เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ค่ายไฮเปอร์คาร์สัญชาติฝรั่งเศษอย่าง Bugatti ได้เผยโฉมอสุรกายพันธ์แรงตระกูลใหม่ในชื่อ Bugatti Tourbillon พร้อมสร้างสถิติความเร็วในระดับ 444 กม./ชม. โดยสามารถทำอัตราเร่งจาก 0-300 กม./ชม. ได้ภายใน 10 วินาที ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ ล้วนเป็นความมหัศจรรย์แห่งโลกยนตรกรรมชั้นเกจิ เขาทำได้อย่างไร…ในครั้งนี้เราจะมาไขข้อสงสัยไปด้วยกัน
แม้ว่า Bugatti Tourbillon จะมีภาพลักษณ์ที่คล้ายกับรุ่นพี่ตระกูลแรงอย่าง Chiron แต่โดยพื้นฐานแล้ว ไฮเปอร์คาร์ทั้ง 2 รุ่น จากแบรนด์เดียวกันนี้ ถือว่ามีการออกแบบโครงสร้างที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย Bugatti Tourbillon ไม่ได้เป็นการนำแพลตฟอร์มตัวถังของ Veyron หรือ Chiron มาต่อยอด ด้วยเครื่องยนต์กลไกล รวมถึงระบบส่งกำลังที่แตกต่างกัน โดย 2 ตระกูลดัง ในอดีตนั้น ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปล้วนๆ ในรูปแบบ W16 พ่วงเทอร์โบ แต่สำหรับไฮเปอร์คาร์น้องใหม่จากค่าย Bugatti ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังในรูปแบบไฮบริด ซึ่งประกอบไปด้วยชิ้นส่วนและองประกอบที่แตกต่างกัน ดังนั้น…กว่าจะมาเป็น Tourbillon ที่เราได้เห็น ในทุกสัดส่วนล้วนต้องผ่านการดีไซน์และเนรมิตรโครงสร้างแบบคาร์บอนโมโนค็อกขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
สำหรับมิติตัวรถโดยรวม Bugatti Tourbillon ถือว่ามีความใกล้เคียงกับ Chiron (Tourbillon ฐานล้อยาวกว่าราว 25 มม. และมีความสูงต่ำกว่าเล็กน้อย) แต่ด้วยชิ้นส่วนในระบบขับเคลื่อนที่มากกว่า ทำให้ต้องใส่ความพิถีพิถันในการจัดสรรค์พื้นที่ เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของไฮเปอร์คาร์ผู้นี้ให้ออกมาดีที่สุด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความท้าทายขั้นสุดยอดของทีมงานผู้ออกแบบในการจัดวาง ทั้งเครื่องยนต์ที่เปลี่ยนมาใช้ในรูปแบบ V16 สูบ ไร้ระบบอัดอากาศ จับคู่กับเซ็ตเกียร์แบบ Dual Clutch (มีความยาวมากกว่าเครื่องยนต์แบบ W16 สูบ เดิม) ทำให้ตำแหน่งของตัวเครื่อง (ซึ่งกินพื้นที่มากกว่า) ต้องถูกร่นเข้ามาให้ชิดกับ Firewall ห้องโดยสารมากที่สุด เพื่อสร้างบาลานซ์การขับขี่ในระดับสุดยอดให้ได้ นอกจากนี้ Bugatti Tourbillon ยังมาพร้อมตัวช่วยสร้างกำลังด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอีก 3 ตัว โดย 2 ตัวแรก จะถูกวางในตำแหน่งล้อคู่หน้า (หลังช่องเก็บสัมภาระ) ส่วนอีก 1 ตัว จะใช้เป็นตัวช่วยในการเพิ่มแรงขับเคลื่อนที่ล้อคู่หลัง
ด้วยความที่ Bugatti Tourbillon ใช้ระบบขับเคลื่อนในรูปแบบไฮบริด ทำให้ตัวรถต้องมีทั้งถังน้ำมัน รวมถึงแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่เป็นแหล่งจ่ายไฟให้กับชุดมอเตอร์ไฟฟ้าทั้ง 3 ตัว โดยในส่วนของถังน้ำมัน ยังคงแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง เช่นเดียวกับที่เคยใช้มา ส่วนแบตเตอรี่นั้น ดีไซน์มาในรูปทรงตัว T วางตามแนวยาวของอุโมงเพลาและขวางบริเวณหลังเบาะนั่ง ในส่วนห้องโดยสาร มีการปรับตำแหน่งเล็กน้อย ด้วยการขยับตำแหน่งของเบาะหน้าให้เข้ามาชิดกันมากขึ้น (พร้อม Fix ตำแหน่งตายตัว และใช้วิธีการเลื่อนตำแหน่งพวงมาลัยและแป้นเหยียบเข้าหาผู้ขับขี่แทน) เพื่อลดการใช้พื้นที่ทางด้านหน้า
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยส่งให้ Bugatti Tourbillon ครองตำแห่งความเป็นไฮเปอร์คาร์ระดับแนวหน้าก็คือ การออกแบบดิฟฟิวเซอร์คาร์บอนด้านหลังให้มีความแข็งแรงสูง ซึ่งนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง ที่ช่วยจัดการเรื่องแอโร่ไดนามิคส์แล้ว ดิฟฟิวเซอร์นี้ ยังทำหน้าที่เสมือนโครงสร้างด้านท้ายที่ช่วยลดผลกระทบในยามที่เกิดการกระทบกระแทกจากทางด้านหลังได้ถึง 2 เท่า นอกจากนี้ Bugatti Tourbillon ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าทึ่งอีกมากมาย เช่น การใช้เซ็ตรังผึ้งระบายความร้อน ทั้งหม้อน้ำและออยคูลเลอร์มากถึง 8 ตำแหน่ง, การใช้เซ็ตปีกนกน้ำหนักเบาในรูปแบบ Skeletonized 3D ที่ผลิตโดย Divergent ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่ออกแบบ Czinger 21C เป็นต้น