบบที่เป็น Plug-In Hybrid และ EV ซึ่งการใช้เครื่องยนต์ปั่นไฟจ่ายให้กับมอเตอร์เพียงอย่างเดียว อาจไม่ตอบโจทย์ในเรื่องความประหยัดสำหรับการเดินทางที่ใช้ความเร็วสูง

ให้สมรรถนะสูง แต่ใช้อุปกรณ์เยอะ น้ำหนักเลยเยอะขึ้นโดยปริยาย

Plug-In Hybrid

ทางเลือกสายกลางที่ดูจะลงตัวสำหรับการใช้งานในยุคปัจจุบัน ที่การวางระบบเติมพลังงานต่างๆ อาจยังไม่พร้อมเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งรถในรูปแบบ Plug-In Hybrid มาในพื้นฐานที่มอเตอร์ไฟฟ้ารวมถึงแบตเตอรี่ถูกพัฒนาให้มีกำลังและความจุที่สูงขึ้น (โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 10 kwh ขึ้นไป) สามารถใช้งานด้วยไฟฟ้าล้วนๆ ในรูปแบบ EV Mode ได้ไกลเพียงพอกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือประมาณ 50-65 กม. (สำหรับรถระดับพรีเมี่ยมบางรุ่น สามารถวิ่งในรูปแบบ EV Mode ได้เกิน 100 กม.) ซึ่งมอเตอร์ขับเคลื่อนของรถเหล่านั้น มีกำลังที่สูงพอที่จะขับเคลื่อนในทุกย่านความเร็วที่ใช้งาน (สูงกว่า 130 กม./ชม.) โดยนอกจากระยะการทำงานด้วย EV Mode ตัวรถยังสามารถขับเคลื่อนต่อด้วยระบบ Hybrid ที่ผสานการทำงานระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม (สำหรับรถ Plug-In Hybrid ในยุคปัจจุบัน หน้าที่หลักในการขับเคลื่อน ยังคงเป็นของมอเตอร์ โดยมีเครื่องยนต์แค่สำหรับการปั่นไฟ หรือเสริมกำลังในการขับเคลื่อนเท่านั้น) ซึ่งหากคุณเป็นคนที่ใช้รถต่อวันไม่เกิน 50-60 กม. (หรือน้อยกว่านั้น) คุณแทบไม่ต้องเติมน้ำมันเลยทีเดียว

รถ Plug-In Hybrid หลายรุ่น มีคุณสมบัติเฉพาะตัว ด้วยการวางเลย์เอาท์มอเตอร์ได้อย่างหลากหลาย

บางรุ่นก็แบตฯ ใหญ่พอจะวิ่งได้ไกลระดับกว่า 100 กม. และรองรับการชาร์จแบบ Quick Charge

ข้อดี

หากคุณเป็นคนที่ใช้รถอยู่ในค่ามาตรฐาน คือ ประมาณ 50-60 กม. แค่กลับบ้าน…แล้วเสียบชาร์จไฟให้เต็มประมาณ 4-5 ชม. (เสียบไฟหลัง 22.00 น. จะยิ่งได้ค่าไฟที่มีเรตต่ำลงไปอีก) เดือนๆ นึง ถ้าไม่ต้องเดินทางออกต่างจังหวัดไกลๆ แทบไม่ต้องใช้น้ำมันเลยทีเดียว หรือหากต่อวัน…คุณใช้งานในระยะไม่เกิน 100 กม. คุณจะใช้น้ำมันน้อยมากในระดับประมาณเฉลี่ยแล้วประมาณ 35-40 กม./ลิตร (ขึ้นอยู่ที่พฤติกรรมการขับขี่) จอดติดอยู่นิ่งๆ นานๆ หรือจอดเปิดแอร์นั่งในรถ 2-3 ชั่วโมง ปริมาณแบตเตอรี่แทบไม่ลด และเครื่องยนต์ไม่ติด ไม่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ไม่ปล่อยมลพิษ ไม่กระทบกระเทือนกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ข้อดีอีกอย่างคือ ด้วยการเป็นรถที่ผสานกำลังกันระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงและเครื่องยนต์ทำงานร่วมกัน ส่งให้รถในรูปแบบ Plug-In Hybrid โดยส่วนใหญ่จะเป็นรถที่มีสมรรถนะสูง – สูงมาก ซึ่งในปัจจุบัน…รถในรูปแบบ Plug-In Hybrid เริ่มต้นในระดับราคาที่หลายๆ คนสามารถเป็นเจ้าของได้ไม่ยาก

เทคโนโลยีใหม่ๆ ในปัจจุบัน…ก็มาพร้อมค่าตัวที่ตัดสินใจไม่ยาก

ข้อสังเกต

การใช้งานที่ถูกต้องและเหมาะสม คือ “ต้องชาร์จไฟ” อย่างสม่ำเสมอ เพราะนอกจากจะทำให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่และระบบการทำงานให้ยาวนานขึ้น ซึ่งหากคุณเป็นคนที่ชอบวางแผนในการเดินทาง รถในรูปแบบนี้…จะตอบโจทย์ในเรื่องความประหยัดมาก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยระยะเวลา รวมถึงค่าใช้จ่ายในการชาร์จ ณ จุดชาร์จสาธารณะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ 150 – 180 บาท ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าปริมาณแบตเหลืออยู่ระดับไหน (แนะนำให้ชาร์จช่วงหลัง 22.00 น. ที่บ้าน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการชาร์จจะต่ำที่สุด เฉลี่ยหากใช้ไฟฟ้าล้วนๆ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางจะอยู่ที่ประมาณ 70 สตางค์/กม. เท่านั้น) แต่หากคุณใจนิ่ง หรือไม่ค่อยชอบเติมไฟ ด้วยความที่รถเหล่านี้ โดยมากจะเป็นรถที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งมีน้ำหนักมาก จากทั้งเครื่องยนต์ มอเตอร์ รวมถึงแบตเตอรี่…อาจจะไม่ตอบโจทย์ในเรื่องความประหยัดมากนัก

น้ำหนักอาจไม่น้อย แต่การจัดวางที่เหมาะสม ช่วยดึงประสิทธิภาพในการขับขี่ออกมาได้อย่างมาก

EV

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทางเลือกแห่งอนาคตที่ดูเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อย จากที่ครั้งหนึ่งเราเคยมองว่าไกลตัว แต่พอทุกวันนี้รถยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบ BEV (ฺBattery Electric Vehicle) อยู่ในระดับที่เข้าถึงและจับต้องได้ (ราคาเริ่มต้นต่ำกว่า 1 ล้านบาท และจะต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อเทคโนโลยีขยับสูงขึ้นและมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง) คาแร็กเตอร์เฉพาะตัวของรถในรูปแบบนี้คือ การออกแบบสมรรถนะให้เหมาะสมกับการใช้งาน ไม่จำเป็นต้องมีพละกำลังสูงมาก แต่สามารถตอบสนองได้ดีในทันทีที่แตะคันเร่ง ให้การทำงานที่เงียบ และปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ตอบโจทย์เรื่องความประหยัดทั้งการขับขี่ในสภาพการจราจรที่แออัด รวมถึงการเดินทางไกลๆ ซึ่งรถ EV โดยส่วนใหญ่ มีระยะทางในการเดินทางที่ไกลกว่า 350 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ด้วยแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่ (50 kwh ขึ้นไป) ซึ่งรองรับการชาร์จในรูปแบบ Quick Charge ด้วยไฟกระแสตรง (DC) ซึ่งใช้เวลาในการชาร์จเพียง 30-40 นาที โดยมีค่าใช้จ่ายในการชาร์จ/ครั้ง ประมาณ 300-350 บาท (6.50 บาท/kwh ในช่วงเวลา Off Peak Time หรือหลัง 22.00 – 8.00 น. และ 7.50 บาท/kwh ในช่วงเวลา Peak Time) หากลองคำนวนระยะทางในการเดินทาง ต่อค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟ อยู่ที่ราวๆ กม. ละไม่เกิน 1 บาท

ณ เวลานี้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEV) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ข้อดี

นอกจากจะให้การตอบสนองที่ดีจากคาแร็กเตอร์เฉพาะตัวของรถที่ใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อน รวมถึงลดค่าใช้จ่าย ลดการปลดปล่อยมลพิษในทุกการเดินทางได้แล้ว ด้วยความเป็นรถที่มีชิ้นส่วนที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน (แพลตฟอร์ม ตัวถัง แบตเตอรี่ มอเตอร์) ทำให้การจัดวางองค์ประกอบต่างๆ สามาถทำได้ง่ายและมีความยืดหยุ่นสูง  เช่น สามารถวางแบตเตอรี่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อให้การกระจายน้ำหนักของตัวรถทำได้อย่างสมดุล ส่งผลให้รถมีสมรรถนะในการขับขี่ที่ดีมากขึ้น (ตรงข้างกับสิ่งที่หลายคนจินตนาการ ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะต้องอืด เน้นใช้งาน แบบไม่คาดหวังด้านสมรรถนะในระดับสูง) ในความเป็นจริง…นอกจากจะเป็นรถที่ประหยัดแล้ว ยังเป็นรถที่ให้ความสนุกสนานในการขับขี่ได้สูงมากอีกด้วย นอกจากนี้…ด้วยชิ้นส่วนและองค์ประกอบที่น้อยชิ้น นั่นส่งผลให้การดูแลรักษาทำได้ง่าย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวอีกด้วย

จุดชาร์จเร็ว…มาแน่ 500 แห่ง ในระยะเวลาไม่นาน !

ข้อสังเกต

ด้วยความที่จุดชาร์จแบบ Quick Charge ยังมีจำนวนและข้อจำกัดอยู่บ้าง (บางที่ต้องชาร์จหลังเวลา 22.00 น. เป็นต้นไป) ทำให้ในการเดินทางไกลๆ แต่ละครั้ง อาจต้องวางแผนกันสักหน่อย ซึ่งในปัจจุบันก็มีแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่สามารถแสดงจุดชาร์จเพื่อให้สามารถวางแผนในการเดินทางได้ค่อนข้างหลากหลาย รวมถึงค่ายรถชั้นนำ เช่น MG ยังพยายามที่จะผลักดันจุดชาร์จเร็วให้ครอบคลุมในระยะเวลาอันใกล้ (ระยะห่างไม่เกิน 150 กม./จุด) ทำให้การเดินทางไกลสำหรับรถในรูปแบบ EV ดูจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราเคยจินตนาการ แต่…แค่เวลานี้ ยังไม่เหมาะกับการเป็นรถคันแรก หรือคันเดียวในบ้าน

รถแต่ละรูปแบบ…ล้วนมีข้อดี จุดด้อย ในตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกให้เหมาะกับการใช้งานของตัวเองมากแค่ไหน ซึ่งบทความนี้ก็น่าจะพอเป็นภาพคร่าวๆ ให้ได้เห็น ทำให้สามาถเลือกรูปแบบการใช้งาน ทั้งกับรถในรูปแบบ Hybrid, Plug-In Hybrid หรือ EV ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เน้นย้ำเสมอครับว่า…รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป ปรับตัวและทำความเข้าใจ แล้วคุณจะขับเคลื่อนกับสิ่งนี้ได้อย่าง Happy แน่นอน บอกเลยว่า ครั้งหนึ่งผมก็เคยแอนตี้ แต่ ณ เวลานี้ เวลาได้ขับรถพวกนี้ ความรู้สึกมันแบบ…โคตรคูล !


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy