Home » Autonomous Vehicles จริงจังแค่ไหน…ที่เรียกว่าขับได้เอง ? คำว่า “ไว้ใจได้” ที่ยังมีเครื่องหมายคำถาม !

Autonomous Vehicles จริงจังแค่ไหน…ที่เรียกว่าขับได้เอง ? คำว่า “ไว้ใจได้” ที่ยังมีเครื่องหมายคำถาม !

by Admin clubza.tv

ด้วยกระแสความคึกคักของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ถือกำเนิดมาบนโลกไม่เว้นแต่ละวัน เราจะเห็นได้ว่ามีรถรุ่นใหม่ๆ ที่พัฒนาศักยภาพของมอเตอร์และแบตเตอรี่ให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถวิ่งได้ไกล ชาร์จได้เร็ว ผู้ขับขี่สามารถใช้ชีวิตได้ง่าย ไม่ต้องปรับตัวจากการใช้รถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปมากนัก โดยฟังค์ชั่นหนึ่งที่มักจะมาคู่กับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วน จะว่ามาตรามยุคสมัยก็ไม่แปลก นั่นก็คือ ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือที่เราอาจคุ้นหูกันในชื่ออย่างเป็นทางการว่า Autonomous Vehicle นั่นเอง

Autonomous Vehicle แท้จริงแล้ว…คือ อะไร ?

คำจำกัดความของ Autonomous Vehicle หากหงายการ์ดใช้งานเต็มแบบฟูลฟังค์ชั่น นั่นคือ รถที่สามารถวิ่งได้ เสมือนมีนักขับฝีมือดี มีมาตรฐาน มาเป็นผู้ขับให้ แต่แท้จริงแล้ว “ไม่มี” หรือไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโดยมนุษย์เลยด้วยซ้ำ ซึ่งเมื่อพูดอย่างนี้ หลายคนก็คงอดสงสัยไม่ได้ว่า มันจะสามารถใช้งานได้จริง และไว้เนื้อเชื่อใจได้มากแค่ไหน ตัวอย่างการเกิดอุบัติเหตุก็มีให้เห็นเรื่อยๆ แม้จะน้อย แต่พอเป็นมีเหตุขึ้นมา ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โตในทันที ครั้งนี้ทาง “ขับซ่า” จึงขออาสาขยายความนิยามคำว่า Autonomous Vehicle หรือ ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติ ว่าอันที่จริงแล้ว ฟังค์ชั่นการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง สามารถทำได้กี่ระดับ และแบบไหน…ไว้เนื้อเชื่อใจได้มากน้อยแค่ไหน

ระดับการทำงานของ Autonomous Vehicle มองแบบนี้…เห็นภาพ

ระดับการทำงานของ Autonomous Vehicle

หลักการทำงานของ Autonomous Vehicle หรือ ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติ จะใช้เซ็นเซอร์รูปแบบต่างๆ ทั้งเรด้าร์เซ็นเซอร์, คาเมร่าเซ็นเซอร์ รวมถึงเซ็นเซอร์รูปแบบอื่นๆ เพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวแวดล้อม เช่น ผู้สัญจร เส้นถนน สัญญาณไฟจราจร พร้อมส่งข้อมูลให้หน่วยประมวลผล ทำการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ด้วยโปรเซสเซอร์ ก่อนสั่งการให้ฮาร์ดแวร์เป็นผู้ลงมือกระทำ หรือควบคุมรถให้อยู่ในทิศทาง ความเร็ว และปลอดภัยอย่างที่ควรจะเป็น โดยทั่วไป สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ หรือ Society of Automotive Engineers (SAE) จะแบ่งระดับการทำงานของ Autonomous Vehicle ออกเป็น 6 เลเวล ไล่มาตั้งแต่ระดับ 0 ซึ่งหมายความว่า ไม่มีอะไรมาช่วยเลย (ซิ่งจริงๆ แล้ว จะว่าไม่นับก็คงไม่ผิด) ถึงระดับ 5 ที่สามารถจัดการได้เองทั้งหมด ไม่ง้อผู้ขับขี่แบบ 100% (นอกจากขั้นตอนสั่งการ) ซึ่งเลเวลทั้งหมดนี้ ไม่ได้ศักดินาขึ้นมาเองแบบไก่กา แต่หากได้การรับรองจากกระทรวงคมนาคมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

สิ่งสำคัญของ Autonomous Vehicle คือ ระบบประมวลผล เพื่อสั่งการระบบต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างสอดคล้อง

Level 0

  • ผู้ขับขี่ควบคุมด้วยตัวเองทั้งหมด อาจมีเสียงเตือน หรือการช่วยจากตัวรถชั่วขณะเท่านั้น

Level 1

  • ระดับนี้ยังคงใช้การควบคุมโดยผู้ขับทั้งหมด เช่น การบังคับทิศทาง, การควบคุมความเร็ว ผู้ขับขี่ยังต้องประมวลสถานการณ์ และตัดสินใจว่าควรจะทำสิ่งใดต่อ จะเรียกว่าเป็น Driver Assistance ก็คงไม่ผิด โดยจะมีบางฟังค์ชั่นที่เข้ามาช่วยในบางขณะ เช่น ระบบควบคุม Adaptive Cruise Control, ระบบ Lane Keeping Assistance, ระบบป้องกันการชน รวมถึงระบบช่วยเบรก เป็นต้น สิ่งสำคุญคือ มือยังต้องอยู่ที่พวงมาลัยเสมอ

Level 2

  • เมืองนอกใช้คำว่า Hand Off ซึ่งหมายถึงว่าสามารถละมือจากพวงมาลัยได้ (บ้าง) ผู้ขับขี่จะเข้าควบคุมเมื่อต้องการเท่านั้น ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ สะต้องมีสติและตื่นตัวอยู่ตลอด เนื่องจากความละเอียดของการขับขี่อัตโนมัติในเลเวลนี้ ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมากนัก อาจมีการประมวลผลที่คลาดเคลื่อน หรือขาดๆ เกินๆ อยู่บ้าง จึงต้องใช้ผู้ขับขี่เข้าช่วยควบคุมในบางเวลา เช่น ระที่มีระบบการแซงอัตโนมัติ, เลี้ยวตามทิศทางของเส้นถนน, เบรกอัตโนมัติเมื่อมีสิ่งกีดขวาง, เร่งต่อในกรณีที่รถคันหน้าเคลื่อนที่ไป ซึ่งส่วนใหญ่จะมีกล้องตรวจจับความพร้อมของผู้ขับขี่ ว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยหรือไม่

Level 3

  • ผู้ขับขี่อาจไม่ต้องใจจดในจ่ออยู่กับถนนมากนัก สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างการเดินทางได้บ้าง ที่เหลือยกให้เป็นหน้าที่ของตัวรถที่จะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ โดยอัตโนมัติ แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ฉุกเฉินมากๆ ในระดับที่เกินความสามารถของตัวรถ อาจต้องใช้ความสามารถในการควบคุมจากผู้ขีบขี่ ซึ่งระบบจะคอยแจ้งเตือนเป็นระยะ เมื่อต้องการการช่วยเหลือ หรือตัดสินใจจากมนุษย์เช่น สภาพของช่องทางจราจรไม่เป็นใจ ไม่มีเส้นถนน ไฟสัญญาณจราจรชำรุด

Level 4

  • การทำงานคล้ายๆ กับ Level 3 แต่จะเพิ่มความเข้มข้น ความละเอียดในการประมวลผลขึ้นมาอีกขั้น โดยไม่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ขับขี่ สามารถนอนพักผ่อน หรือทำกิจกรรมที่ต้องการได้อย่างเต็มที่ โดยมีข้อแม้เพียงว่า ระบบจะทำงานเฉพาะในพื้นที่และสถานการณ์ที่ปลอดภัย ซึ่งหากสุดวิสัยจริงๆ ผู้ขับก็ยังคงต้องมีบทบาทในการควบคุม

Level 5

  • ไม่จำเป็นต้องใช้การควบคุมโดยมนุษย์ เพียงแค่สั่งการว่าจะไปที่ไหน ระบบจะประมวลผลตั้งแต่การเลือกเส้นทาง ขับขี่อย่างปลอดภัยไม่ต่างกับการโดยสารในรถที่มีผู้ขับขี่ประสบการณ์สูงมาขับให้ สามารถรับมือได้กับทุกพื้นที่ ทุกสถานการณ์ ทุกสภาพอากาศ

ความละเอียดในการทำงานแต่ละเลเวลของ Autonomous Vehicle

แม้ว่า Autonomous Vehicle หรือ ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติ กำลังจะเข้ามามีรบทบาทในอนาคตอันใกล้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรระลึกไว้เสมอ คือ การขับขี่อย่างมีสติ ไม่ประมาท มีวินัย และมีน้ำใจให้กันบนท้องถนน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จะช่วยส่งให้เป้าหมายของ ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติ ประสบความสำเร้จ แต่หากในทางตรงข้าม ต่อให้ระบบดีแค่ไหน ถ้าผู้ใช้ยังคงไม่รักษาวินัย ระบบเหล่านี้คงแจ้งเกิดได้ยากแบบที่ใครก็ช่วยไม่ได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก synopsys, Wlkipedia คลิปจาก Geospatial World


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy