Home » ทำไมต้อง Car Seat ? บังคับเพื่อความปลอดภัย หรือแค่ช่องว่างให้หาผลประโยชน์ ?

ทำไมต้อง Car Seat ? บังคับเพื่อความปลอดภัย หรือแค่ช่องว่างให้หาผลประโยชน์ ?

by Admin clubza.tv
เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องนั่ง Car Seat

เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องนั่ง Car Seat เป็นอีกหนึ่งประเด็นสนทนาซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในโลกโซเชียล ณ ปัจจุบัน หลังจากที่มีการประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญในประกาศมีผลบังคับใช้ใน 120 วัน นั่นก็เท่ากับว่า หลังจากช่วงต้นกันยายน 2565 เป็นต้นไป เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี จะต้องนั่งบนที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat) หรือที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว สำหรับผู้ที่มีความสูงไม่เกิน 135 ซม. ขึ้นไป หากโดยสารจะต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ในทุกที่นั่งโดยสาร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ยกเว้นผู้ที่มีเหตุผลทางสุขภาพ โดยจะต้องมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

Car Seat หัวใจสำคัญของความปลอดภัยสำหรับเด็ก

ในสาระสำคัญดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่า “เป็นเรื่องดีที่สีการออกฎหมายแบบนี้มาบังคับใช้เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางสำหรับเด็ก” แต่ก็ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่มองว่าเป็นเพียง “การเพิ่มภาระให้กับประชาชน” โดยจะต้องจัดหา Car Seat ซึ่งเป็นของที่มีราคาอยู่ในระดับปานกลาง หรือค่อนข้างสูง อาจจะทำให้เกิดช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการออกหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ไม่ได้มาตรฐานมาจำหน่ายในอนาคต ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่า Car Seat แบบมาตรฐานที่ได้การรับรองด้านความปลอดภัย จะเป็นของใช้ที่มีราคาค่อนข้างสูง แต่ถือว่าเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้ไม่น้อย เมื่อต้องเดินทางร่วมกับเด็ก จากคลิปในด้านล่าง เป็นการจำลองให้เห็นถึงความแตกต่างในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ สำหรับเด็กที่นั่งใน Car Seat กับเด็กที่นั่งบนเบาะรถทั่วไป ซึ่งน่าจะทำให้คนที่ยังเกิดความสงสัย เห็นถึงความสำคัญของ Car Seat ได้ไม่น้อย

สาระสำคัญของ Car Seat ไม่ได้มีไว้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปรับ ดังนั้นการติดตั้งที่ถูกวิธี ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของ Car Seat ได้มากยิ่งขึ้น เพราะในเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ การที่ Car Seat ถูกยึดกับเบาะไว้อย่างถูกจุด จะช่วยลดโอกาสและอาการบาดเจ็บของเด็กที่โดยสารภายในรถ ในคลิปด้านล่างเป็นการจำลองการชนที่ความเร็ว 35 ไมล์/ชม. (ประมาณ 56 กม./ชม.) เปรียบเทียบประสิทธิภาพการปกป้องในกรณีที่ติดตั้ง Car Seat ได้อย่างถูกวิธี และการติดตั้งแบบผิดวิธี ซึ่งให้ผลที่ต่างกันอย่างมาก นอกจากนี้…ทิศทางของการติดตั้ง Car Seat ก็มีผลเช่นเดียวกัน โดยการติดตั้งในทิศทางที่เหมาะสม ย่อมช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บของเด็กที่นั่งโดยสาร Car Seat ได้มากขึ้น

เด็กต่างไซส์ รูปแบบการใช้ Car Seat ก็ต่างกัน

Car Seat ในปัจจุบันมีอยู่ 3 รูปแบบหลักๆ ซึ่งในแต่ละรูปแบบนั้น ในแต่ละแบบจะมีการกำหนดทิศทางในการติดตั้ง รวมถึงการใช้อุปกรณ์ส่วนควบที่แตกต่างกันออกไป โดยจะออกแบบมาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กที่ใช้ดังนี้

1.Rearward Facing เป็นรูปแบบของ Car Seat ที่ยึดติดโดยการหันหน้าเข้ากับเบาะรถ ซึ่งเหมาะสมกับการใช้งานของเด็กแรกเกิด จนถึงเด็กทีมีน้ำหนัก 13 กก. หากโตขึ้นมาอีกเลเวล สามารถอัพเกรดเป็น Extend Rearward Facing ที่มีการเพิ่มฐานรองที่สามารถเลื่อนได้ เพื่อให้เข้ากับสรีระของเด็ก ซึ่ง Car Seat แบบนี้ เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนัก 9-25 กก. หรือแรกเกิด ถึงประมาณ 3 ขวบ

2.Forward Facing ตามชื่อ คือ เป็น Car Seat ที่ติดตั้งโดยหันหน้าตัวเด็กในทิศทางเดียวกับที่รถเคลื่อนที่ โดยส่วนใหญ่แล้วที่นั่งเด็กแบบนี้ จะออกแบบมาให้สามารถแยกชิ้นจากจุดยึดที่เบาะรถได้ง่าย เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย โดยเป็น Car Seat ที่เหมาะกับเด็กน้ำหนัก 9-18 กก. เหมาะสำำหรับเด็กอายุประมาณ 3-6 ขวบ

3.High Back Booster เป็นที่นั่งเด็กที่ออกแบบมาให้เด็กที่เริ่มโตสักเล็กน้อย โดยจะมีส่วนป้องกันศีรษะ คอ รวมถึงลำตัวที่เพิ่มขึ้นมา โดยมากแล้วจะออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับเข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถ โดยยึดในตำแหน่งหันหน้าออกจากเบาะ เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 15 – 36 กก. หรือเด็กที่มีอายุ 6 ขวบ ขึ้นไป

สรุปง่ายๆ แบบไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ Car Seat ถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยให้เด็กโดยสารรถยนตืได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมาย เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องนั่ง Car Seat ดูจะเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าการจะมองว่าเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ให้กับใครคนใดคนหนึ่ง ทั้งนี้เมื่อมีการประกาศอย่างชัดเจนแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำต่อไปก็คือ ออกกฎหมายให้ Car Seat เป็นสินค้าควบคุม เพื่อให้จำหน่ายในราคาที่สมเหตุสมผล และต้องเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานจริงๆ มากกว่าการเป็นของที่มีไว้เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกปรับเท่านั้น !


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy