Home » “เปรียบเทียบสังขารแบต EV ตัวต่อตัว” อยากรู้มั้ย…ใครไปเร็วกว่าเพื่อน ???

“เปรียบเทียบสังขารแบต EV ตัวต่อตัว” อยากรู้มั้ย…ใครไปเร็วกว่าเพื่อน ???

by Admin clubza.tv

 

Cr ภาพ www.cars2021.com

Cr ภาพ www.bioage.typepad.com

BMW i3  BENZ B Class   MITSU Outlander  NISSAN Leaf  AUDI A3   TOYOTA Prius   TESLA Model X    ใครไปเร็วกว่าเพื่อน ???

 

 ครั้งที่แล้ว ปล้อนได้กล่าวถึงกรณีผู้ใช้ EV ที่แบตเสื่อมเข้าศูนย์ไปขอเปลี่ยนแบต แล้วโดนยื้อยุด ยึกยัก บอกทำนองว่าแบตของตนยังใช้งานได้ดีอยู่ ตอกกลับมาว่าถ้าแบตเสียรถก็ต้องวิ่งไม่ได้ใน EV Mode ซิ อันเป็นการปัดความรับผิดชอบแบบ “ฟลายมาก” !! 

 แน่นอนว่าพวกเราทุกคนที่คิดจะคบกับรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นไฮบริด ไฮบริดเสียบปลั๊ก หรือเสียบปลั๊กอย่างเดียว จะต้องคิดก้องอยู่ในสมองคือเรื่องของแบต วันนี้จะข้ามเรื่องชนิด ประสิทธิภาพ คุณภาพ รุ่นใดวิ่งได้มากกว่าเขาต่อหนึ่งชาร์จไปเลย เพราะแต่ละท่านน่าจะมีพื้นฐานมาถ้วนหน้าแล้ว แต่จะมาพูดถึง “การเสื่อมสลาย” ของมัน ในประเด็นต่างๆ เริ่มจากสาเหตุ การเปรียบเทียบแบตที่ใช้ในรถต่างๆ ว่าแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น มีอัตราการเสื่อมสภาพเร็ว-ช้าเพียงใด ของใครยืนยง มี Life cycle ยาวกว่าพรรคพวก เผื่อท่านใดที่เล็งไว้หลายๆรุ่นจะได้ทราบล่วงหน้า อันจะเป็นประโยชน์วุ่นวายกบาลน้อยลงยามคบกับมัน 

 เฉลี่ยแล้วสูญเสียสังขาร 2.3% ต่อปี(จริงหรือ??) 

    มีการวิจัย วัดค่าเรื่องนี้แล้วหาค่าเฉลี่ยออกมาว่า EV พวกที่มีระยะวิ่งต่อชาร์จประมาณ 240 กิโลเมตร ความสามารถในการเก็บพลังงานของแบตจะลดลงประมาณ 2.3% ต่อปีเมื่อใช้งานอย่างปกติชน(อเมริกัน) ซึ่งเทียบออกมาเป็นระยะทางแล้วหดหายไป 27.2 กิโลเมตร !! แบตรุ่นใดที่มีระบบจัดการเรื่องระดับอุณหภูมิที่ดี มีองค์ประกอบทางเคมีดี จะมีการเสื่อมสภาพน้อยกว่า เกิดขึ้นช้ากว่า นี่คือปัจจัยสำคัญหนึ่ง แต่ก็มีอีกปัจจัยที่สำคัญต่ออายุแบตเช่นกัน มันคือการชาร์จด่วนแบบกระแสตรง พวก DC Fast charge, ความสามารถของแบตในการปล่อยพลังงานสูงในเวลาสั้นๆโดยไม่ไปมีผลต่ออายุใช้งาน (คือมีค่า Power buffer สูง เช่นเป็นแบตที่มีความจุสูง รถคันนั้นมีระบบสำรองไฟฟ้าหรือเชิงกลคุณภาพสูง โดยเฉพาะในรถไฮบริด) ดังนั้นการใช้งาน อายุใช้งานเป็นเพียงปัจจัยสำคัญหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้แบตเสื่อมสลาย ต้องพิจารณาปัจจัยทั้งหลายที่ได้กล่าวมานั้นมาร่วมด้วย 

ลักษณะการเสื่อมสลายของแบต EV 

   การเสื่อมสลายของมันไม่ได้เป็นเส้นตรง ช่วงต้นอายุจะวูบโค้งลดลงเร็ว จากนั้นอัตราการเสื่อมจะลดลง มาวูบอีกทีตอนปลายอายุ  ตามภาพประกอบ จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ว่าระบบจัดการเรื่องอุณหภูมิถือว่ามีส่วนสำคัญทีเดียว บ้านเราเมืองร้อนเน้นที่การระบายความร้อนเป็นหลัก ส่วนบางประเทศต้องจัดการแบบเมืองหนาวด้วย เพราะถ้าอุณหภูมิต่ำเกินประสิทธิภาพการจ่ายพลังไฟฟ้าจะลดลง และมีผลต่ออายุใช้งานของมันด้วย ซึ่งรถแต่ละรุ่น แต่ละยี้ห้อก็มีระบบควบคุมนี้ต่างไป ใช้ของเหลวบ้าง อากาศบ้าง ลองมาดู TESLA Model S ที่ใช้ของเหลว กับ NISSAN Leaf ที่ใช้อากาศระบายความร้อน TESLA นั้นแบตเสื่อมในอัตรา 2.3% ในขณะที่ NISSAN เสื่อมที่ 4.2% ต่อปี 

 

การวัด เปรียบเทียบการเสื่อมของแบต 

  หน่วยงานที่ทำการทดสอบนี้ก็ไม่ใช่ไก่กา เพราะองค์กรเขาเป็นที่ยอมรับกันในวงการ Security, connecting commercial vehicles, IoT hub,  in-vehicle device  ตั้งอยู่ที่แคนาดา อเมริกา เม็กซิโก อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ออสเตรเลีย จีน ไม่ต้องไปสงสัยมากเรื่องมาตรฐานการศึกษาผล สำหรับเรื่องแบตเตอรี EV นั้นก็ได้มีการเก็บข้อมูลจากฝูงฟลีทและรถที่ใช้งานทั่วไปประมาณ 6,300 ตัวอย่าง จากรถ 21 รุ่น ไล่โรงงานผู้ผลิต ปีที่ผลิต จึงเป็นข้อมูลที่ได้รับการยอมรับ..จึงเรียนมาเพื่อทราบ !!  เราลองมาดูกันว่ารถแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น ที่นำมาทดสอบสภาพแบตผลออกมาอย่างไร

–  แสดงถึง “สุขภาพแบต” จากที่เคยชาร์จเต็ม Full capacity ได้ 100% ในวันแรก ค่อยๆลดลงๆ เหลือไม่ถึง 90% เมื่อย่างเข้าปีที 7 (เป็นค่าเฉลี่ยที่วัดจาก 6,300 ตัวอย่างจากรถ 21 รุ่น คละยี่ห้อ)

– นี่คือค่าเฉลี่ยของสุขภาพแบต ใน BENZ B Class EV ปี 2018 

– ค่าที่วัดจาก BMW i3 ที่ออกมาในปี 2017-2019 ที่กราฟตกลงเร็วเอาการ คือสุขภาพแบตตกมาอยู่ที่ 80% ต้นๆเท่านั้น เป็นเพราะอะไรไม่ทราบเหมือนกัน 

–  เมื่อนำ MITSUBISHI Outlander PHEV ปี 2018 มาวัด ผ่านไปแค่ประมาณ 1 ปี 8 เดือน สุขภาพแบตเหลือประมาณ 86-88% เท่าที่ดูด้วยตา 

–  นี่คือ NISSAN Leaf ไม่รู้ปีไหนแน่ เพราะตัวเลขในช่องให้เลือกเป็น 2016 แต่ตัวกำกับใต้กราฟเป็น 2015 อย่างไรก็ตามสุขภาพแบตเหลือประมาณ 80% ต้นๆ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 4 ปี 8 เดือน 

–  TESLA Model X ปี 2016 พบว่าสุขภาพช่วงต้นสูงกว่าค่าเฉลี่ย มาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงอายุ 2 ปีต้นๆ คือเหลือประมาณ 90% ต้นๆ เมื่อใช้งานไปประมาณ 3 ปี 2 เดือน  

– ถึงครา TOYOTA Prius Prime ปี 2017 ใช้งานมาประมาณ 2 ปี 8 เดือน สุขภาพแบตยังสูงกว่าค่าเฉลี่ย คืออยู่ประมาณ 97% 

–  AUDI A3 Sportback e-Tron ปี 2017 ใช้มาประมาณ 2 ปี 8 เดือน สุขภาพแบตยังแทบไม่ลดลงเลย…Amazing 4 ห่วง !! 

–  ยำรวมรถปี 2018 เท่าที่ดูด้วยสายตา MITSUBISHI Outlander PHEV สุขภาพตกมากสุด นอกนั้นดูไม่ชัดไม่กล้าฟันธง   

 อย่างนี้ถ้ากลับมาที่มาตรฐานการรับประกันแบต ดังที่ผู้ผลิตรถขายต่างประเทศปัจจุบันกำหนดไว้ที่ระดับการชาร์จเข้าประมาณ 70-80% (แล้วแต่ยี่ห้อ) เทียบกับ 100% Full capacity เมื่อเป็นรถใหม่ ก็ถือว่ามีทั้งน่าลุ้น(ว่าแบตจะยืนยงได้ถึง 10 ปีหรือไม่) และแบบ “ไม่ต้องลุ้น” คือมรึงต้องเปลี่ยนให้ลูกค้าค่อนข้างแน่  เช่นถ้าเอาเกณฑ์ 80% เป็นตัวกำหนด BMW i3, NISSAN Leaf 2015, MITSUBISHI Outlander 2018 น่าจะไม่รอดการเคลมแบตให้ลูกค้า(เท่าที่ดูตามกราฟ)

  เป็นที่น่าเสียดายที่การศึกษาวัดผลเปรียบเทียบนี้ มี Timespan ไม่ถึง 10 ปี ทำให้ไม่สามารถคาดเดาว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นหลังจากปีที่ 7 หรือไม่ แต่จากพฤติกรรมการเสื่อมของแบต EV ที่จัตกลงค่อนข้างเร็วช่วงต้นอายุ มาตกลงอัตราปานกลางช่วงระยะกลาง และจะมาตกวูบอย่างรวดเร็วอีกทีตอนปลายอายุขัย…เป็นเรื่องน่าลุ้นเอาการว่าถ้าใช้เงื่อนไขอายุแบต 10 ปี ชาร์จเข้าไม่ต่ำกว่า 80% เทียบกับ Full capacity จะมีผู้ผลิตรถรายใดต้องรับเคลม EV Battery บ้าง  ทั้งนี้ต้องรอดูกัน….. ขอให้ใช้ EV อย่างมีความสุขนะคร๊าบ จาก “ปล้อน” 

 

Cr ภาพ www.easydrawingguides.com

 


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy