หลังจากการประกาศเปิดตัวของรถตู้ไฟฟ้ารุ่นแรกในประเทศไทยอย่าง MG Maxus 9 เป็นเสมือนการปลุกกระแสความนิยมในวงการรถอเนกประสงค์ระดับพรีเมี่ยมให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยหลังจากที่มีการเผยโฉมพร้อมรายละเอียดตัวรถของ MG Maxus 9 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย เป็นที่มาของการคาดการณ์ราคา ว่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 2.3-2.5 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา เป็นที่มาของการเปรียบเทียบสเป็ครถตู้อเนกประสงค์ระดับพรีเมี่ยมของ #ทีมขับซ่า ในครั้งนี้
เทียบมิติตัวถังรถตู้ระดับพรีเมี่ยมในประเทศไทย
รายละเอียด | MG Maxus 9 | BYD Denza D9 | Toyota Alphard | Kia Carnival |
รูปแบบ | 3 แถว 7 ที่นั่ง | 3 แถว 7 ที่นั่ง | 3 แถว 7 ที่นั่ง | 4 แถว 11 ที่นั่ง |
มิติตัวถัง | 2,000 x 5,270 x 1,840 | 1,960 x 5,250 x 1,920 | 1,850 x 4,945 x 1,895 | 1,995 x 5,155 x 1,740 |
ระยะฐานล้อ | 3,200 มม. | 3,110 มม. | 3,000 มม. | 3,090 มม. |
ล้อ – ยาง | 235/55 R19 | 235/60 R18 | 235/50 R18 | 235/60 R18 |
ขึ้นชื่อว่าเป็นรถตู้อเนกประสงค์ระดับพรีเมี่ยม โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะมาในรูปแบบของรถแบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง แต่สำหรับรถในกลุ่มนี้ หากตัดตัวละครสำคัญอย่าง Kia Carnival หนึ่งเดียวที่มาในรูปแบบ 4 แถว 11 ที่นั่ง ออกไป อาจจะเห็นภาพไม่ชัด ซึ่งด้วยระดับราคาใกล้เคียงกัน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากจถะถูกนำมาเปรียบเทียบ โดยหากเริ่มต้นด้วยขนาดและระยะฐานล้อ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร เป็นทางฝั่ง MG Maxus 9 ที่ดูจะ “ชนะขาด” ในหลายๆ องประกอบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีในการออกแบบที่เรียกได้ว่าเป็นยุคใหม่ อีกทั้งยังพัฒนาบนพื้นฐานของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทำให้สามารถวางระยะฐานล้อได้อย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับ BYD Denza D9 ซึ่งเป็นรถที่พัฒนาบน e-Platform 3.0 งานนี้คงต้องรอดูกันว่า Toyota Alphard เจนเนอเรชั่นต่อไป ที่มีข่าวลือออกมาว่าจะเปิดตัวในช่วงปลายปีนั้น จะพัฒนาออกมาให้มีพื้นที่ใช้สอยมากที่สุดในรถกลุ่มนี้หรือไม่
เทียบระดับพละกำลังรถตู้ระดับพรีเมี่ยมในประเทศไทย
รายละเอียด | MG Maxus 9 | BYD Denza D9 | Toyota Alphard | Kia Carnival |
เครื่องยนต์ | BEV | BEV | 2.5 Hybrid | 2.2 Diesel |
แรงม้า | 241 | 368 | 197 | 202 |
แรงบิด | 350 | 470 | NA | 450 |
ระบบขับเคลื่อน | 2 ล้อหน้า | AWD | AWD | 2 ล้อหน้า |
ขนาดแบตเตอรี่ | 90 kWh | 103.36 kWh | – | – |
ระยะต่อชาร์จ | 540 NEDC | 600 CLTC | – | – |
ความได้เปรียบของรถที่พัฒนาบนแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนในรูปแบบ BEV 100% นอกจากเรื่องการจัดการพื้นที่ใช้สอยภายในห้องโดยสารที่ทำได้อิสระกว่าแล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องการจัดวางระบบ Powertrain ที่มีความหลากหลาย สามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งขับเคลื่อนล้อหน้า ล้อหลัง หรือแม้แต่ขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งในที่นี้…ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อของทั้ง BYD Denza D9 และ Toyota Alphard ดูจะเป็นความเหมือนที่แตกต่าง คือ เป็นระบบขับเคลื่อนที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการขับขี่ โดยมุ่งหวังในเรื่องเสถียรภาพและความปลอดภัย มากกว่าเรื่องสมรรถนะหรือความสนุกในการขับขี่ ด้วยกำลังของชุดมอเตอร์หน้า : หลัง ที่ออกแบบมาให้มีกำลังต่างกันค่อนข้างมาก (หน้า 308 และหลัง 60 แรงม้า สำหรับ BYD Denza D9 และหน้า 143 และหลัง 68 แรงม้า สำหรับ Toyota Alphard) ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น หากวัดประสิทธิภาพโดยรวมแล้ว ถือว่าเหนือกว่าคู่แข่งที่ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า แต่หากวัดกันด้วยทีเด้ดทีขาด เป็นทางฝั่ง BYD Denza D9 ที่ทำได้เหนือชั่้นที่สุดในคลาส
เทียบสิ่งอำนวยความสะดวกและออพชั่นที่น่าสนใจรถตู้ระดับพรีเมี่ยมในประเทศไทย
รายละเอียด | MG Maxus 9 | BYD Denza D9 | Toyota Alphard | Kia Carnival |
หลังคา | พาโนรามิคซันรูฟ | พาโนรามิคกลาสรูฟ | พาโนรามิคซันรูฟ | พาโนรามิคซันรูฟ |
หน้าจอแสดงผลตอนหน้า | 7 + 12.3 นิ้ว | 10.25 + 15.6 นิ้ว | 10.5 นิ้ว | 12.3 + 12.3 นิ้ว |
หน้าจอแสดงผลตอนที่ 2 | – | 12.8 + 12.8 นิ้ว | 13.3 นิ้ว | 12.8 + 12.8 นิ้ว |
เบาะโดยสารตอนหน้า | ปรับไฟฟ้า พร้อมระบบนวด และปรับอุณหภูมิ | ปรับไฟฟ้า + ดันหลังไฟฟ้า | ปรับไฟฟ้า + ดันหลังไฟฟ้า และปรับอุณหภูมิ | ปรับไฟฟ้า + ดันหลังไฟฟ้า |
เบาะโดยสารแถวที่ 2 | ปรับไฟฟ้า พร้อมระบบนวด และปรับอุณหภูมิ | ปรับไฟฟ้า พร้อมระบบนวด | ปรับไฟฟ้า + ดันหลังไฟฟ้า และปรับอุณหภูมิ | STD |
ระบบช่วยการขับขี่ | Full ADAS | Full ADAS | Full ADAS | Full ADAS |
สิ่งที่ (เกือบ) จะไม่แตกต่างสำหรับรถในคลาสนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร ในทุกๆ คัน ล้วนจัดเต็มอุปกรณ์เพื่อสร้างอรรถรส เติมความผ่อนคลายให้กับทุกการโดยสาร ซึ่งความแตกต่างในภาพรวม อยู่ที่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แต่ละรุ่นใส่เข้าไปเพื่อดึงความสนใจจากลุกค้าที่ลงลึกในรายละเอียด เช่น MG Maxus 9 ในรุ่น V ที่ออกแบบเบาะแถวมที่ 2 ให้สามารถเลื่อนเดินหน้า ถอยหลัง และเลื่อนซ้าย – ขวา เข้าหากัน หรือเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางเดินเข้าสู่เบาะแถวที่ 3 ได้ เช่นเดียวกับที่ฝั่ง BYD Denza D9 ที่มีหน้าจอแยกเฉพาะสำหรับผู้โดยสารในแต่ละตำแหน่ง รองรับความบันเทิงแบบส่วนตัวอย่างเต็มรูปแบบ แต่หากครอบครัวใหญ่ที่ต้องการที่นั่งจำนวนมาก โดยไม่ซีเรียสเรื่อง “ความป๋า” มากเหมือนคู่แข่ง ทางเลือกเดียวในรถกลุ่มที่นำมาเปรียบเทียบ แน่นอนว่าต้องเป็น Kia Carnival โดยหากสังเกตถึงความใส่ใจ คือ แม้ว่าจะเป็นรถในรูปแบบ 11 ที่นั่ง แต่สำหรับรุ่นท็อปในทริม SXL ยังมาพร้อมระบบความปลอดภัย พร้อมช่วยเหลือการขับขี่อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งช่วยยกระดับของ Kia Carnival ให้ใกล้เคียงกับรถตู้อเนกประสงค์ระดับพรีเมี่ยมเหล่านี้ได้ไม่ยาก
เทียบราคารถตู้ระดับพรีเมี่ยมในประเทศไทย
รายละเอียด | MG Maxus 9 | BYD Denza D9 | Toyota Alphard | Kia Carnival |
ราคา | คาด 2.3-2.5 ล้านบาท | – | 4.019 ล้านบาท | 2.594 ล้านบาท |
สุดท้าย…วนมาที่เรื่องระดับราคาเช่นเดิม สำหรับ MG Maxus 9 ที่มีแววจะเปิดราคาออกมาในระดับ 2.3 – 2.5 ล้านบาท หากเทียบคุณสมบัติ รวมถึงระดับออพชั่นที่ไม่ได้เป็นรอง Toyota Alphard ที่วางระดับราคาไว้ที่ 4.019 ล้านบาท ด้วยส่วนต่างในระดับ 1.5 ล้าน คงพอแยกกลุ่มผู้ใช้ที่เล็งเห็นในเรื่องความคุ้มค่า รวมถึงเทคโนโลยีในการใช้งานได้อีกพอสมควร ซึ่งสุดท้าย…คงต้องรอดูกันว่า เพื่อนร่วมชาติอย่าง BYD Denza D9 จะตอบโต้อย่างไรเมื่อได้เห็น MG เปิดตัวรถตู้ไฟฟ้า แล้วมีกระแสตอบรับที่ออกมาได้น่าสนใจขนาดนี้ สุดท้ายแล้ว…เมื่อความเข้มข้นในการแข่งขันสูงสึ้น คนที่ได้รับประโยชน์โดยตรง คงหนีไม่พ้นผู้ใช้อย่างเราๆ ท่านๆ แน่นอน