Home » ก็น้ำมัน…มันเเพง “เขาว่า..กันว่า” เปิดกระจกขับรถ ใช้น้ำมันเท่ากับการขับรถเปิดแอร์ปกติ จริงหรือ ??

ก็น้ำมัน…มันเเพง “เขาว่า..กันว่า” เปิดกระจกขับรถ ใช้น้ำมันเท่ากับการขับรถเปิดแอร์ปกติ จริงหรือ ??

by jaded

ดูเหมือนสภาพอากาศบ้านเราจะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มรูปแบบเร็วขึ้นและนานขึ้นเรื่อยๆ คนสมัยก่อนอาจมีวิธีคลายร้อนสารพัด แต่สำหรับคนรุ่นใหม่มีวิธีที่แก้ไขได้ชงักนัก นั่นคือเปิดแอร์  ซึ่งทุกคนทราบว่าถ้าอยู่บ้านในช่วงอากาศ ร้อนๆ แล้วต้องเปิดแอร์ทั้งวัน สิ่งที่จะทำให้หนาวอีกอย่างก็คือบิล..ค่าไฟ !! แต่สำหรับในยุค แพงทั้งแผ่นดิน..แบบไร้รอยต่อ..สมัยนี้ หลายคนว่าอะไรที่ประหยัดได้ ก็ควรประหยัดกันไว้ก่อน สำหรับเรื่องการใช้รถได้ยินเขาว่า..กันว่าขับรถทางไกลปิดแอร์ มันช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าการขับรถเปิดแอร์จริงหรือ..!?! จริงซิครับ แต่เป็นเรื่องจริงที่ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบกันซักหน่อย โดยเฉพาะบ้านเราซึ่งเป็นเมืองร้อน การขับรถในสภาวะอบอ้าวเสมือนว่าอยู่ในตู้อบอาจทำให้ประสาทเสียได้ง่ายๆ ก็ไม่เห็นยากเลย ก็เปิดกระจกซิพอเปิดกระจกขับรถปุ๊บ รถคุณอาจใช้น้ำมันเท่ากับการขับรถเปิดแอร์ปกติก็เป็นได้ ทำไม่ถึงเป็นเช่นนั้น เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังครับ

ระบบปรับอากาศหรือแอร์รถยนต์ประมาณ 99% ของรถที่จำหน่ายอยู่เป็นแบบอัดไอ

เช่นเดียวกับแอร์บ้านทั่วไป แตกต่างกันตรงที่ แอร์บ้านใช้ไฟฟ้าในการขับคอมเพรสเซอร์ ส่วนรถยนต์คอมเพรสเซอร์ต้องอาศัยแรงขับจากเครื่องยนต์ เพราะฉะนั้น ถ้าเครื่องยนต์ยังไม่ติด แอร์รถยนต์ก็ไม่สามารถให้ความเย็นฉ่ำกับคุณได้ เจ้าคอมเพรสเซอร์ตัวนี้แหละ ทำให้เกิดการเดินทางของสารทำความเย็นในวงจรของระบบปรับอากาศ (สารทำความเย็นในรถยนต์ใช้ R134a) นอกจากในรถ Hybrid ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับชุดคอมเพรสเซอร

อธิบายการทำงานของแอร์อย่างง่ายๆล่ะกันวงจรการทำงานของระบบปรับอากาศเป็นวงจรปิดอาศัยการไหลของสารทำความเย็นในท่อทองแดงเริ่มต้นที่คอมเพรสเซอร์อัดสารทำความเย็นให้เกิดแรงดันและเกิดการไหลไปยังอุปกรณ์ต่างๆในวงจรและก็วนกลับมาที่ตัวมันเองเป็นวัฏจักรเช่นนี้จนกระทั่งเราปิดแอร์หรือดับเครื่องยนต์อุปกรณ์ชิ้นแรกที่สารทำความเย็นแรงดันสูงจะเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปคือเครื่องควบแน่น (Condenser) หรือคอยล์ร้อนในภาษาช่าง ติดตั้งประกบอยู่กับหม้อน้ำบริเวณด้านหน้ารถนั่นเอง ตัวนี้ทำหน้าที่ ระบายความร้อนออกจากสารทำความเย็น ส่งผลให้เกิดการควบแน่น สารทำความเย็นเปลี่ยนสถานะจากไอกลายมาเป็นของเหลว ต่อมาสารทำความเย็นจะไหลผ่าน วาล์วลดความดัน (Expansion Valve) ก่อนผ่านเข้าไปในเครื่องทำระเหย (Evaporator) หรือคอยล์เย็น การลดความดันลงช่วยให้สารทำความเย็นสะดวกต่อการระเหยตัวกลับกลายเป็นไออีกครั้งใน Evaporator อุปกรณ์ตัวนี้เป็นท่อทองแดงขดไปมา หน้าตาคล้าย Condenser แต่ติดตั้งในตู้แอร์ภายในคอนโซลหน้า ที่เรามักเรียกมันว่าตู้แอร์ทำหน้าที่ดูดความร้อนรอบๆ ตัวมันมาทำให้สารทำความเย็นอุณหภูมิสูงขึ้น และเกิดการระเหยกลายเป็นไอ ก่อนถูกดูดกลับเข้าไปเพิ่มแรงดันในคอมเพรสเซอร์

ย่อหน้าข้างบนอาจเป็นอะไรที่ทำให้ปวดหัวตึบ.. บ้างสำหรับผู้อ่านบางท่าน แต่ตู้เย็น แอร์บ้าน แอร์รถยนต์ก็ใช้หลักการนี้ในการสร้างความเย็นคล้ายๆ กัน ด้วยการดูดความร้อนจาก Evaporator นี่แหละครับทำให้อุณหภูมิลดลง และอากาศเย็นๆ ก็ถูกพัดลม (Blower) พัดผ่านออกมาทางช่องแอร์ เพื่อหมุนเวียนภายในห้องโดยสารให้พวกเราได้เย็นสบายกัน

เอาล่ะ..ตอนนี้พอจะสรุปได้แล้วว่า แอร์ในรถสร้างภาระให้กับเครื่องยนต์จากการทำงานของคอมเพรสเซอร์ ถ้าเราเลือกอุณหภูมิไว้พอดีๆ เมื่อระบบสร้างลมเย็นได้ในอุณหภูมิที่เราต้องการ สมมติว่าซัก 25 C คลัตช์แม่เหล็กไฟฟ้าที่คอมเพรสเซอร์ก็จะตัดการรับกำลังจากเครื่องยนต์ ไม่ฉุดกำลังจากเครื่องยนต์จนกระทั่งอุณหภูมิภายในห้องโดยสารเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่เราได้ตั้งไว้  คลัตช์แม่เหล็กไฟฟ้าจะต่อกำลังจากเครื่องยนต์มาขับเคลื่อนอีกครั้ง แต่ถ้าเราตั้งอุณหภูมิไว้ต่ำมากๆ สมมติข้างนอกร้อนมาก ขึ้นรถมาก็จัดเต็ม ลดลงมาสุดๆที่ 18 C คอมเพรสเซอร์ก็จะทำงานเกือบตลอดเวลา เพราะสภาพอากาศร้อนระอุในเมืองไทยกับรถยนต์ที่วิ่งตากแดดตลอดเวลา จึงไม่ง่ายเลยที่แอร์จะปรับอากาศให้เย็นถึงระดับนี้ได้

ดังนั้นการเลือกปรับอุณหภูมิที่เหมาะสมจะช่วยลดภาระการทำงานจากเครื่องยนต์และช่วยประหยัดน้ำมันได้อย่างแน่นอนสำหรับรถบางประเภทที่มีคอยล์เย็น 2 ชุด เช่น รถลีมูซีนราคาแพง รถตู้ และรถปิกอัพที่ไปติดตั้งหลังคาพร้อมตู้แอร์ด้านหลังเพิ่ม ลักษณะนี้คอมเพรสเซอร์จะทำงานหนักมากเป็นทวีคูณ ดังนั้นถ้าไม่มีผู้โดยสารในส่วนนั้นการปิดสวิตช์การทำงานของแอร์ชุดที่สอง ก็จะช่วยคุณประหยัดได้เช่นกัน

แล้วการขับรถปิดแอร์เปิดกระจก โชว์หน้าตาอันหล่อเหลาของเราล่ะ กรณีนี้แต่มีการทำทดสอบโดย BBC TopGear ประเทศอังกฤษรวมถึงกรมการขนส่งในบ้านเรายังเคยทำสื่อประชาสัมพันธ์ว่าการเปิดกระจกขับรถจะเพิ่มแรงต้านอากาศลมจะไปเข้าหมุนวนในห้องโดยสารยิ่งขับรถเร็วยิ่งมีแรงต้านมากซึ่งก็เป็นการสร้างโหลดให้กับเครื่องยนต์ได้อย่างคาดไม่ถึง

เพราะฉะนั้นขอฝากวิธีดูแลแอร์ในรถยนต์แบบง่ายๆจาก

  •  ควรสตาร์ทเครื่องยนต์ให้ถึงอุณหภูมิทำงานก่อน (สังเกตพัดลมไฟฟ้าเริ่มทำงาน หรือประมาณ 2-3 นาที) จึงเปิดสวิตซ์ระบบปรับอากาศ
  •  ตั้งอุณหภูมิ ไม่ตั้งอุณหภูมิให้เย็นเกินไปเพราะจะทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานอยู่ตลอดเวลา
  • สวิตซ์ความแรงพัดลม เปิดไปที่ความเร็วพัดลมสูงสุดระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงลดลงไปยังความเร็วน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น (ในระบบแอร์ออโต้ จะปรับแบบนี้ให้อัตโนมัติ)
  • (Evaporator) หรือคอยล์เย็น หรือตู้แอร์ หลีกเลี่ยงการใช้ น้ำหอม หรือ สเปรย์ปรับอากาศ ติดตั้งหรือฉีดใส่โดยตรง เพราะไอระเหยของสารเคมีที่ใช้จะถูกดูดเข้าไปสะสมตัวที่ครีบเล็กๆ ของคอล์ยเย็น สารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการดูดความชื้น ทำให้ฝุ่นผงไปจับตัวที่ครีบระบายความเย็น ความสามารถในการถ่ายเทความร้อนจะลดลง คอมเพรสเซอร์ก็จะทำงานมากขึ้น ให้ศูนย์บริการทำความสะอาดคอล์ยเย็น (แบบไม่ถอดรื้อ) เมื่อรู้สึกว่า ประสิทธิ์ภาพในการทำความเย็นของระบบปรับอากาศลดลง

สุดท้าย ก่อนถึงจุดหมายปลายทางเพื่อจอดรถทั้งวันหรือทั้งคืน ประมาณ 5 -10 นาที    ให้ปิดสวิตซ์ระบบปรับอากาศ (A/C) ยิ่งถ้าเปิดพัดลมไปที่ความเร็วสูงด้วยจะลดเวลาลงได้ที่ให้ทำแบบนี้ก็เพื่อปิดการทำงานคอมเพรสเซอร์ในช่วงที่เราใกล้จอดรถแล้วแต่คอยล์เย็นยังเย็นอยู่นอกจากประหยัดแล้วยังเป็นการไล่ความชื้นออกจากคอล์ยเย็นลดการเกิดกลิ่นอับชื้น

      หากทำได้ตามนี้ พร้อมการปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะ รับรองว่าจะได้ทั้งความเย็น..และประหยัด โดยไม่ต้องเปิดกระจกรับลมร้อนๆ กันนะครับ

********************************************************

ติดตามข่าวสารขับซ่าได้  ที่นี่
ชมรายการขับซ่า34 ย้อนหลังได้  ที่นี่ 

…….

มลพิษภายในรถ.. ถ้าดูแล ก็เลี่ยงได้


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy