Home » รถ EV 15 ล้านคัน !!! กับการเปลี่ยนแปลง 14 ปี ในไทย…เป็นไปได้ จริงหรือมั่ว ?

รถ EV 15 ล้านคัน !!! กับการเปลี่ยนแปลง 14 ปี ในไทย…เป็นไปได้ จริงหรือมั่ว ?

by Admin clubza.tv

ตลาด xEV (รถที่มีแบตเตอรี่และมอเตอร์ขับเคลื่อนทุกรูปแบบ เช่น Hybrid, Plug in Hybrid และ EV) รวมทุกประเภทของไทยรวมทั้งปี 2020 ทำได้ 30,705 คัน โตขึ้น 12.8% คาดว่าปี 2021 จะโตขึ้นอีก  69-79%  คือ น่าจะทำได้ประมาณ 52,000-55,000 คัน แยกเป็น HEV (Hybrid Electric Vehicle) และ PHEV (Plug-in Hybrid Vehicle) ประมาณ 48,000 คัน เป็น Full Electric ประมาณ 4,000-5,000 คัน

** มีการพยากรณ์ว่ายอดขาย EV อีก 10 ปีข้างหน้า น่าจะโตเป็นครึ่งหนึ่งของยอดการขายรถรวมทั้งตลาด **

** ตัวเลขขาย 30,705 คัน ของปี 2020 ถือว่าน้อยมาก เพราะเมื่อเทียบกับยอดขายรถรวมแล้ว ถือว่าอยู่ในอัตราส่วน 3.9% เท่านั้น **

มาตรการที่เหมือน…ต่างคน ต่างทำ

สำหรับมาตรการ นโยบาย แผนงาน และการผลักดันสนับสนุนอย่างป็นรูปธรรมของภาครัฐบ้านเรานั้น ยังดูสะเปะสะปะ เหมือนต่างคนต่างทำ มีการออกข่าวทั้งจากกรมสรรพสามิต สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) วนเวียนอยู่ประเด็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การลดภาษีสรรพาสามิต โครงสร้างภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ภาษีจากการปล่อย CO2 ยกเว้น อากรการนำเข้าพวกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และทำให้ผู้บริโภคหาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง

โครงการรถเก่าแลกรถใหม่

ช่วงต้นปี 2021 ก็ได้มีกระแส “โครงการรถเก่าแลกรถใหม่” ทำนอง “ลด แลก แจก” ขาดก็แต่แถม โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นต้นคิด เพื่อกระตุ้นการขายรถยนต์ไฟฟ้า ลดปริมาณรถเก่า ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าไว้ที่ 100,000 คัน ไปทำนองเดียวกับมาตรการ “แจก” ทั้งหลายที่ภาครัฐออกต่อเนื่องมาถึงขณะนี้ ทีมลงนขับซ่านำมาแยกประเภทได้ดังนี้

  • ลด : รัฐขอความร่วมมือค่ายรถ ให้มีส่วนลด 2% ช่วยค่ากำจัดซาก 1% ของราคารถใหม่ที่ขาย
  • แลก : เราสามารถนำรถเก่า อายุ 10-12 ปีขึ้นไป เข้ามาแลกรถยนต์ไฟฟ้าได้
  • แจก : จ่ายเงินภาษีคืนให้ผู้ซื้อจำนวน 100,000 บาท ขอเพียงพี่น้องซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นไฮบริด, ปลั๊กอินไฮบริด หรือ ไฟฟ้าเต็มตัว สามารถนำไปหักภาษีเงินได้ส่วนบุคคล โดยสามารถหักลดหย่อนได้ 3% ของราคารถใหม่ (สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท !!) อยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราหักลดหย่อนกับกระทรวงการคลัง

** มีข้อแม้แค่รถยนต์ไฟฟ้าที่เราคิดจะซื้อนั้น ต้อง “ผลิตในประเทศ” ที่น่าติดตาม คือ ค่ายรถยนต์ทั้งหลายที่ผลิตรถเครื่องสันดาปภายใน พยายามจะไหลเข้าไปในกระแสกับเขาด้วย โดยอ้างว่ารถของตนก็ลดมลภาวะ เป็นอีโคคาร์ขนาดเล็ก ประหยัดเชื้อเพลิง  ต้องคอยดูว่ามติที่เคาะออกมา…จะรวมรถพวกนี้หรือไม่ **

ev

สิ่งที่ภาครัฐ “ลด”

  • คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเหลือร้อยละ 0 เป็นเวลา 3 ปี โดยให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังลดอัตราภาษี EV ลงเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2565
  • ภาครัฐผลักดันวงการรถพลังไฟฟ้าเข้าสู่ยุค EV2 ตามแผนที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้วางโร๊ดแม็ปไว้ โดยมีการปรับบางรายละเอียด เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษ ภายใต้ข้อแม้ว่าต้องพัฒนาสู่ Eco EV ภายในเวลาที่กำหนด เช่น ถ้าลดภาษีให้จาก 7% เหลือ 2% หรือลดจาก 10% เหลือ 5% เมื่อครบ 3 ปี ต้องผลิตให้ได้ตามเงื่อนไข หากทำไม่ได้จะถูกเรียกเก็บภาษีคืน เป็นการทำคู่ไปด้วยกัน ระหว่างแผนสนับสนุนของกรมสรรพสามิต ที่ทำขนานไปกับ BOI มีการวางไทม์ไลน์ไว้ให้เริ่มจากพวก Mild Hybrid และ  Eco EV ก่อนลงทุนไปสู่การผลิต EV แท้ๆ (ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีรถยนต์ EV ทั่วไปจะอยู่ที่ 8% แต่ถ้าได้รับส่งเสริม BOI จะอยู่ที่ 2%)  ออกมาหลายมาตรการหน่อย เพราะดันไปตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องผลิตรถพลังไฟฟ้าให้ได้ถึง 1.2 ล้านคัน ในปี 2036 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า !!

ล่าสุด 24 มีนาคม 2021 มีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เสนอ “ประเทศไทย ยกเลิกขาย ยานยนต์ เครื่องยนต์ ภายในปี 2035″ หลังจากที่ได้มีการประชุมและพิจารณา การกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้ง มาตรการระยะเร่งด่วนขับเคลื่อนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ดังนี้

  • วิสัยทัศน์ : ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก
  • เป้าหมาย : ภายในปี ค.ศ. 2035 : ผู้ขับขี่ยานยนต์สามารถจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ ได้เฉพาะยานยนต์ไร้มลพิษ ZEV 100% (Engine Ban หรือ ยกเลิกการใช้เครื่องยนต์สันดาปทั้งหมด)

โดยมีมาตรการเร่งด่วนดังนี้

  1. มาตรการกระตุ้น การใช้รถ สองล้อ สาม ล้อ และสี่ล้อไฟฟ้า
  2. มาตรฐาน และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ – แผนพลังงาน และการจัดตั้งสถานีอัดประจุ สาหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์
  3. จัดให้มีโครงการเช่ารถเมล์ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 2,511 คัน

 

ส่วนมาตรการในระยะ 1-5 ปี มีดังต่อไปนี้

1.ปรับโครงสร้างภาษี อาทิ ภาษีสรรพสามิต (เริ่มพ.ศ. 2569 หรือ ค.ศ.2026) และ ภาษีรถยนต์ประจำปี ตามหลักสากล

“รถยิ่งเก่า ยิ่งต้องจ่ายแพง”

  1. มีการบริหารจัดการซาก รถยนต์ แบตเตอรี่ และ Solar Cell ใช้แล้ว
  2. สร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Eco System) เพื่อส่งเสริมการใช้ ZEV
  3. จัดให้การพัฒนาบุคลากร เป็นต้น

นี่คือ สิ่งที่ออกมาล่าสุด

ภาพรวม EV ไทย Vs. อาเซี่ยน

สำหรับประเทศย่านอาเซี่ยน สิงค์โปร์นั้น…เล่นคนละลีคกับชาติอื่นแล้ว มีการร่วมลงทุนจำนวนมากกับจีน ตั้งบริษัทผลิต EV เต็มตัว ทั้งๆ ที่ประเทศตัวเอง ไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมผลิต EV เลย ตามมา (ห่างๆ) คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย โดย…อินโดนีเซีย แม้จะเป็นตลาดใหญ่สำหรับรถยนต์ แต่สำหรับ EV แล้ว ถือว่าเพิ่งเริ่มต้น การจะเอา EV เข้าแทรกตลาดโดยหวังประหยัดพลังงาน ลดการใช้น้ำมัน เห็นจะไม่ง่ายเพราะเป็นแหล่งผลิตน้ำมันประเทศหนึ่ง ยอดขาย EV ปี 2019 ทำได้ 24 คัน เท่านั้น (สูงกว่าปี 2018 ถึง 1 คัน !) ตลาด EV เกือบทั้งหมดเป็นมอเตอร์ไซค์สองล้อ  รัฐบาลพยายามแนะนำ ให้นำ EV มาวิ่งเป็นแท๊กซี่และรถบัส อย่างไรก็ดี ค่ายจีน BYD และ TESLA ก็อยากจะเข้าเจาะตลาดนี้ โดยส่ง BYD e6 และ TESLA X 75 D เป็นหัวหอก ข้อมูลปี 2019 บอกว่าอินโดนีเซียมีสถานีชาร์จเพียง 20 แห่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิต EV ให้ได้ 25% ของการผลิตรถของประเทศภายในปี 2025 ข้อมูลที่สำคัญ คือ การมีแร่ Cobalt, Zinc และ Manganese ที่เป็นองค์ประกอบหลักแบตสำหรับ EV จำนวนมาก คือ จุดแข็งของอินโดนีเซียในการผลิต EV นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ลดภาษีสำหรับรถที่ปล่อยมลพิษต่ำ และวางแผนในการค่อยๆ เพิ่มการนำ EV ไปใช้ในภาครัฐ เร่งการสร้างสถานีชาร์จเพิ่ม 150 แห่ งในปี 2021 และอย่างน้อยต้องมี 1,500 แห่ง ในปี 2024

** Hyundai Motors กำลังศึกษาของมูลตั้งโรงงานผลิต “Asean-specific EV” ที่อินโดนีเซีย **

Electric vehicle

electric vehicle parking

EV ในไทย…จะไปได้ไกล (เร็ว) แค่ไหน ?

ไทยนั้นตั้งเป้าผลิต EV ให้ได้ 30% ของจำนวนผลิตรถทั้งหมดในปี 2030 ส่วนอินโดนีเซียตั้งไว้ 25% ในปี 2025 อุปสรรคของการผลิต การนำมาใช้ต่างก็เจอเหมือนๆ กัน คือ ต้นทุนแบต โดรงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟ  อุปสรรคหลักของประเทศย่านดังที่กล่าว ทำให้มีการทบทวนทิศทางการเข้าสู่ Full Electric Vehicle เลย หรือควรไต่ระดับจากรถไฮบริด, ปลั๊กอินไฮบริด ไปก่อน อย่าข้ามพรวดไปไฟฟ้าเต็มตัวเหมือนแถวยุโรป ซึ่งพร้อมทั้งงบสนับสนุน โครงสร้างพื้นฐาน มากกว่าพวกเราหลายช่วงตัว

ยังมีปัจจัยปลีกย่อยของแต่ละประเทศย่านนี้ที่แตกต่างกัน มาเลเซียราคาน้ำมันถูกกว่าค่าไฟฟ้ามาก การจูงใจให้คนหันมาใช้ EV เป็นงานที่ไม่ง่าย ในแง่การเงินถือว่าระยะคืนทุนยาว ต้องอัดฉีดจูงใจมากมาย ส่วนเวียดนามนั้น…มีมอเตอร์ไซค์ราวฝูงแมลง ก็ต้องจัดความสำคัญว่าจะมุ่งไปที่รถหรือมอเตอร์ไซค์พลังไฟฟ้าก่อนกัน สัดส่วนควรเป็นเท่าใด ไทยเราเป็นพี่ใหญ่ด้านฐานผลิตรถยนต์ก็จริง แต่เป็นรถเครื่องยนต์สันดาปภายในครองอยู่ การจะปรับมาเป็นผลิต EV ต้องปรับปรุง ลงทุนเท่าใด เพราะต้องมีโรงงานผลิตแบตฯ อินเวิร์ตเตอร์ มอเตอร์ ด้วย จึงจะสมบูรณ์แบบ ซึ่งการจะเปลี่ยนรูปแบบอุตสาหกรรมของผู้ผลิตในบ้านเราแบบชุดใหญ่…ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ในชั่วข้ามปีอย่างแน่นอน !

โปรดติดตามตอนต่อไป ทิศทางรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV in my Opinion เกิดได้เร็วขนาดไหน…ในมุมมองของ #ทีมขับซ่า

Electric car

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก The ASEAN Post

………………………………………………………………………………..


ข่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา ยอมรับ เรียนรู้เพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy