Home » Haval H6 หลังฝากเนื้อฝากตัวกับชาวไทย ให้ยืนตรงไหนดีใน SUV C-Segment ?

Haval H6 หลังฝากเนื้อฝากตัวกับชาวไทย ให้ยืนตรงไหนดีใน SUV C-Segment ?

by Admin clubza.tv

เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในวงการยานยนต์บ้านเรา สำหรับการมาของรถสัญชาติจีนแท้ๆ อย่าง Great Wall Motor ที่หวังบุกตลาดแย่งส่วนแบ่งด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย โดยรุ่นแรกที่ทาง GWM เผยโฉมให้เป็นตัวชูโรงในการบุกตลาดเมืองไทย ก็คือ Haval H6 รถในรูปแบบ SUV ที่ดูจากหน้าตาแล้ว ก็น่าจะพอฟัดพอเหวี่ยงแย่งส่วนแบ่งกับเจ้าตลาดในคลาสได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ เหลือแต่เพียงองค์ประกอบและราคาที่ทางค่ายจะเซ็ตไว้ให้อยู่ในระดับไหน ซึ่งในครั้งนี้เราจะพาทุกท่านไปวิเคราะห์ให้เห็นภาพกันมากขึ้น

ยืนหนึ่งเรื่องความใหญ่

สิ่งแรกที่จะเป็นปัจจัยในการกำหนดคลาสของ Haval H6 ได้อย่างชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องของขนาดตัวถัง ซึ่งหากลองกางสเป็คดูแล้ว ชัดเจนว่า SUV น้องใหม่ (ในบ้านเรา) พร้อมชนรถตรวจการในพิกัด C-Segment หากว่ากันด้วยเรื่องขนาด อาจไม่เรียกว่า “แค่แข่งขันได้” แต่ Haval H6 นั้น เรียกได้ว่า จะมาเป็นพี่เบิ้มคนใหม่ในคลาส ด้วยขนาดตัวถังที่ใหญ่ระดับขึ้นเบอร์ 1 โดยมีความกว้าง x ยาว x สูง อยู่ที่ 1,886  x 4,653 x 1,700 มม. ใหญ่กว่าอันดับ 2 ที่เป็นจ้าวตลาดในคลาสนี้ในช่วงระยะหลังอย่าง MG HS ที่ 1,879 x 4,574 x 1,664 ในทุกมิติ ส่วนอดีตผู้เคยยิ่งใหญ่อย่าง Honda CR-V นั้นทำได้เพียงอันดับที่ 4 โดยเป็นรอง Subaru Forester อยู่เล็กน้อย ส่วนอันดับที่ 5 นั้น…แน่นอนว่าเป็นของ Mazda CX-5

ใหญ่แท้แค่ไหน…ห้องโดยสารนั้น สำคัญกว่าขนาดภายนอก

แต่การดูแค่ขนาดตัวถังเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่ามิอาจจะทำให้เราสามารถฟันธงได้ทั้งหมด ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ควรนำมาพิจารณาร่วมด้วย โดยเฉพาะเรื่องของฐานล้อ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพื้นที่ใช้สอยภายในห้องโดยสาร หากดูจากตัวเลขในคลาส SUV C-Segment รุ่นที่มีระยะฐานล้อยาวที่สุดกลับเป็นอันดับ 2 อย่าง MG HS ที่ 2,720 มม. ตามมาด้วยรถที่มีขนาดตัวถังเล็กที่สุดอย่าง Mazda CX-5 ซึ่งอาจเป็นเครื่องชี้วัดในการซ่อนรูปของ SUV Kodo Design ผู้นี้ก็เป็นได้ ส่วนอันดับ 3 ในเรื่องฐานล้อ เป็นของน้องใหม่ Haval H6 ที่มีขนาดตัวถังใหญ่ที่สุด ตามมาด้วย Subaru Forester และ Honda CR-V ที่รั้งตำแหน่งฐานล้อสั้นที่สุดในคลาส

แรงนะ…แม้จะยังไม่ใช่เบอร์ 1

ด้านขุมพลัง แม้จะยังไม่ชี้ชัดแต่หากอ้างอิงจากเว็บไซท์ Official ของ Haval จะพบว่า Haval H6 มาพร้อมขุมพลังใน 2 รูปแบบ นั้นก็คือ เครื่องยนต์แบบเบ็นซินเทอร์โบ พิกัด 1.5 ลิตร ซึ่งดูแล้ว…ก็น่าจะเป็นคู่ฟัดโดยตรงกับเพื่อนร่วมสัญชาติอย่าง MG HS โดยกะกำลังที่ทาง Haval เคลมเอาไว้อยู่ที่ 168 แรงม้า และแรงบิด 285 นิวตัน-เมตร ซึ่งเบียด MG HS ที่มีเพียง 162 แรงม้า 250 นิวตัน-เมตร อยู่หน่อยๆ โดยอันดับ 1 เรื่องพละกำลังในคลาสนี้ ตกเป็นของ Honda CR-V (ในรุ่นย่อย 2.4E*) ที่ทำได้ 173 แรงม้า และ 224 นิวตัน-เมตร ตามมาด้วยเครื่องยนต์เบ็นซิน 2.0 ลิตร ของ Mazda CX-5 (ในรุ่นย่อย 2.0 SP*) และเครื่องยนต์ Boxer ของ Subaru Forester ส่วนขุมพลังอีกบล็อกหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซท์ของ Haval ก็คือ เครื่องยนต์ในรูปแบบ 2.0 ลิตร เทอร์โบ ให้กำลัง 227 แรงม้า และแรงบิด 327 นิวตัน-เมตร ซึ่งไม่แน่ว่าทาง Haval อาจจะนำมาเป็นทางเลือก พร้อมยัดออพชั่นแน่นๆ สำหรับผู้ที่ต้องการความพรีเมี่ยมก็เป็นได้

*สาเหตุที่นำ Honda CR-V รุ่นย่อย 2.4E และ Mazda CX-5 รุ่นย่อย 2.0 SP มาเป็นตัวเปรียบเทียบ เนื่องด้วยปัจจัยด้านราคา หากเลือกรุ่นเครื่องยนต์หรือระบบขับเคลื่อนที่สูงกว่านี้ ราคาจะขยับสูงขึ้น จนไม่อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้

ระบบส่งกำลังถอดแบบเพื่อนร่วมชาติ

หากว่ากันด้วยเรื่องระบบส่งกำลัง มีอยู่หนึ่งค่ายที่พร้อมจะมีแฟนคลับสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นอยู่แล้ว นั่นก็คือ Subaru Forester เป็นหนึ่งเดียวในระดับราคาที่เกาะกลุ่มแต่ได้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ในรูปแบบ Asymetric ที่ขึ้นชื่อในเรื่องเสถียรภาพการขับขี่ ส่วน Haval H6 แม้จะมาในรุ่น 1.5 หรือ 2.0 ลิตร ก็ยังคงขับเคลื่อนด้วยชุดเกียร์ Dual Clutch Transmission แบบ 7 สปีด (หากอ้างอิงจากเว็บไซท์หลัก ยังไม่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ อย่างที่ลือกันก่อนหน้านี้) ซึ่งดูจะคล้ายคลึงกับเพื่อร่วมชาติอย่าง MG HS ส่วน Honda CR-V นั้น มาในรูปแบบ CVT ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า และที่ออริจินัลสุดๆ คือ Mazda CX-5 กับระบบเกียร์ Skyactiv Drive 6 สปีด คุมจังหวะด้วย Torque Converter อย่างที่เราคุ้นเคย

เพราะความคุ้มค่า…เป็นเหตุ

สิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องของราคาที่ยังไม่มีการประกาศหรือแง้มออกมาอย่างชัดเจนมากนัก ในความเป็นจริงของคลาสนี้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ MG HS ครองความเป็นจ้าวตลาด ณ ปัจจุบัน ก็คงหนีไม่พ้นปัจจัยทางด้านราคาที่ทำให้ผู้ซื้อสามารถตัดสินใจได้ง่าย โดยแม้ว่าจะมีค่าตัวที่ไม่แพง แต่ทางค่ายกลับจัดออพชั่นมาให้แบบไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ โดยเปิดราคาเริ่มต้นเพียว 919,000 บาท และปิดท้ายด้วยรุ่นบนสุดของเครื่องยนต์เบ็นซินที่ 1,119,000 บาท ส่วนใครที่ต้องการทางเลือกที่ได้มากกว่านั้น ยังมีในรุ่น PHEV ที่มาในรูปแบบปลั๊กอินไฮบริดให้เลือกในราคา 1,359,000 บาท ซึ่งไม่ว่าจะมองมุมไหน หากวัดกันด้วยเรื่องความคุ้มค่า ก็ยังอยู่ในระดับที่หาตัวจับได้ยากอยู่ดี โดยราคาของตัวเลือกอื่นๆ ในคลาสนี้อยู่ที่ 1,419,000 บาท สำหรับ Honda CR-V, 1,450,000 บาท สำหรับ Subaru Forester และรุ่นที่ราคาสูงที่สุดในตัวเลือกที่นำมาเปรียบเทียบ คือ Mazda CX-5 ที่ 1,560,000 บาท

ค่าตัวของ Haval H6 ควรอยู่ตรงไหน ?

นี่ไม่ใช่การฟันธงหรือคาดการณ์แต่อย่างใน แต่หากเป็นการนำเสนอความน่าจะเป็นด้านราคาที่อาจเกิดขึ้น โดยหากเรานำรถที่มีขายอยู่ในประเทศจีนด้วยกันอย่าง MG HS (เริ่มต้นที่ 119,800 หยวน) มาเป็นตัวเปรียบเทียบ กับราคาเริ่มต้นของ Haval H6 ที่ 115,900 หยวน จะพบว่า Haval H6 มีราคาต่ำกว่า MG HS อยู่ 3,100 หยวน (ประมาณ 14,500 บาทไทย) นำ % ความต่างจากการเทียบบัญญัติไตรยางค์ (ทางการไปไหม ?) มาคำนวณราคาเริ่มต้นของ MG HS ในประเทศไทย ที่ 919,000 บาท ก็น่าจะมีความเป็นไปได้สูงว่า ราคาเริ่มต้นของ Haval H6 ในบ้านเรา น่าจะอยู่ที่ราว 89x,xxx บาท และในรุ่นท็อปของเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เทอร์โบ อาจจะอยู่ในช่วง 1,07x,xxx บาท ซึ่งก็ต่ำกว่าราคา 1,119,000 บาท ของ MG HS ตัวท็อปเครื่อง 1.5 เทอรโบ ในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน

ไม่ว่าจะลงเอยแบบไหน เชื่อว่าการมาของ  Haval H6 จะทำให้ตลาด SUV พิกัด C-Segment กลับมาสู้กันอย่างสนุกอีกครั้ง รอดูกันต่อไปครับว่า เมื่อถึงเวลานั้น น้องใหม่อย่าง Haval H6 จะทำให้เราๆ ท่านๆ ว้าวได้ขนาดไหน ?


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy