Home » HALO ของดีที่ “เคยถูก” แอนตี้ แต่…นักแข่งหลายคน “รอดชีวิต” เพราะเจ้านี่อย่างปฏิเสธไม่ได้

HALO ของดีที่ “เคยถูก” แอนตี้ แต่…นักแข่งหลายคน “รอดชีวิต” เพราะเจ้านี่อย่างปฏิเสธไม่ได้

by Admin clubza.tv

แม้ว่าครั้งหนึ่งจะเคยถูกมองข้ามและค้านกันแบบหัวชนฝา โดยเฉพาะจากทีมชั้นนำในวงการแข่งขัน Formula 1 อย่าง Mercedes-AMG รวมถึง Red Bull Racing แต่ในท้านยที่สุดแล้ว สิ่งประดิษฐ์ที่ถูกเรียกว่า F1 HALO ก็ผ่านการพิสูจน์ตัวเองจนมาอยู่ในจุดที่เรียกว่า “เป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ขาดไม่ได้” สำหรับการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตระดับสูงสุดอย่าง Formula 1 ซึ่งในทุกๆ ฤดูกาล เราจะได้เห็น HALO แสดงบทบาทเซฟชีวิตนักแข่งเบอร์ต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น การโดนลูกหลงของ Charles Leclerc รายการ Belgium GP 2018, อุบัติเหตุของ Romain Grosjean ที่ Bahrain GP ในปี 2020, เหตุการณ์ระหว่างรคู่แชมป์โลก Max Verstappen และ Lewis Hamilton ที่ Monza ในปี 2021 รวมถึงล่าสุดกับเหตุการณ์ที่ British GP 2022 ของ Zhou Guanyu ซึ่งตัวรถเกิดการพลิกคว่ำและไถลไปตามแรงเฉื่อยกว่า 200 ม. จนปะทะเข้ากับรั้วของสนามอย่างจัง (ขนาดเจ้าตัวถึงกับออกมาให้สัมภาษณ์ว่า…เขาคงไม่มีีชีวิตรอด หากไม่ได้ HALO ช่วยเอาไว้) อันเป็นการตอกย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของ F1 HALO ที่ช่วยรักษาชีวิตนักแข่ง Formula 1 เอาไว้แบบนับครั้งไม่ถ้วน

HALO ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงปี 2016 ก่อนที่จะมีการบังคับใช้จริงตั้งแต่ฤดูกาลแข่งขันในปี 2018 ในระยะแรกๆ ทีมแข่งรวมถึงนักแข่งหลานคนล้วนไม่ยอมรับ เนื่องจากคิดว่าเป็นชิ้นส่วนที่มีการบทบังทัศนวิสัยขณะแข่งขัน รวมถึงยากต่อการเข้า – ออกจากตัวรถของนักขับ แต่แน่นอนว่า…ในปีแรกที่ถูกบังคับใช้ F1 HALO ถือว่าสร้างบทบาทของตัวเองได้อย่างชัดเจน นั้นก็คือ การปกป้องและสร้างความแข็งแรงให้กับห้องขับของรถแข่ง Formula 1 ซึ่งโดยปกติแล้ว จะไม่ได้มีโครงสร้างที่ปกคลมศีรษะ รวมถึงกระจกบังลมเหมือนกับรถยนต์ทั่วๆ ไป โดยตั้งแต่มีการใช้อุปกรณ์เซฟตี้อย่าง HALO มีการบันทึกสถิติไว้ว่า F1 HALO ช่วยลดความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุในสนามได้มากกว่า 90% ซึ่งนอกจากการแข่งขัน Formula 1 แล้ว HALO ยังถูกติดตั้งในรถแข่งล้อเปิดอื่นๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Formula E, F2, F3 หรือแม้แต่ F4 เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในระดับที่สูงมากยิ่งขึ้น

ตำแหน่งของ HALO ถูกติดตั้งเหนือระดับสายตา ดังนั้นจึงเป็นการยาก หากจะบอกว่าติดตั้งแล้วมีการบดบัง

เหตุการณ์เฉียดตายของ Zhou Guanyu…ผ่านมาได้เพราะ HALO

F1 HALO มาในลักษณะของโครงสร้างที่หุ้ม Cockpit ของรถแข่ง Formula 1 เพื่อลดโอกาสที่นักแข่งจะถูกกระทบ กระแทกจากวัตถุขนาดใหญ่ รวมถึงยังช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างของตัวรถ และห้องโดยสารของนักแข่งได้มากยิ่งขึ้น ในกรณีที่เกิดการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง แม้ว่า HALO จะเป็นชิ้นส่วนที่ถูกติดตั้งเพิ่มเข้ามา แต่ความเชื่อที่ว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้จะเป็นตัวบดบังสายตานั้น อาจเป็นเพียงความเชื่อผิดๆ ก่อนที่ F1 HALO จะถูกนำมาใช้ เนื่องจากอุปกรณ์ชิ้นนี้ ใช้ชิ้นส่วนโครงสร้างที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก รวมถึงถูกวางในตำแหน่งสูงซึ่งเลยระดับสายตานักขับเมื่อสวมหมวกกันน็อค (ชิลด์หมวกกันน็อคของนักขับรถแข่งจะค่อนข้างแคบ เมื่อเทียบกับชิลด์หมวกกันน็อคทั่วไป ที่ใช้สำหรับการขับขี่มอเตอร์ไซค์) ส่วนเสาที่อยู่ตรงกลางนั้นจะหายไปเมื่อมองไปด้านหน้า (เหมือนกับที่เรามองไม่เห็นจมูกตัวเอง)

จากรถสภาพนี้ แต่ Romain Grosjean รอดมาได้ เพราะมี HALO ช่วยค้ำไม่ให้รั้วข้างสนามบังทางออกจาก Cockpit

นอกจากเรื่องการบดบังสายตาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ HALO ถูกตั้งคำถามก่อนที่จะนำมาใช้จริงก็คือ อุปกรณ์ชิ้นนี้อาจทำให้นักแข่งเข้า – ออกจากตัวรถได้ยาก โดยข้อสงสัยนี้…อาจเป็นความจริงเมื่อรถจอดนิ่งอยู่กับที่ในสถานะปกติ แต่หากมีีการเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา จนทำให้โครงสร้างของตัวรถ เกิดการผิดรูป อย่างในกรณีของ Romain Grosjean ที่ Bahrain GP ที่เขาแหกฏค้งวิ่งเข้าชนกำแพงอย่างจัง จนทำให้รถเกิดไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็ว ในครั้งนั้น สาเหตุที่ช่วยให้ Grosjean ออกมาจากรถได้ง่ายก็คือ การที่ F1 HALO ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งโดยยังคงโครงสร้างของห้องโดยสารไว้ไม่ให้เกิดการผิดรูปจากการกระทบกระแทก ทำให้เขาออกมาจากตัวรถได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้จากการวิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุรุนแรง 40 ครั้ง พบว่า HALO ช่วยเพิิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของนักแข่งได้มากถึง 17%

โครงสร้างของ HALO ทำมาจากวัสดุไทเทเนียมเกรด 5 ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ทำให้มีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรงสูง ยึดกับตัวถัง 3 จุด ก่อนห่อหุ้มด้วยคาร์บอนไฟเบอร์เพื่อให้ดูเป็นส่วนหนึ่งกับตัวรถแข่ง Formula 1 ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาหลังจากที่มีการติดตั้ง F1 HALO คือ ประมาณ 9 กก. ในขั้นตอนการผลิตนั้น จะมีเกณฑ์เฉพาะเพื่อควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย โดย ณ ปัจจุบัน มีเพียง 3 บริษัท เท่านั้น ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิต HALO สำหรับทีมแข่ง Formula 1 ซึ่งประกอบไปด้วย CP Autosport จากประเทศเยอรมนี (9 จาก 10 ทีมใน Formula 1 ใช้ HALO จากแบรนด์นี้), SST Technology จากสหราชอาณาจักร และ V System ผู้ผลิตจากประเทศอิตาลี (บางทีมในการแข่งขัน Formula 1 ซื้อ HALO ที่ผลิตจากทั้ง 3 บริษัท)

หนึ่งในช็อตจาก Italian GP 2021 ที่แฟนๆ มอเตอร์สปอร์ตจำกันได้ดี

สิ่งแรกที่ต้องมีในการสร้าง HALO ก็คือ

เครื่องจักรที่มีความทันสมัย ซึ่งสามารถตัดแต่งชิ้นส่วนไทเทเนียมได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ยังต้องมีการปรับอุณหภูมิของชิ้นไทเทเนียมด้วยการอบความร้อนเพื่อปรับสภาพให้ทนต่อการใช้งานมากขึ้น จากนั้นทำการเชื่อมชิ้นส่วนที่ประกอบไปด้วยชิ้นงานทั้งหมด 5 ส่วน ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำในห้องปิด เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนจากสิ่งแปลกปลอม โดยเมื่อเชื่อมเสร็จแล้ว ชิ้นงานจะถูกอบด้วยความร้อนอีกครั้ง เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง ก่อนที่ตัวอย่างชิ้oงาน จะถูกนำไปทดสอบอย่างเข้มข้นที่ Cranfield ประเทศอังกฤษ ส่วนชิ้นงานที่ถูกส่งให้กับทีมแข่งจะถูกสร้างขึ้นภายใต้มาตรฐานเดียวกัน โดยมีการควบคุมคุณภาพการผลิตจาก Global Institute for Motor Sport Safety ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการออกแบบระบบความปลอดภัยของ FIA และก่อนที่จะส่งมอบ อุปกรณ์ทุกชิ้นจะต้องมีการทดสอบในเบื้องต้น ทั้งการตรวจสอบทางเรขาคณิต ตรวจสอบน้ำหนัก การทดสอบเบื้องต้น รวมถึงการทดสอบรอยแตกด้วนการ X-Ray

HALO ที่ได้มาตรฐาน จะต้องสามารถทนต่อแรงกดในแนวดิ่ง (รวมถึงแรงในด้านข้าง) ได้มากถึง 125 กิโลนิวตัน (หรือเทียบเท่าน้ำหนัก 12 ตัน) ตลอดการทดสอบ 5 วินาที ห้ามมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่เกิดการแตกร้าว หรือผิดรูปร่าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหาย แน่นอนว่า…เมื่อชิ้นงาน F1 HALO ผ่านการทดสอบ เราคงไม่ต้องสงสัยกันอีกต่อไป ว่าชิ้นส่วนไหนในรถ Formula 1 เป็นชิ้นส่วนที่มีความแข็งแรงมากที่สุด #เพราะความปลอดภัย…เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้

ขอขอบคุณคลิปจาก Mercedes-AMG Petronas Formula One Team, Official新K 1伝説

 


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy